การพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น ผลิตภาพ (Productivity) เป็นสิ่งที่ช่วยให้แต่ละประเทศเอาชนะข้อจำกัดด้านทรัพยากร และความท้าทายจากทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจัยสำคัญในการยกระดับผลิตภาพของประเทศจะต้องคำนึงถึงเรื่อง ทักษะความสามารถของแรงงาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และความพร้อมของปัจจัยแวดล้อม
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทย (National Productivity Organizations – NPOs) รับผิดชอบการขับเคลื่อนหลักการการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ ได้จัดงานสัมมนา ครบรอบ 25 ปี International Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา Dr.AKP Mochtan เลขาธิการองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization) หรือ APO ได้กล่าวถึง เส้นทางการเติบโตของผลิตภาพ และความท้าทายในการขับเคลื่อนการรณรงค์ส่งเสริมผลิตภาพในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก อย่างน่าสนใจว่า
ในปี 2021 หน่วยงาน Asian Productivity Organisation (APO) จะฉลองการก่อตั้งครบรอบ 60 ปี หากมองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเส้นทางผลิตภาพในอาเซียน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงประมาณ 10 ปี หรือประมาณปี 1955 นับเป็นช่วงฟื้นฟูของหลายประเทศทั้งสภาพจิตใจคน สังคมรวมถึงเศรษฐกิจ ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำในการก่อตั้งหน่วยงานหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศชื่อว่า Japan Productivity Centre (JPC) การพัฒนาประเทศด้วยแนวคิดผลิตภาพส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นมีรายได้ประชาชาติ (National Income) เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัว…