6 มกราคม 2021

      ‘Digital Health’ คำตอบของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในยุค New Normal

เมื่อโลกกำลังหมุนไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดไว้ ความเปลี่ยนแปลง และความท้าทายจากวิกฤตต่าง ๆ กลายเป็นตัวเร่งให้หลายธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน  นับเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่จำเป็นต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อฝ่ามรสุมแห่งความท้าทายในช่วงที่ผ่านมา

จากสถิติในปี 2562 มูลค่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพรวมทั้งสิ้น 59,792.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากฐานเดิมปี 2561 ร้อยละ 3.46  คิดเป็นมูลค่า 2,001.26 ล้านบาท (ข้อมูลจาก ผลการวิจัยและสำรวจข้อมูลด้านบริการสุขภาพและบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพของไทย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ)

เมื่อพิจารณาจากสถิติดังกล่าวดูเหมือนว่าการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการรักษาโรค และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภายใต้นโยบาย Medical Hub นั้นมีสัญญาณที่ดี หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวโดยตรงอย่างโรงพยาบาลเอกชน มีผลประกอบการที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความน่าพอใจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจอย่างมาก ทว่า สิ่งที่ไม่คาดคิดอย่างการระบาดของไวรัส COVID-19 ก็กลับเป็นตัวแปรที่พลิกผันสถานการณ์อย่างที่หลายฝ่ายไม่ทันตั้งตัว

ช่วงเวลาแห่งอุปสรรค นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง

COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างไร ? หลายคนอาจคิดว่าการเกิดโรคระบาด ย่อมส่งผลให้มีผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น และนั่นน่าจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบธุรกิจโรงพยาบาล แต่ในความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอันที่จริงแล้วธุรกิจโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรองลงมาจากโรงแรม อันเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย เช่น ผู้เข้ารับบริการลดลงจากมาตรการจำกัดการเดินทาง และการเลี่ยงไปโรงพยาบาลเพราะมองว่าเป็นสถานที่เสี่ยง ทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับต้นทุนรายจ่ายที่สูง ขณะที่รายรับลดลงจากกำลังซื้อที่หดตัว โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของโรงพยาบาล

ในทางกลับกันแม้ว่า COVID-19 จะเป็นอุปสรรคที่สร้างผลกระทบครั้งใหญ่ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นแรงขับเคลื่อนให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับสิ่งที่กำลังเผชิญ เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดต่อไปได้ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

‘Digital Health’
แนวทางการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชนในยุค New Normal

สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการะบาดของ COVID – 19 ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิตปกติของผู้คนเปลี่ยนตามไปด้วย เมื่อปัจจุบันมีคนไข้ที่ไม่อยากแบกรับความเสี่ยงในการเดินทางมาโรงพยาบาลมากขึ้น และอาจมีบางกลุ่มที่ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้เช่นเดิม Digital Health จึงเป็นมาตรฐานการบริการรูปแบบใหม่ที่เข้ามายกระดับการให้บริการทางการแพทย์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการสอดรับกับยุค New Normal

Digital Health หรือ Digital Health Ecosystem

คือ การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับการให้บริการทางการแพทย์อย่างครอบคลุมทุกกระบวนการ ช่วยลดความแออัด และระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาล โดยเป็นการอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ตามความเชี่ยวชาญ นอกเหนือไปจากแพทย์ และบุคลากรในโรงพยาบาล เช่น กลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี, แหล่งความรู้อย่างมหาวิทยาลัย หรือศูนย์วิจัยต่าง ๆ ร่วมกับกลุ่มนายทุน และองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน แต่เหนือสิ่งอื่นใดปัจจัยที่คาดไม่ถึงอย่างการระบาดของ COVID-19 ก็เป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ Digital Health ได้รับการพัฒนา และถูกนำไปใช้จริง

สะดวก | ครอบคลุม | แม่นยำ

การนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีอันชาญฉลาดเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการบริการ และการรักษา โดยมีเป้าหมายในการมอบความสะดวกสบาย คล่องตัวแก่ผู้เข้ารับบริการ ครอบคลุมทุกรูปแบบการรักษาด้วยการวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุดนั่นเอง

ตัวอย่างของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ใน Digital Health ได้แก่

AI ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย

AI หรือ Artificial Intelligence มีบทบาทในการเพิ่มความแม่นยำของการวินิจฉัยโรค

Telemedicine อยู่ที่ไหนก็พบแพทย์ได้

การให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพ และการรักษาแบบออนไลน์ ช่วยให้แพทย์กับผู้ป่วยสามารถสื่อสารกันได้แบบ real time โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลที่เริ่มให้บริการ Telemedicine หรือ Teleconsultant แล้ว เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลพญาไท และโรงพาบาลกรุงเทพ

Blockchain ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

นำมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย เวชระเบียน เวชสถิติต่าง ๆ โดยมีความถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัยสูง

Robotic Surgery หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

ช่วยลดข้อจำกัด และเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยาก

Internet of Medical Things (IoMT) เชื่อมต่อการแพทย์กับระบบอินเทอร์เน็ต

เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย และการวางแผนการรักษาด้วยอุปกรณ์เชื่อมต่อทางการแพทย์ที่ใช้เก็บข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วย
อาทิ อุปกรณ์สวมใส่ (Wearables)

ไม่เพียงแต่ธุรกิจโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่ถึงแม้ต้องพบกับวิกฤตแต่หากผู้ประกอบการตระหนักรู้ในความเปลี่ยนแปลง ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถปรับตัว และขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปในระยะยาวได้ เพราะโอกาสมักเป็นของคนที่พร้อมกว่าเสมอ

ที่มา : งานสัมมนาออนไลน์ Healthcare Sector Outlook after Covid-19 โดย คุณสุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

 




Writer