Design Sprint เร่งความคิด พิชิตความท้าทาย
โดย คุณจำลักษณ์ ขุนพลแก้ว
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้าน Innovation สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
เมื่อเทคโนโลยีพร้อม คนก็ต้องพร้อม เพราะสุดท้ายคนนี้แหละที่เป็นผู้สรรหา และเลือกใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการ เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “Agile” กันมาพอสมควร หลายองค์กรบอกว่านื่คือรูปแบบการทำงานใหม่ ที่จะมาทลายกำแพงของความเป็นแผนกฝ่ายที่เรียกว่า Silo ของโครงสร้างการทำงานแบบเดิม Agile คือวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายของงานนั้น ๆ เป็นตัวตั้ง จากนั้นก็พิจารณาว่าจะต้องใช้บุคลากรในโครงการที่มีความรู้ ทักษะ และความสามารถในด้านใดบ้าง แล้วจึงเชิญผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ระบุหรือเกี่ยวข้องกับการพัฒนางานนั้น ๆ เข้ามาร่วมในทีม ผ่านการสื่อสารทำความเข้าใจและหาข้อสรุปร่วมกันอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาใช้กันมากในงานด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์ และในบริษัท Tech. Startup ตามแนวคิดของการทำงานที่มุ่งเน้นความรวดเร็ว (Learn fast, Fail fast and Move forward) เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและความต้องการลูกค้า
ซึ่งแนวทางนี้เป็นวิถีของการสร้างและพัฒนานวัตกรรมที่สอดรับกับยุคสมัย ที่มุ่งเน้นการทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่อย่างรวดเร็วและตอบสนองความต้องการใหม่ (Gain creator) หรือแก้ปัญหาและข้อบกพร่องเดิม (Pain reliever) ได้ในทันที ทั้งนี้เทคนิควิธีการที่มีการนำมาใช้และเกี่ยวข้องกับ Agile อาทิ Scrum agile, Sprint design และ Design thinking มีการนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในโปรแกรมที่เรียกว่า Boot camp ที่หลายแห่งมีการจัดขึ้น
จากหนังสือขายดีของ New York Times ที่ชื่อว่า “Sprint” ที่เขียนโดย Jake Knapp กับคำขยายความบนหน้าปกหนังสือที่ว่า “How to Solve Big Problems and Test New Ideas in Just Five Days” ทำให้เราสนใจใคร่รู้อย่างมาก Ev Williams ผู้ก่อตั้ง (Founder) เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดัง ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก อาทิ Blogger Medium และ Twitter ได้ให้คำนิยมในหนังสือดังกล่าวว่า “Read this book and do what it say if you want to build better products faster.” ชวนให้เราต้องหยิบมาอ่านในทันที
ในประเทศไทยเคยมีการจัดอบรม Design Sprint จากหลายหน่วยงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาช่วยชี้แนะและดำเนินการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และมีการนำเทคนิควิธีการดังกล่าวมาใช้กันบ้างในกลุ่มพัฒนาซอฟท์แวร์องค์กร หรือฝ่ายไอที เพื่อให้สามารถพัฒนาโปรแกรมได้เร็วทันกับความต้องการของ User ในองค์กร (เนื่องจากการพัฒนาในอดีตมีความล่าช้ามาก คิวยาว และใช้เวลานานหลายเดือนจนถึงเป็นปี) และยังมีการจัดอบรมให้กับกลุ่ม Developer ในบริษัท Tech. Startup เพื่อพัฒนา App และการออกแบบ UX/UI (User eXperience และ User Interface) โดยทำไปทดสอบไปแบบใกล้ชิดกับลูกค้าและนำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว – เน้นที่ Concept design และนำไปถามความเห็นลูกค้า ก่อนจะลงมือพัฒนาเป็นต้นแบบ ซึ่งถ้าไม่ตรงกับความต้องการลูกค้า ก็สามารถแก้ไขได้ก่อนที่จะไปลงทุนผลิตจริง
The Design Sprint หรือในยุคเริ่มแรกเรียกว่า Google Design Sprint เป็นกระบวนการที่ทาง Google Venture (Venture Capital หรือกองทุนร่วมลงทุนของ Google ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น GV) ได้พัฒนา คิดค้น และออกแบบขึ้นมาเพื่อ “เร่งความเร็วในการคิด” ผลักดันให้แนวคิดต่างๆ ได้ถูกพิจารณาอย่างรอบคอบ และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกับบริษัท Startup ที่ GV เข้าไปลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 385 ทีม(หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ) เช่น Pocket, Uber, Medium, Nest, Cloudera, Slack, CoreOS และอื่นๆอีกมากมาย ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.gv.com/portfolio/ (นอกจาก Design Sprint แล้วยังมี Research Sprint ด้วย) เพื่อช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าสู่ตลาดใหม่ ออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และเสริมเติมฟังก์ชั่นที่น่าสนใจมากขึ้นสำหรับผู้ใช้นับล้าน มีมากมายหลายทีมพัฒนาทั่วโลกที่นำเอาแนวทางดังกล่าวไปใช้ และได้ส่งเรื่องราวมาเก็บรวบรวมไว้ที่ https://sprintstories.com/
ที่มาของรูปภาพ https://www.gv.com/sprint/img/sprint-diagram.png
The sprint gives teams a shortcut to learning without building and launching. แผนภาพดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการพัฒนาที่ลัดขั้นตอน ระหว่างขั้นตอนที่ 1 Idea และขั้นตอนที่ 4 Learn โดยยังไม่จำเป็นต้องไปทำในขั้นตอนที่ 2 Build และขั้นตอนที่ 3 Launch
ทั้งนี้เพราะรูปแบบและวิธีการในการสร้างนวัตกรรมแบบเดิม ๆ ทั่วไปใช้เวลาค่อนข้างนาน อีกทั้งยังต้องรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์ถึงจะนำไปสู่การทดสอบกับลูกค้าเป้าหมาย เมื่อมีบางส่วนไม่สอดรับกับความต้องการของผู้ใช้งานก็ต้องนำกลับมาแก้ไข เป็นผลให้กว่าจะออกผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมอะไรใหม่ๆได้ ต้องใช้เวลานานมาก ในขณะที่รูปแบบใหม่เมื่อคิดสิ่งใดขึ้นมาได้ จะนำไปสู่การพัฒนาขึ้นมาเป็นต้นแบบอย่างรวดเร็วและทำการทดสอบกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทันที ถ้าส่วนย่อยใดไม่สอดรับกับความต้องการลูกค้าก็จะได้แก้ไขปรับเปลี่ยนทันที แต่ถ้าส่วนย่อยใดที่ตรงกับความต้องการลูกค้าแล้ว ก็จะนำมาประกอบรวมเข้าไว้ในผลิตภัณฑ์หลัก
โปรแกรมฝึกปฏิบัติของ Google Design Sprint ที่ดำเนินการจนเป็นมาตรฐานแล้วจะใช้เวลา 5 วัน ในการดำเนินการให้ครบจบทุกกระบวนการ สำหรับการค้นหาคำตอบของคำถามสำคัญในทางธุรกิจ ได้แก่ Understand, Sketch, Decide, Prototype และ Validate (จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกับ Design thinking ที่มี 5 ขั้นตอนเช่นกันคือ Empathize, Define, Ideate, Prototype, Test) นอกจากนั้นยังสามารถนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้ในการจัดให้มีการแข่งขันเพื่อหาทีมที่สามารถพัฒนาผลงานที่ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้าได้มากที่สุด ด้วยเวลาที่สั้นกระชับรวดเร็วและได้รับผลตอบสนองกลับมาจากลูกค้าในทันที ทำให้ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลามากมายในแบบเดิม ตัวอย่างโปรแกรมการฝึกปฏิบัติ (Workshop) 5 วัน มีคร่าวๆดังนี้ วันจันทร์ บ่งชี้ปัญหาสาธยายออกมาและโฟกัสไปที่จุดสำคัญ วันอังคาร ร่างแนวคิดกำหนดแนวทางแก้ไขบนกระดาษ วันพุธ ร่วมกันตัดสินใจในประเด็นที่ยากและเปลี่ยนความคิดที่ตกผลึกนั้นให้เป็นสิ่งที่สามารถทดสอบได้ วันพฤหัสบดี ลงมือสร้างและพัฒนาต้นแบบเพื่อพิสูจน์แนวคิดใหม่ที่วางไว้ วันศุกร์ ทำการทดสอบกับผู้ใช้งานในสภาพแวดล้อมจริง