4 พฤศจิกายน 2022

แกะรอยความเป็นเลิศ

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
[email protected]

 

รางวัลคุณภาพแห่งชาติหรือ Thailand Quality Award มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการแสวงหาองค์กรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จจากการบริหารจัดการเพื่อเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศหรือ Best Practices นำมาช่วยยกระดับองค์กรอื่นๆ ให้ภาพรวมของประเทศมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ใช้เกณฑ์รางวัลนี้จากต้นแบบ Malcolm Baldrige National Quality Award สหรัฐอเมริกา

การเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศหรือ Best Practices เป็นการถอดองค์ความรู้โดยใช้วิธีการงานวิจัยเชิงคุณภาพ จึงมีความซับซ้อนและใช้เวลามากกว่าการถอดองค์ความรู้ทั่วไป แต่ประโยชน์ที่ได้รับนับว่าคุ้มค่า

จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการทำงานวิจัย Best Practices  ขององค์กรที่ได้รับรางวัลมาตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งรางวัลนี้ เป็นเรื่องจริงที่น่าประหลาดใจว่าไม่เคยมีองค์กรใดเลยที่สามารถตอบได้ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น Best Practices  ขององค์กรคืออะไร

ทั้งนี้เพราะวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศนั้นคือการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเนียนเข้ากับเนื้องานประจำวันจากรุ่นสู่รุ่นบนเส้นทางการเติบโตขององค์กรจนทำให้หลงลืมไปว่าอะไรคือกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จ

คุณลักษณะที่สำคัญของ Best Practices  ประกอบด้วย หนึ่ง ความเป็นระบบ (Systematic) สอง การบูรณาการ (Integrate) สาม มีความเชื่อมโยง (Linkage) และสี่ มีวงจรการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Improvement cycle) จึงเห็นได้ว่าเมื่อคุณลักษณะเหล่านี้เนียนเข้าไปในเนื้องานทุกส่วนขององค์กรแล้ว จึงยากที่จะมองเห็น

การแกะรอยความเป็นเลิศจึงจำเป็นต้องสืบค้นไปที่จุดตั้งต้นขององค์กรเพื่อลำดับเส้นทางคุณภาพหรือ Quality Roadmap เป็นตัวช่วยให้วิเคราะห์ Best Practices  ได้ง่ายขึ้น

การศึกษาวิจัย Best Practices  นอกจากทักษะในการถอดองค์ความรู้แล้ว ยังต้องมีความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือการบริหารจัดการในวิธีปฏิบัตินั้นๆ เพื่อใช้เป็นกรอบในการสัมภาษณ์ดึงข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์หาวิธีปฏิบัติด้วย เพราะองค์ประกอบที่จะบ่งชี้ว่าวิธีปฏิบัติใดที่เป็น Best Practices  ก็คือ หนึ่ง ต้องเชื่อมโยงกับผลสำเร็จขององค์กรอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือการบรรลุถึงวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร สอง ต้องมีความเป็นกระบวนการ นั่นคือมีที่มาที่ไป มีการปฏิบัติ วัดผล ปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง และสาม มีผลลัพธ์ความสำเร็จในทุกขั้นตอนของกระบวนการนั้น

กรอบที่ใช้ในการศึกษาที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นองค์กรที่ได้รับรางวัลในโครงการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จึงใช้เกณฑ์ของของรางวัลนี้ในการศึกษาซึ่งประกอบด้วยหมวดต่างๆ ในการบริหารจัดการ 7 หมวดซึ่งจะไม่กล่าวในที่นี้ ผู้สนใจเข้าไปศึกษาได้จาก https://www.tqa.or.th ซึ่งองค์กรที่ได้รับรางวัลแต่ละองค์กรไม่ได้หมายความว่าจะมี Best Practices  ในทุกหมวดการดำเนินการ แต่ขณะเดียวกันวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศนั้นจะเห็นความเชื่อมโยงไปอยู่ในทุกหมวด นั่นคือความท้าทายในการแกะรอยความเป็นเลิศ

การบ่งชี้ Best Practices

จะทำให้องค์กรก้าวต่อไปในทิศทางที่สร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า
องค์กรที่ประสบความสำเร็จมีโอกาสหลงทิศได้หากไม่เข้าใจในตัวตน และที่มาของความสำเร็จอย่างชัดเจน
เพราะกระแสการเปลี่ยนแปลงมักจะพัดพาองค์กรไปตามแรงผลักดัน ทำให้มีโอกาสก้าวพลาดได้เสมอ

 

นอกจากองค์ความรู้ที่จะได้จาก Best Practices  แล้ว การวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ (Key of Successes) ของวิธีปฏิบัตินั้นก็เป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่สำคัญ เพราะนั่นคือกลไกที่ทำให้วิธีปฏิบัตินั้นประสบความสำเร็จ ดังคำที่ว่า “มีสิ่งนั้นจึงมีสิ่งนี้” นั่นเอง

เพื่อให้เข้าใจง่ายสำหรับการถอดองค์ความรู้จาก Best Practices  หรือการแกะรอยความเป็นเลิศจะทยอยเขียนเป็นตอนๆ เพราะมีวิธีการที่ซับซ้อน ในแต่ละขั้นตอนมีต้วอย่างวิธีปฏิบัติจากประสบการณ์การศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งล้วนมีคุณค่าแก่การเรียนรู้ร่วมกัน

 

Infographic

 

 

แนะนำหลักสูตร
Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้)
👉 คลิก

 

 

ค้นหาหลักสูตรด้าน นโยบายและการวางแผนกลยุทธ์

คลิก




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น