ก.อุตฯ ลงนามร่วมภาคเอกชน พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้ SMEs ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
ภาคอุตสาหกรรม ดันอุตสาหกรรมของไทยเข้าสู่ 4.0
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังพิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และ ในครั้งนี้ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ เข้ากับโลกดิจิทัล
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการ ประกอบกับที่บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ปราจีนบุรี) มีเป้าหมายที่ตรงกันที่อยากจะช่วยพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของภาคอุตสาหกรรมของไทย
“การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในวันนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันช่วยยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมไทย โดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันไทย-เยอรมัน ร่วมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนกิจกรรมความร่วมมือใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาบุคลากร โดยจะให้ความร่วมมือด้านวิชาการและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนในกระบวนการทำงาน ตลอดจนการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำแนะนำในสถานประกอบการผ่านหลักสูตรที่เน้นการสร้างและพัฒนาบุคลากรให้สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ขององค์กรสู่บุคลากรได้ 2.ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี โดยให้ความร่วมมือในการสนับสนุนด้านกลยุทธ์การใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในการวางแผนและปฏิบัติการ (Strategic Planning and Operating) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ที่เหมาะสมในการปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และ 3.ด้านการเผยแพร่ความรู้สู่สังคม โดยให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรม นิทรรศการวิชาการ และเผยแพร่ให้ความรู้ทางวิชาการ ผ่านการประชาสัมพันธ์และการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ด้านต่างๆ ในสถานประกอบการได้อย่างเหมาะสม
ซึ่งความร่วมมือนี้ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานเครือข่ายทั้ง 3 หน่วยงานเล็งเห็นว่าจะเป็นกลไกในการสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการในการพัฒนาต่อยอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมและการก้าวสู่เป็นอุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต และยังเป็นโอกาสที่ดีที่ 3 สถาบันจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมมีส่วนร่วมในการปรับปรุงพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและพัฒนาศักยภาพในหน่วยงานด้วย” นายภานุวัฒน์กล่าว
ด้านนายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานกรรมการ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอลฯ ได้รับการคัดเลือกจากเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum : WEF) เข้าสู่โกลบอล ไลท์เฮ้าส์ เน็ตเวิร์ค (Global Lighthouse Network) ซึ่งเป็นประชาคมของบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ประสบความสำเร็จในการนำเอาเทคโนโลยีในกลุ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution : 4IR) มาประยุกต์ใช้ โดยเป็นโรงงานแห่งแรกจากประเทศไทยในโรงงานจำนวน 90 แห่งทั่วโลก ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่มีกิจกรรมในฐานการผลิตและการเชื่อมต่อของห่วงโซ่การผลิตแบบครบวงจร (End-to-End:E2E) โดยบริษัทดำเนินกิจการโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาทิ ปัญญาประดิษฐ์(AI) หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ การวิเคราะห์ขั้นสูง และระบบอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโยง (Internet of Things: IoT) ซึ่งเป็นประโยชน์และเหมาะสมกับการดำเนินกิจการในปัจจุบัน ทั้งนี้ บริษัทพร้อมที่จะร่วมมือกับทั้งทางภาครัฐ เอกชน และพร้อมเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ SMEs ในการปรับขั้นตอนและวิธีการดำเนินกิจการที่อิ่มตัวให้กลายเป็นระบบปฏิบัติการแบบดิจิทัล เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ และการพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของภาคอุตสาหกรรมของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ผศ.ดร.อธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ หนึ่งในสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้กล่าวถึงภารกิจในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 อันประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ ทั้งการปรับปรุงโมเดลทางธุรกิจ การวิเคราะห์ข้อมูลการผลิต การออกแบบและปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อให้เกิดความสมดุลของวัตถุดิบตลอดทั้งสายโซ่อุปทาน ตลอดจนการเทียบเคียงสมรรถนะ (Benchmarking) และการจัดการความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ผ่าน NIST – Baldrige Cybersecurity Excellence Builder
พร้อมเน้นย้ำว่า การร่วมมือกับ 5 หน่วยงานในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชติ จะได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุง พัฒนา และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ผ่านการบริหารจัดการแบบองค์รวม ส่งผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและความยั่งยืนของประเทศในอนาคต