9 กันยายน 2022

Quiet Quitting

กระแสใหม่ในสังคมการทำงาน

โดย คุณอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการ สลิงชอท กรุ๊ป

 

เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ใช้ Tiktok ชื่อ Zaiad Khan ได้โพสต์วิดีโอคลิปหนึ่งซึ่งกลายเป็นไวรัลภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เขาพูดถึงแนวโน้มใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมคนทำงาน เรียกว่า “Quiet Quitting” (การหยุดแบบเงียบๆ)

Zaiad เริ่มต้นคลิปด้วยการเล่าว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้เรียนรู้คำๆ หนึ่งที่เรียกว่า Quiet Quitting ซึ่งหมายความว่า คุณไม่ได้ลาออกจากงานที่ทำ แต่คุณหยุดความคิดที่จะทำให้มากขึ้น ดีขึ้น เกินกว่าความรับผิดชอบปกติที่ต้องทำ” (You’re not outright quitting your job, but you’re quitting the idea of going above and beyond)

หลังจากนั้น สื่อต่างๆ ก็เริ่มประโคมข่าวนี้ หนังสือพิมพ์ The Guardian พาดหัวตัวโต เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมเรื่อง “Quiet Quitting : Why doing the bare minimum at work has gone global” หลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ก็ตีพิมพ์บทความใหญ่ ในวันที่ 12 สิงหาคมเรื่อง “If your co-workers are ‘Quiet Quitting’, Here’s what that means”

จากผลสำรวจพบว่า 1 ใน 4 หรือ 25% ของพนักงานในสหรัฐอเมริกา ทำงานแบบ Quiet Quitting คือไม่ตั้งใจที่จะทำงานหนักอีกต่อไป ทำเท่าที่ต้องรับผิดชอบ จบงานแล้วเลิกกัน ขอหันไปใช้ชีวิตส่วนตัวแบบมีความสุข ดูแลสุขภาพ และใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับครอบครัว

หลายๆ คนอาจเข้าใจผิดคิดว่าคนที่ Quiet Quitting คือคนแก่หมดไฟ คนรุ่นใหญ่ที่รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มี Passion และไม่มีเป้าหมายในการทำงาน ออกแนว “ถอดใจ”

คุณเข้าใจผิด!

 

Quiet Quitter เป็นใครก็ได้ ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ พวกเขายังคงเป็นคนมีไฟและมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน เพียงแต่ตัดสินใจเลิกที่จะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเวลา สุขภาพ ความสัมพันธ์ และครอบครัว เพื่อการงาน พวกเขายังคงทำงานอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ แต่เฉพาะในงานที่รับผิดชอบและในเวลาที่ต้องทำเท่านั้น

อันที่จริง ความคิดเรื่องการหยุดแบบเงียบๆ นี้ มีมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว หลายคนเชื่อว่าจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ในประเทศจีน ที่เดิมทีเคยมีวัฒนธรรมการทำงานหนัก ทุ่มเทชนิดไม่ลืมหูลืมตา แล้วไม่นานก็เริ่มมีกระแสเรียกร้องให้คนหยุดทำงานแบบบ้าคลั่ง ภายใต้แฮชแท็ก #TangPing ซึ่งแปลว่า “นอนราบ” (หรือถ้าให้เข้ากับบริบทของคนไทยก็น่าจะประมาณ “นอนเอกเขนก”) ระยะหลังๆ กระแสการนอนราบ เริ่มแพร่หลายกระจายไปทั่วเมืองจีน ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ทำให้ผลงาน (Productivity) และความสุข (Satisfaction) ของพนักงานลดลง จนในที่สุดแฮชแท็ก #TangPing ถูกแบน และคำว่า “Tang Ping” ก็ไม่สามารถเสิร์ชหาได้จากเว็บไซต์ Weibo (เสิร์ชเอนจินยักษ์ใหญ่ในเมืองจีน)

ผลของ Quiet Quitting ทำให้ความรู้สึกผูกพันของพนักงานกับองค์กรลดน้อยลง

ผลการสำรวจล่าสุดในปี 2022 ของ Gallup บริษัทวิจัยยักษ์ใหญ่ของโลก พบว่า
21% ของพนักงานเท่านั้น ที่รู้สึกผูกพันกับองค์กร
44% ของพนักงาน รู้สึกมีความเครียดและรู้สึกกดดันมากขึ้น
45% ของพนักงาน คิดว่านี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ควรหางานใหม่

 

อ่านเรื่องนี้แล้ว ไม่ต้องตกใจ ผมว่าเมืองไทยล้ำหน้ากว่าต่างชาติไปเยอะ เมืองจีนเพิ่งมีคำว่า “นอนราบ” ฝรั่งเพิ่งคิดคำว่า “Quiet Quitting” ได้เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง แต่ประเทศไทยเรามีสิ่งนี้มานานมากแล้ว เรียกว่า “เช้าชามเย็นชาม” ครับ … 555

 

เป็นครั้งแรกที่เราล้ำสมัย 😊

 

สนใจหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ คลิก




Writer