เปิดวิธีสร้าง ‘Business Ecosystem’ แบบฉบับเคาน์เตอร์เซอร์วิส
เทรนด์ใหม่ที่ใคร ๆ ก็พูดถึง
ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนอาจได้ยินคำว่า ‘Business Ecosystem’ หรือ ระบบนิเวศทางธุรกิจ อยู่บ่อย ๆ แน่นอนว่าระบบนิเวศที่พูดถึงนี้ มีใจความสำคัญคล้ายกับระบบนิเวศที่เราเคยเรียนกันในชีววิทยา นั่นคือ สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศล้วนแล้วแต่พึ่งพาอาศัย เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างการเจริญเติบโตและการดำรงอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกันกับ Business Ecosystem ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ธุรกิจในปัจจุบันสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด และประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
‘บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด’ องค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2564 เป็นอีกองค์กรที่ริเริ่มนำแนวคิดดังกล่าว เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรวบรวมพันธมิตรเข้ามาในระบบนิเวศ พร้อมนำไปสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งเคาน์เตอร์เซอร์วิสจะมีวิธีคิดและวิธีทำอย่างไร ลองมาเรียนรู้ไปด้วยกัน
Ecosystem = การปรับตัว
เพราะคู่แข่งไม่ใช่แค่คู่แข่ง
ในมุมมองของเคาน์เตอร์เซอร์วิส สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจก้าวต่อไปได้ คือ การปรับตัว จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจนั้นเคาน์เตอร์เซอร์วิส พยายามปรับธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัยและสถานการณ์ความเป็นไปของโลกเสมอ จากเดิมที่พยายามค้นหาหนทางที่จะเอาชนะคู่แข่งเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันเคาน์เตอร์เซอร์วิสกลับมองว่า ‘คู่แข่ง’ อาจไม่ใช่แค่คู่แข่ง หากแต่กำลังจะกลายเป็นพันธมิตรที่มาร่วมด้วยช่วยกันต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้ธุรกิจก้าวไปได้ไกลขึ้น
5 ขั้นตอน สร้าง Business Ecosystem แบบเคาน์เตอร์เซอร์วิส
เคาน์เตอร์เซอร์วิส มักได้รับคำถามอยู่เสมอว่า เขาเริ่มวางแผนสร้าง Business Ecosystem ของตนเองอย่างไร ? คำตอบคือ เคาน์เตอร์เซอร์วิสวางตัวเองเป็น ‘System Integrator’ ในการเลือกผู้เล่น หรือพันธมิตรเข้ามาร่วมดำเนินการและส่งเสริมการพัฒนาด้านต่าง ๆ ภายใต้เป้าหมายใหญ่คือ ‘การตอบสนองความต้องการของลูกค้า’ โดยมีกระบวนการสร้างที่นำหลักการ Work-Process Design และแนวคิด Design Thinking เข้ามาร่วมบูรณาการ แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน
1.ค้นหาความต้องการเพื่อสร้างโอกาส (Empathize)
อันดับแรกคือ การค้นหาความต้องการของลูกค้าที่ยังไม่ถูกตอบสนอง หรือ Unmet Customer Needs เมื่อเราค้นพบแล้ว ก็จะทำให้เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้
2.ร่วมคิด ร่วมสร้าง (Co-Create)
เพราะ Ecosystem ไม่สามารถเกิดได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องอาศัย พันธมิตร หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมือกับเรา เช่น การจับมือกับสถาบันการเงิน และกลุ่ม Startup ต่าง ๆ มาร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการของเคาน์เตอร์เซอร์วิส
3.เลือกเฉพาะสิ่งที่ตอบโจทย์ (Validate)
อย่างในยุคดิจิทัลนี้ จะมุ่งเน้นเรื่อง UI/UX, Customer Experience เป็นสำคัญ ดังนั้น จะต้องมีการพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์ หรือการวางแผนกระบวนการต่าง ๆ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจได้หรือไม่
4.ผู้สร้างต้องวิเคราะห์เป็น (Realize)
ในฐานะ System Integrator เคาน์เตอร์เซอร์วิสมองว่า Business Ecosystem จะมีประสิทธิภาพได้ ก็ต่อเมือเราเลือกผู้เล่นหรือพันธมิตรให้เข้ามาอยู่ในระบบได้อย่างถูกต้อง โดยเน้นเลือกผู้เล่นที่มีความพร้อม พร้อมที่จะทดลองทุกสิ่งอย่าง ทั้งตลาด ลูกค้า กระบวนการ และก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน
5.การนำไปใช้จริง (Go Live)
ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำไปใช้จริง ไม่ว่าจะเป็น Commercial Launch หรือการเกิด New Process Standard และใหญ่ที่สุดคือ การเกิด Ecosystem ที่มีผู้เล่นมาอยู่ในระบบของเรา
นอกจากนี้ เคาน์เตอร์เซอร์วิสยังเน้นย้ำถึงทักษะสำคัญอย่าง ‘Business Collaboration’ ที่เป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะการเดินทางคนเดียว ไม่อาจทำให้ธุรกิจก้าวไปได้ไกลมากพอ การใช้ประโยชน์จาก Business Ecosystem โดยมีพันธมิตรหรือผู้เล่นเข้ามาร่วมเดินทาง ฝ่าฟันอุปสรรค และเติมเต็มศักยภาพในด้านต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ที่มา : TQA Winner Conference 2021 The Excellence of the Future Readiness หัวข้อ TQA Best Practices Sharing: Ecosystem Innovation เพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองตลาด และเป็นผู้นำทางธุรกิจอย่างยั่งยืน