9 มีนาคม 2021

การฟื้นฟูองค์กรยุค Post Covid-19
(ตอนที่ 1)

โดย อาจารย์ชัยทวี  เสนะวงศ์
ที่ปรึกษาอาวุโสและวิทยากรผู้ออกแบบระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์
และระบบประเมินผลการปฏิบัติงานให้แก่องค์กรชั้นนำ

จากการแพร่ระบาดของไวรัส SARS-CoV2 ที่ทำให้เกิดโรค Covid-19 สภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา จัดทำภาพจำลองของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 Restriction (เดือนที่ 1-6) : ระยะที่รัฐบาลพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19

ระยะที่ 2 Reopening (เดือนที่ 7-12) : ระยะผ่อนคลายการควบคุมและเริ่มกลับเข้าสู่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

ระยะที่ 3 Recovery (เดือนที่ 13-18) : ระยะการฟื้นตัวและปรับตัวภายหลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย

ระยะที่ 4 Restructuring (เดือนที่ 19-อนาคต 5 ปี ข้างหน้า) : ภาพอนาคตที่ควรจะเป็น

ณ เดือนธันวาคม 2563 การแพร่ระบาดของ Covid-19 ในประเทศไทยอยู่ในช่วงปลายระยะที่ 2 และกำลังพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 3 และ 4 ต่อไป

Covid-19

 

จากผลกระทบของการแพร่ระบาด Covid-19 ำให้ประเทศต่าง ๆทั่วโลกจำเป็นต้องใช้มาตรการรุนแรง เด็ดขาด ด้วยการปิดประเทศ (Lock down) ส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การเคลื่อนย้ายของประชากรหยุดชะงัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นผลัก(บังคับ)มนุษยชาติให้ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ เปลี่ยนวิธีการบริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ใด สังคมใด ไม่เปลี่ยน หรือเปลี่ยนไม่เป็น เปลี่ยนไม่ทัน ก็จะถูกธรรมชาติ Disruptไปในที่สุด โลกหลังการแพร่ระบาดของไวรัส (Post covid-19) สภาพแวดล้อมของโลกและองค์กรจะเพิ่มลักษณะความเป็น VUCA (ผันผวน ไม่แน่นอน สลับซับซ้อน คลุมเครือไม่ชัดเจน) สูงมากขึ้นไปอีก จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “วิถีปกติถัดไป (Next normal) ที่หมายถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่ต้องมองไปข้างหน้า องค์กรที่ต้องการอยู่รอด และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ต้องเตรียมแผนฟื้นฟูองค์กร ด้วยการสร้างฉากทัศน์อนาคต (Future scenario) ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น หลังการแพร่ระบาด (Post covid-19) แล้วพยายามปรับแนวคิด ปรับตัว ปรับกระบวนการปฏิบัติงาน เร่งฟื้นฟูองค์กร ให้สอดรับกับฉากทัศน์นั้น ๆ ซึ่งประเด็นสำคัญๆที่องค์กรควรใส่ใจ มุ่งความสนใจในการฟื้นฟูองค์กร ควรมีดังต่อไปนี้ 

Mindset ที่ผู้นำต้องทำความเข้าใจในทั้ง วิถีปกติใหม่ (New normal)
และ วิถีปกติถัดไป (Next normal) ที่จะเกิดขึ้น 

กระแสโลกาภิวัตน์โฉมใหม่ (De-globalization)  

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้ประเทศมหาอำนาจเปลี่ยนแนวนโยบายที่จะต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น ส่งผลทำให้ประเทศไทย ต้องปรับตัวต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้นเช่นกัน รายได้ที่มาจากการการพึ่งพาต่างประเทศ เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว เป็นต้น จะลดลง ต้องเปลี่ยนมาเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega-project) เช่น การคมนาคมระบบราง อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

พัฒนาการของ “วัคซีน” Covid-19

ณ ไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2563 มีแนวโน้มว่าในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2564 จะเริ่มมีการทยอยนำวัคซีนป้องกันโรค Covid-19 มาใช้กับประชากรโลก ก่อให้เกิดความหวังว่าการแพร่ระบาดของ Covid-19 จะบรรเทาลง ระบบเศรษฐกิจจะเริ่มค่อยๆฟื้นตัว แต่ในทางการแพทย์ยังมีความกังวลในวัคซีน Covid-19 ดังนี้

  • ประเด็นในประสิทธิผลของวัคซีน ถึงแม้ว่า บริษัท Pfizer (สหรัฐอเมริกา) ร่วมมือกับ บริษัท BioNtech (เยอรมนี) และ บริษัท Moderna, Inc. (สหรัฐอเมริกา) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและทดสอบในคนระยะที่ 3 ของวัคซีนชนิด mRNA ที่มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคมากกว่า ร้อยละ 90 และ ร้อยละ 94.5 ตามลำดับ แต่จากรายงานทางการแพทย์พบว่าคนที่เคยติด Covid-19 และรักษาหายแล้ว กลับมาติดเชื้อใหม่และอาการติดเชื้อครั้งที่สอง เกิดอาการรุนแรงกว่าครั้งแรกอีก ทางการแพทย์สันนิษฐานว่าไวรัสมีการอัพเกรดตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาหรือไม่กับประสิทธิผลของวัคซีน เพราะในกระบวนการวิจัยและการผลิตวัคซีนจะมีพื้นฐานจากไวรัสที่เกิดระบาด ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ แต่ถ้าไวรัสสามารถอัพเกรดตัวเองได้ วัคซีนที่ผลิตจะมีประสิทธิผลในการป้องโรคได้มากน้อยแค่ไหน
  • ปริมาณการผลิต องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าช่วงแรกจะต้องผลิตวัคซีนประมาณ 2 พันล้านโดสสำหรับประชากรทั้งโลก (จะต้องใช้ 2 โดส ในเวลาห่างกัน 4 สัปดาห์) แต่สถานการณ์ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วและร่ำรวย เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศใน EU เป็นต้น ได้มีการจองและจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนไปแล้ว ซึ่งจะเกิดความไม่เป็นธรรมในการได้รับวัคซีนของประเทศที่ยากจน ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำลังทำงานร่วมกับประเทศมั่งคั่งอย่างน้อย 94 ประเทศ ลงนามร่วมในโครงการวัคซีนโลก “โคแวกซ์ (Covax)” ตั้งเป้าระดมทุน 2 พันล้านดอลลาร์ให้ได้ภายในสิ้นปี ค.ศ. 2020 เพื่อซื้อและแจกจ่ายวัคซีน เพื่อเป็นหลักประกันในเบื้องต้นว่าประเทศที่ยากจนประมาณ 92 ประเทศ ในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา จะได้วัคซีน Covid-19 อย่างรวดเร็ว เป็นธรรม เข้าถึงเสมอกัน โดยมีโมเดลว่าประเทศที่ลงนามในโคแวกซ์ จะได้รับวัคซีนมากเพียงพอสำหรับประชากร ร้อยละ 3 ซึ่งพอครอบคลุมบุคลากรด้านสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ เมื่อผลิตได้มากขึ้นจะเพิ่มเป็นครอบคลุมประชากร ร้อยละ 20 ขั้นนี้ให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงอายุ 65 ปี และมากกว่าก่อน หลังจากกลุ่มนี้ได้วัคซีนหมดทุกคนแล้ว จึงค่อยกระจายไปตามเกณฑ์อื่น ๆ เช่น ตามระดับความเสี่ยงและภัยคุกคามเร่งด่วนจาก Covid-19 ในประเทศนั้น ๆ

สำหรับประเทศไทยโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติเปิดเผยว่ามีการวิจัยวัคซีนชนิด mRNA โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รูปแบบเดียวกับของบริษัท Pfizer เช่นกัน จะมีการวิจัยในมนุษย์ราวเดือน ม.ค.-ก.พ. 2564 ทำให้งานวิจัยในไทยเดินหน้าได้อย่างมั่นใจมากขึ้น และกรมควบคุมโลกกำลังจัดเรียงความสำคัญกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกัน Covid-19 ในกรณีมีวัคซีนแล้ว แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าวัคซีนของ Pfizer จะประสบความสำเร็จ แต่กว่าจะผลิตวัคซีนพอที่แจกจ่ายอย่างทั่วถึงทั่วโลกก็ไม่น่าจะเร็วกว่ากลางปี พ.ศ. 2564

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation)  

จะเป็นกระแสหลักของโลก เป็นเรื่องที่สำคัญ จำเป็น และเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิต การทำงานในทุกมิติขององค์กร โดยมีเป้าหมายที่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดขององค์กร เช่น การทำงานที่ไหน เมื่อไหร่ ก็ได้เจ็ดวัน 24 ชั่วโมง การประชุม การสื่อสาร การเรียน การซื้อลิ้นค้าและบริการ ออนไลน์ ฯลฯ ถ้าเปรียบว่าเทคโนโลยี ยุค 4 G  หมายถึงยุคอินเตอร์เน็ต (ที่ประเทศไทยพึ่งใช้มาประมาณ 5 ปี) แต่ปัจจุบันโลกกำลังพัฒนาเข้าสู่เทคโนโลยียุค 5 G (บางประเทศพัฒนาไปสู่ระบบ 6 G แล้วด้วยซ้ำ )  ที่ทุกคนสามารถสื่อสารกับ ทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ หลอดไฟฟ้า ฯลฯ ที่บ้านได้ ผ่านระบบ AI เทคโนโลยีอย่าง Blockchain, Big Data, AR, VR ฯลฯ กำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษยชาติ บทสรุปในเรื่องของเทคโนโลยี องค์กรที่จะอยู่รอดต้องทันขบวนและรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ องค์กรที่ตกขบวนเทคโนโลยีจะถูก Disrupt ล้มหายตายจากไป

องค์กรจะต้องสร้างทำให้เกิดความไว้วางใจ (Trust)

ในหมู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร ด้วยการยกระดับมาตรการด้านชีวอนามัยและความปลอดภัยของบุคคล เพื่อเป็นการป้องกันการติดต่อ แพร่ระบาดของ Covid-19 เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การรักษาความสะอาด (ในทุกสิ่ง) ที่ผู้คนมาสัมผัส การล้างมือบ่อย ๆ การเว้นระยะห่างทางสังคม การพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปอยู่ในที่แออัด เป็นต้น

โฉมใหม่ของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

จากผลกระทบของการแพร่ระบาด Covid-19  จะส่งผลให้จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศบางอุตสาหกรรม จากที่เคยเป็นอุตสาหกรรมศักยภาพแห่งอนาคต (New S-curve) ในปัจจุบัน (แต่จะไม่ใช่ในทศวรรษนี้อีกแล้ว) เช่น อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เป็นต้น ซึ่งรัฐจะต้องวางแผนจัดทำแผนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตประเภทใหม่ๆในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมเกษตรกรรมอัจฉริยะ ที่จะเป็นการพลิกโฉมการทำเกษตรกรรมแบบเดิม ให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น 5G, IoT, Drone, Robot และอื่น ๆ เพื่อการเป็นแหล่งผลิตอาหารและสินค้าเกษตรแปรรูป ในการบริโภคทั้งในประเทศและการส่งออกต่อไป หรือ อุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ (Lithium-ion) ใช้กับรถไฟฟ้า ที่ร่นระยะเวลาชาร์จแบตเตอรี่ให้เร็วขึ้น ขนาดเล็กลง เก็บประจุไฟฟ้าได้นานขึ้น (ที่สำคัญมีราคาถูกลง) อุตสาหกรรมการผลิตวัคซีน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น

ใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน (Data-driven organization)

เนื่องการแข่งขันของโลกยุคใหม่จะอยู่ที่ความเร็ว การลองผิดลองถูกจะตกขบวนการแข่งขัน ดังนั้นองค์กรมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการขับเคลื่อนองค์กร จากเดิมที่ตัดสินใจบน “ความเห็น” หรือ “ประสบการณ์” ของผู้นำ หรือ ผู้อาวุโส มาเป็นการทำงานบนพื้นฐานของความเป็นวิทยาศาสตร์ รวบรวมข้อมูล (Big data) มาวิเคราะห์อย่างเข้มข้น เพื่อสร้างทางเลือกที่เหมาะสมมาสนับสนุนการตัดสินใจ เมื่อ Data คือกลไกในการขับเคลื่อนองค์กร สิ่งที่ผู้นำจะต้องผลักดันคือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ให้ทุกคนมีแนวคิดที่ต้องใช้ข้อมูลในการทำงาน (Data-driven mindset) และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม Collaborative mindset)

โปรดติดตาม การฟื้นฟูองค์กรยุค Post Covid-19 ตอนจบ ในบทความถัดไป ซึ่งจะกล่าวถึง การปรับตัวใหม่ขององค์กร (The Great Reset)  อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่องค์กรควรใส่ใจในการฟื้นฟูองค์กร หลังการแพร่ระบาด (Post covid-19) 

อ่านบทความ การฟื้นฟูองค์กรยุค Post Covid-19 ตอนจบ

ได้ที่ https://www.ftpi.or.th/2021/51578  

….

หลักสูตรแนะนำ

หล้กสูตรอบรมออนไลน์ สถาบันเพิ่ม

 




Writer

โดย ชัยทวี เสนะวงศ์

ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท การจัดการธุรกิจ จำกัด