27 ธันวาคม 2021

หลุมพรางของการถอดองค์ความรู้

โดย สุรีพันธุ์  เสนานุช
[email protected]

 

“ถอดองค์ความรู้ผู้บริหาร/ ผู้อาวุโส/ ผู้เชี่ยวชาญก่อนเกษียณ” กิจกรรมประจำปีของ KM ที่มีอยู่เกือบทุกองค์กร

คำถามคือ “ท่านได้ความรู้อะไรมาใช้พัฒนาองค์กรบ้างจากกิจกรรมดังกล่าว มีวิธีการวัดผลสำเร็จในกิจกรรมนี้อย่างไร”

ถ้าคำตอบคือ จำนวนผู้บริหาร/ผู้อาวุโส/ผู้เชี่ยวชาญที่ได้ไปทำการถอดบทเรียน ต้องขออภัยที่จะบอกว่ากิจกรรมนี้หลงทางเสียแล้ว

การถอดองค์ความรู้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ตอบโจทย์ขั้นตอนการสร้างและแสวงหาความรู้ในกระบวนการจัดการความรู้ขององค์กร และมีฐานะเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งของการจัดการความรู้ แต่การใช้เครื่องมือชิ้นนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด มีหลุมพรางซ่อนอยู่ในกิจกรรมนี้ที่ควรระวัง เพราะทักษะและประสบการณ์เป็นความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวบุคคล ซึ่งจะปล่อยให้สูญเปล่าไปไม่ได้ เพราะทักษะและประสบการณ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนขององค์กรที่สร้างทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าท่านนั้นขึ้นมาเป็นระยะเวลาหลายปี จึงควรจะเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรต่อไป

แต่คน ๆ หนึ่งมีเรื่องราวที่หลากหลาย ประสบการณ์ที่ผ่านพบในแต่ละช่วงเวลาการทำงานมากมาย องค์กรต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าอะไรคือความรู้ที่มีคุณค่าที่องค์กรต้องการ เพราะทุกประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญที่ท่านผู้นั้นมีอยู่ อาจไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าทั้งหมด

ดังนั้น หลุมพรางด่านแรกของการถอดองค์ความรู้ก็คือ เป้าหมายไม่ใช่จำนวนบุคคลที่ไปถอดองค์ความรู้ และเป็นองค์ความรู้ที่วิเคราะห์แล้วว่ามีคุณค่าสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

“กรุณาเล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา” คำถามนี้ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวที่ตกไปในหลุมพรางของการถอดองค์ความรู้ได้อย่างง่ายดายเช่นกัน

ผู้ที่ได้รับคำถามนี้มักจะถ่ายทอดผลงานที่ตนเองภาคภูมิใจ บางท่านอาจจะระบายความคับข้องใจที่เก็บไว้มานานให้ฟังได้เป็นชั่วโมง ในกรณีเล่าถึงผลงาน ก็จะเป็นผลงานที่ทุกคนได้รับทราบกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้นั้นคือเทคนิคหรือวิธีการปฏิบัติที่ทำให้เกิดผลงานที่ยอดเยี่ยมชิ้นนั้น ซึ่งต้องตั้งคำถามที่เฉพาะเจาะจง ไม่ใช่คำถามที่กว้างจนเกินไป

….

หลุมพรางที่สองก็คือ การคิดว่าผู้รู้ย่อมเข้าใจได้เองว่าจะถ่ายทอดความรู้ของตนอย่างไร จึงคิดว่าหนึ่งคำถามจะได้ครบจบในครั้งเดียว

ขอยกตัวอย่างผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งที่เป็นศาสตราจารย์นักวิชาการด้านเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่สามารถนำเอางานวิจัยไปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพานิชย์ ซึ่งทำให้การป้องกันโรคร้ายแรงทางพันธุกรรมของคนไทยลดระดับลงไปได้อย่างมากเพราะมีเครื่องมือตรวจที่ราคาถูกโรงพยาบาลเล็ก ๆ ในท้องถิ่นก็สามารถจัดหามาได้ การถอดบทเรียนจากท่านอาจารย์ผู้นี้ทำให้รู้ว่าต่อให้งานวิจัยทางการแพทย์นั้นจะดีเด่นเป็นเลิศสักเพียงใด หากไม่มีกระบวนการทำให้ตลาดยอมรับ งานวิจัยนั้นก็คงเป็นอีกหนึ่งชิ้นที่ขึ้นไปให้ฝุ่นจับอยู่บนหิ้งอย่างแน่นอน เป้าหมายของการถอดองค์ความรู้ของท่านจึงไม่ใช่ตัวงานวิจัย แต่เป็นวิธีการนำงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของนักวิจัยส่วนใหญ่

ขั้นตอนแรกของการถอดองค์ความรู้ของท่านก็คือ ระบุได้ว่าความรู้ในเรื่องใดที่ต้องการจากท่าน ขั้นตอนที่สองคือการถามถึงวิธีการที่ท่านทำให้งานวิจัยนั้นไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ทางธุรกิจได้ ไม่ใช่ถามถึงประสบการณ์การทำงานของท่าน ซึ่งท่านคงเล่าถึงงานวิจัยจำนวนร้อยกว่าชิ้นอย่างแน่นอน

….

หลุมพรางที่สามก็คือ มองเรื่องการถอดองค์ความรู้เป็นเรื่องของการที่ผู้น้อยไปขอความรู้จากผู้ใหญ่

นบนอบเข้าไว้และตั้งใจฟังคงได้ความรู้มาเอง ซึ่งแสดงว่ายังไม่รู้จักวิธีการใช้เครื่องมือตัวนี้อย่างแท้จริง เปรียบเสมือนการนำขวานไปตัดต้นไม้โดยไม่รู้จักวิธีการใช้มาก่อน นอกจากจะตัดต้นไม้ไม่ได้แล้ว อาจได้รับบาดเจ็บจากการจับขวานที่ผิดวิธีได้

….

การถอดองค์ความรู้ในฐานะเครื่องมือของการจัดการความรู้ก็เช่นกัน ผู้ที่จะนำไปใช้ต้องมีพื้นฐานความรู้ในเครื่องมือชิ้นนี้ว่ามีวิธีการใช้อย่างไร ต้องมีทักษะอะไรบ้างจึงจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งในบทความชิ้นต่อ ๆ ไป จะกล่าวถึงเรื่องนี้โดยละเอียด

กล่าวโดยสรุปหากไม่ต้องการตกหลุมพรางของการจัดการความรู้ ต้องคำนึงถึง

หนึ่ง เป้าหมายในการถอดองค์ความรู้ว่าความรู้นั้นคืออะไรและต้องการไปใช้อะไร

สอง การตั้งคำถามที่เฉพาะเจาะจงจากความชัดเจนในข้อหนึ่ง

สาม ผู้ที่ไปทำการถอดองค์ความรู้ต้องมีความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือในระดับที่มั่นใจได้ว่าสามารถถอดองค์ความรู้ที่แฝงเร้นในตัวบุคคลออกมาได้จริง

….

แนะนำหลักสูตร

Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้)
👉 คลิก 

   

 

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น