บริหารธุรกิจให้รอด แค่รู้จัก ‘MFCA’
ในยุคที่ธุรกิจต้องเผชิญความกดดันมากมาย ผู้ผลิตหลายรายต้องทนแบกรับต้นทุนอันสูงลิ่ว และมีโอกาสอันน้อยนิดในการสร้างกำไร เมื่อกำไรนั้นได้มายาก หลายธุรกิจจึงเลือกที่จะหาวิธีลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ทว่า จะทำอย่างไรธุรกิจจึงจะสามารถค้นหาวิธีลดต้นทุนการผลิต โดยไม่ทำให้คุณภาพสินค้าหรือผลผลิตถูกลดต่ำลงไปด้วย ควบคู่กับรักษาสมดุลระหว่างผลิตภาพในการดำเนินธุรกิจ และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ตามหลักการ Green Productivity อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปแล้วหากกล่าวถึงการลดต้นทุนหรือลดขั้นตอน หลายคนอาจนึกถึงเครื่องมือ ‘Lean’ เป็นอันดับแรก ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิด แต่ในบทความนี้ เราจะขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจกับอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้เรามองเห็นปริมาณการใช้ทรัพยากร หรือ ต้นทุนต่าง ๆ ที่เราใช้ไปในการผลิต อย่าง ‘Material Flow Cost Accounting’ ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า ‘บัญชีต้นทุนการไหลวัสดุ’
ทำความรู้จักกับ “Material Flow Cost Accounting: MFCA”
Material Flow Cost Accounting: MFCA คือ เครื่องมือที่ช่วยให้เราทราบถึงปริมาณและต้นทุนการใช้วัตถุดิบ รวมถึงค้นหาความสูญเสีย (waste) ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต เมื่อเราสามารถมองเห็นเส้นทางการไหล (flow) ของทรัพยากรที่ใช้ไป รวมถึงมองเห็นข้อบกพร่องต่าง ๆ ก็จะนำไปสู่ความพยายามในการปรับปรุงและยกระดับกระบวนการให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น ในหลาย ๆ ประเทศจึงมีการสนับสนุนการใช้เครื่องมือ MFCA ควบคู่กับ Lean เพื่อให้เกิดผลิตภาพสูงสุดในการผลิต นอกจากจะเป็นตัวช่วยในการลดต้นทุนได้ตามเป้าหมายแล้ว MFCA ยังช่วยให้องค์กรสามารถลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
จากภาพ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ขั้นตอนการนำเข้า Raw Material (RM) ไปจนถึง Finished Goods (FG) จะต้องผ่านขั้นตอนการตัด Stage 1, Stage 2, Painting ไปตามลำดับ โดยแต่ละขั้นตอนจะมีต้นทุน (Cost) ที่ต่างกัน นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า Stage 3 นั้นมีต้นทุนสูงที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องวิเคราะห์กันต่อว่า ต้นทุนที่สูงของ Stage 3 นั้นมีที่มาจากอะไรบ้าง ? โดยส่วนใหญ่มักมาจาก Labour Cost, Energy Cost, Material Cost แตกต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละองค์กร
MFCA = การปอกแอปเปิล
หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว MFCA ไปเกี่ยวอะไรกับแอปเปิล ? เราจะอธิบายให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ว่าหลักการของ MFCA ก็คล้ายกับการที่เราปอกแอปเปิล หากเรามีความชำนาญ มีทักษะ ก็จะสามารถปอกแอปเปิลได้ดี สูญเสียเนื้อที่ติดกับส่วนเปลือกออกไปน้อย และเหลือเนื้อแอปเปิลให้เราได้ทานได้ปริมาณมากขึ้น
เปรียบเทียบได้กับการนำ Raw Material เข้าสู่กระบวนการผลิต แต่ระหว่างทางนั้นเราอาจเกิดความสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ และเหลือวัตถุดิบไปผลิตจริงไม่เท่ากับที่ต้องการ การนำเครื่องมือ MFCA เข้ามาใช้วิเคราะห์การใช้ทรัพยากร จะช่วยให้เราสามารถจำแนก จัดลำดับความสำคัญ และทราบว่าต้นทุนของเราที่สูญเสียไปโดยไม่จำเป็นนั้นเกิดจากจุดใดบ้าง พร้อมค้นหาวิธีแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นตั้งแต่ต้นทาง อาทิ การทำ Lean หรือ Kaizen เป็นต้น
ความยากของการทำ MFCA
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของ MFCA นั้นอยู่ที่การเก็บข้อมูล (Data Collection) เพราะในชีวิตจริงเราไม่สามารถจดจ่อกับกระบวนการทำงานเพื่อเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา ในปัจจุบันจึงได้มีการนำเทคโนโลยี 4.0 เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็น IoT, Data Analytic เพื่อแจ้งเตือนเมื่อเกิดปัญหา เพื่อเป็นอีกทางออกหนึ่งที่ช่วยให้กระบวนการดำเนินงานนั้นมีประสิทธิภาพ
เมื่อเราสามารถจัดการกับปัญหาความสูญเสียที่เกิดขึ้น และวางแผนการใช้ทรัพยากรได้อย่างถูกต้อง องค์กรก็จะสามารถดำเนินงานได้อย่างมีผลิตภาพ ไม่หวาดหวั่นแม้จะต้องพบกับสถานการณ์สุดท้าทายเพียงใดก็ตาม
ที่มา : สัมมนาออนไลน์ คุยสบายบ่ายวันศุกร์กับ Productivity GURU EP.17 “Green Productivity” เทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมไทย ช่วยทั้งเรา – ช่วยทั้งโลก หัวข้อ Make it Green to Sustain Productivity โดย คุณเชษฐพงศ์ สินธารา