7 ตุลาคม 2022

มองแก่นอย่างหลงกิ่ง

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
[email protected]

 

ปัญหาหนึ่งของการถอดองค์ความรู้ที่พบอยู่เสมอก็คือมีความรู้มากมายกองอยู่ตรงหน้า จนไม่รู้ว่าจะเริ่มจากจุดไหน
เกิดอาการที่เรียกว่า “ยืนงงในดงข้อมูล” ขึ้นมาทันที

ในกระบวนการถอดองค์ความรู้ที่เคยได้กล่าวไว้ในบทความ “ความรู้อยู่หนใด” ว่าจุดเริ่มต้นของการบ่งชี้ความรู้นั้นมีความสำคัญอย่างไร คือต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะนำความรู้นั้นไปใช้ ซึ่งอาจยิ่งวิเคราะห์ความจำเป็นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเห็นว่าองค์ความรู้สำคัญมีมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนการเก็บสมบัติล้ำค่าเก็บไปเก็บมาทุกอย่างก็ดูล้ำค่าไปหมด

ในกรณีที่สามารถบ่งชี้ความรู้ได้อย่างมากมายนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เป็นความยากในการเริ่มต้นการถอดองค์ความรู้ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะไปใช้เวลาสิ้นเปลืองกับการถอดองค์ความรู้ที่ไม่สำคัญ เพราะมี KPI จับจ้องอยู่ ทำให้องค์ความรู้นั้นเมื่อถอดออกมาแล้วไม่สมศักดิ์ศรีคือไม่ได้มีผลต่อความสำเร็จของงานแต่อย่างใด

ดังนั้นการบ่งชี้ความรู้จึงมองเป้าหมายสำคัญของการจัดการความรู้นั่นตรงที่ความสำเร็จของงาน ในกองความรู้ที่อยู่ตรงหน้าให้พิจารณาที่ละชิ้นว่าองค์ความรู้ใดมีผลต่อความสำเร็จมากที่สุด แล้วจัดลำดับความสำคัญจะช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้น เพราะความรู้สำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของงานทุกประเภทไม่ใช่ความรู้ที่มีทฤษฎี หรือคู่มือการทำงานเท่านั้น แต่มีทักษะและประสบการณ์หลอมรวมอยู่อย่างมีนัยสำคัญ ที่ควรค่าแก่การถ่ายทอดออกมาให้ได้เรียนรู้

การวิเคราะห์ความรู้หลักหรือ Key Knowledge ในแต่ละงานจึงควรเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ในองค์กรที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยให้คนทำงานทุกระดับทำงานด้วยการใช้ความรู้

Work instruction เป็นตัวช่วยในการเริ่มต้นค้นหา Key Knowledge ในงานแต่ละงานได้ ในกรณีที่บางงานไม่มี Work instruction โดยเฉพาะงานบริหารจัดการของผู้บริหารก็ต้องตั้งคำถามว่าในความรับผิดชอบของผู้บริหารท่านนั้น ความสำเร็จคืออะไร ต้องมีองค์ความรู้อะไรบ้างที่ทำให้เกิดความสำเร็จนั้น เช่นเดียวกันในการพิจารณา Work instruction  ก็ต้องพิจารณาว่าขั้นตอนใดที่มีผลต่อความสำเร็จในงานนั้นมากที่สุด แล้วจึงระบุว่าต้องใช้องค์ความรู้และทักษะประสบการณ์อะไรบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น งานขายหรือ Sale ความสำเร็จอยู่ที่สามารถขายผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นให้กับลูกค้าได้ และถ้าสามารถทำให้ลูกค้าเกิด Loyalty ซื้อซ้ำ บอกต่อ นั่นคือความสำเร็จอย่างสูงสุด แน่นอนว่าพนักงานขายทุกคนต้องได้รับองค์ความรู้ภาคทฤษฎีชุดหนึ่งก่อนปฏิบัติงานแต่การถ่ายทอดประสบการณ์จากพนักงานอาวุโสเป็นความรู้ที่มีคุณค่ามากว่า และนำไปใช้ได้จริง ช่วยต่อยอดความสำเร็จให้กับทีมงานขายได้ ส่วนขั้นตอนอื่นๆ เป็นการจัดเตรียมเอกสาร แม้ว่าจะมีความสำคัญแต่ไม่ถือว่าเป็น Critical Factor หรือจุดสำคัญของงาน เป็นต้น

Key Knowledge เสมือน “แก่น” ของงาน ซึ่งถ้าทำความเข้าใจได้อย่างชัดเจนจะทำให้การต่อยอดพัฒนางานทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการทุ่มเททรัพยากรลงไปอย่างตรงจุด มองเห็นเป้าหมายอยู่ข้างหน้า สามารถตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออกไปบ้าง เพื่อลดต้นทุน ลดแรงงานที่ไม่จำเป็น

“แก่น” เป็นสิ่งที่อาจจะมองไม่เห็นด้วยการกวาดตาครั้งแรก แต่ถ้ามัวไปสนใจแต่ “กิ่ง” ที่ชี้นำไปสู่ทิศทางที่ไม่ใช่ ความสำเร็จจึงยังห่างไกลไปทุกที การถอดองค์ความรู้ที่ไม่ใช่ Key Knowledge ก็เช่นกัน เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนโดยสิ้นเชิง หากสามารถค้นพบและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็น “แก่น” ออกมาได้ จะพบคุณค่าเหมือนประกายเพชรที่ส่องประกายแจ่มจรัสให้กับองค์กรเลยทีเดียว

 

Infographic

 

 

แนะนำหลักสูตร
Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้)
👉 คลิก

 

 

ค้นหาหลักสูตรด้าน นโยบายและการวางแผนกลยุทธ์

คลิก




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น