8 พฤศจิกายน 2022

ส่วนผสมที่ลงตัว ระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่

และวิถีการทำนาแบบดั้งเดิม

โดย คุณพฤฒิพงษ์ เชิดเกียรติกุล
[email protected]

 

ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าว อันดับต้นๆของโลก (และอันที่จริง ในอดีต เคยเป็นอันดับหนึ่งมายาวนานหลายปี) แต่ถ้าพิจารณาจากผลผลิตต่อไร่ (หรือ หน่วยวัดสากล เมตริกตัน ต่อเฮคเตอร์) ตามตาราง จะเห็นว่า ประเทศไทย มีผลผลิตต่อไร่ ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งเช่น เวียตนาม และอินเดีย อย่างมาก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าว ของไทย พลอยสูงกว่าคู่แข่งไปด้วย

 

สาเหตุหลักๆ ที่ผลผลิตต่อไร่ของไทย ต่ำมากเช่นนี้
(อ้างอิงจากบทวิเคราะห์ ของสถาบันของไทย และต่างประเทศ) เนื่องจาก:

 ชาวนาไทย ครอบครองพื้นที่นา ขนาดเล็กมาก และในหลายกรณี ไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ได้เพียงแค่รับจ้างทำนา ในขณะที่ ประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างประเทศพัฒนาแล้ว ชาวนาครอบครองพื้นที่ขนาดใหญ่หลายร้อย หลายพันไร่ ใช้ระบบการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม (Plantation)

ต่อเนื่องจากประเด็นข้างต้น การทำนาในประเทศไทย จึงยังคงใช้ระบบแรงงาน ผสานกับอุปกรณ์การเกษตรขนาดเล็ก ไม่สามารถลงทุนเครื่องจักรการเกษตรขนาดใหญ่ได้

การทำนาในประเทศไทย ยังต้องพึ่งพาธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ ถึงแม้ว่าจะมีระบบการชลประทาน ก็ยังไม่เพียงพอ สังเกตุได้ว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ยังต้องทำนาปี คือทำนาได้ปีละหน ในขณะที่ประเทศคู่แข่ง สามารถทำนาได้ปีละหลายรอบ

ในแง่ซัพพลายเชนส์ พ่อค้าคนกลาง และโรงสี ยังกุมอำนาจต่อรอง ชาวนารายย่อย ไม่ค่อยมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ ส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน อยู่ในวงจรหนี้สิน

 

ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่าง “นาเฮียใช้ จังหวัดสุพรรณบุรี” ซึ่งพัฒนาระบบการทำนา ที่สามารถประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่ ผสานกับวิถีการทำนาแบบดั้งเดิม ได้อย่างเหมาะสมลงตัว ช่วยเพิ่มประสิทธภาพการผลิต ลดต้นทุน ภายใต้งบประมาณที่ไม่สูงจนเกินไป เหมาะกับระบบนาแปลงย่อย แบบประเทศไทย

ขอให้พิจารณาภาพประกอบ (ให้ภาพเล่าเรื่อง) “นาเฮียใช้” มีการเลือกเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้ ในขั้นตอนสำคัญ เช่นการเพาะต้นกล้า, ระบบการชลประทาน, ระบบการสีข้าว, การบรรจุภัณฑ์

ในขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนา และอนุรักษ์วิธีการดั้งเดิม ได้แก่ การทำเกษตร ไร่นาสวนผสม, การกสิกรรม ขนาดเล็ก, การทำปุ๋ยหมัก เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่ครบวงจร พึ่งพาตนเองได้ และในปัจจุบัน นาเฮียใช้ ได้เป็นศูนย์การเรียนรู้ วิถีชีวิตชาวนาไทย อีกด้วย

อย่างไรก็แล้วแต่ การที่จะนำผลสำเร็จของ “นาเฮียใช้” ไปขยายผลในทางปฎิบัติ ชาวนารายย่อย จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน ในด้านต่างๆ อาทิเช่น

นโยบายทางการเกษตร ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพันธ์ข้าว และการจัดสรรทรัพยากรน้ำ ในระยะกลาง และระยะยาวที่ยั่งยืนและชัดเจน

การเสริมสร้างความเข้มแข็ง, ประสิทธภาพ, และความโปร่งใส ของระบบสหกรณ์ชาวนา กล่าวคือในระบบนาแปลงย่อยแบบเมืองไทย ระบบสหกรณ์จะช่วยสร้าง Economy of scale ให้การลงทุนต่างๆทำได้ง่ายขึ้น

วางระบบการศึกษา ให้ลูกหลานชาวนา ได้มีความรู้ในการเกษตร และมีแรงจูงใจ ในการกลับไปประกอบอาชีพทำนา ต่อจากพ่อแม่ แทนที่จะมุ่งสู่การเป็นลูกจ้าง

ภาครัฐ และภาคเอกชน ต้องช่วยสร้างสมดุลย์ในซัพพลายเชนส์ ให้กลุ่มชาวนา ในฐานะผู้ผลิต ได้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น

 

 

บทสรุป

ถึงแม้ว่าไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆของโลก แต่ประสิทธิภาพในการผลิตต่อไร่ ยังต่ำมาก และต้นทุนการผลิต มีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศคู่แข่ง มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนาพันธ์ข้าวใหม่ๆ อย่างเป็นระบบ

ดังนั้น ชาวนา ในฐานะผู้ผลิต จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน อย่างเป็นระบบ และ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ

 

 

ข้อมูลอ้างอิง:
– Shanlax International Journal of Economics, March 2019
– Science News, Cornell University
– Research Café
ขอขอบคุณ: นาเฮียใช้ จังหวัดสุพรรณบุรี

 

 

ค้นหาหลักสูตร Capability Development Program
เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรขององค์กรในทุกมิติ คลิก




Writer

โดย พฤฒิพงษ์ เชิดเกียรติกุล

Executive Coach & Consultant /Experienced Regional Supply Chain GM /Board of Directors