19 กันยายน 2019

 

ถึงตอนนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญของการประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่แจ้งเกิดและถีบตัวเองขึ้นมาเทียบเท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่ภายในเวลาไม่กี่ปีส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลหรือ Big Data เป็นอาวุธคู่กายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการจับพฤติกรรมลูกค้า การค้นหาส่วนแบ่งตลาดใหม่ๆ การอ่านใจคู่แข่ง การวางจุดขายของตัวเอง รวมถึงการเฝ้าระวังความเสี่ยงหรือภัยคุกคามที่มองไม่เห็น

แต่คำถามที่น่าสนใจและหลายๆ เราอาจมองข้ามไปก็คือ….ข้อมูล Big data เหล่านี้…มาจากไหน

ดูจากสถิติที่ Raconteur ได้รวบรวมและนำเสนอเกี่ยวกับปริมาณของข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นทั่วโลกในแต่ละวัน

  • มีการ tweet ข้อความ วันละ 500 ล้านครั้ง
  • มีการส่ง email วันละ 294 พันล้านฉบับ
  • เกิดข้อมูลจากการโพสต์ Facebook วันละ 4 Petabyte (4 ล้าน Gigabyte)
  • เกิดข้อมูลจากรถที่เชื่อมต่อเครือข่าย วันละ 4 Terabyte (4 พัน Gigabyte)
  • มีข้อความที่ส่งผ่าน WhatsApp วันละ 65 พันล้านข้อความ
  • มีการ Search ข้อมูล วันละ 5 พันล้านครั้ง

คาดว่า ภายในปี 2025 โลกจะสร้างข้อมูลมากถึง 463 Exabyte ต่อวัน (463 พันล้าน Gigabyte) เลยทีเดียว โดยที่ข้อมูลปริมาณมหาศาลเหล่านี้เป็นผลมาจากเทคโนโลยี Internet of Thing และการใช้อุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

แล้วใครล่ะ ที่เป็นผู้สร้างข้อมูลเหล่านี้ ….. คำตอบคือ เราทุกคนช่วยกันสร้างขึ้น

แต่….เราได้ผลประโยชน์จากการสร้างข้อมูลเหล่านี้บ้างหรือไม่

เมื่อ 2 ปีก่อน วารสาร Economist ได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลในอีกมุมมองหนึ่ง โดยระบุว่า การที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ อาทิ Facebook Apple Amazon Netflix Google มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้ Application ของตนเอง ทำให้เกิดความกังวลว่า หากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่อยู่ในมือของบริษัทเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การกีดกันธุรกิจรายใหม่ๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้ประชาชนเสียประโยชน์จากข้อมูลที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้นมา จนเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งทบทวนกฎหมายต่อต้านการผูกขาดให้ครอบคลุมไปถึงการควบคุมการใช้ข้อมูลในการดำเนินธุรกิจด้วย

แต่…ถึงแม้จะมีการปรับปรุงกฎหมาย ข้อมูลต่างๆ ของเราก็ยังคงอยู่ในมือของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้และถูกนำไปใช้ในการแสวงหากำไรสูงสุดแก่องค์กรเหมือนเดิม ทำให้ Agnes Budzyn, MD ของ Consensys AG เสนอความคิดว่า ผู้ใช้งานหรือประชาชนควรมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะควบคุมและบริหารจัดการข้อมูลที่ตนเองเป็นผู้สร้างขึ้น นั่นหมายถึงว่า ลูกค้าของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ควรจะรู้ว่า ข้อมูลของเขาจะถูกนำไปใช้ทำอะไร ข้อมูลอะไรบ้าง ขายให้กับใคร และมีสิทธิที่จะอนุญาตหรือไม่ ก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ลูกค้าจะต้องสามารถเรียกร้องค่าตอบแทนจากการที่บริษัทต่างๆ นำข้อมูลของเขาไปใช้ ในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินตอบแทน ส่วนลดค่าบริการ การใช้บริการเสริม ฯลฯ

ความคิดนี้คือการมองว่าข้อมูลของแต่ละบุคคลเป็นทรัพย์สินมีค่า เช่นเดียวกับน้ำมันหรือทอง จึงควรมีการกำหนดราคาหรือค่าใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่การจะกำหนดมูลค่าหรือค่าตอบแทนในการซื้อหรือขายข้อมูลได้นั้น จำเป็นต้องมีการจัดเกรดของข้อมูลเหล่านั้นให้เรียบร้อยเสียก่อน

ถ้านึกภาพการจัดเกรดข้อมูลไม่ออก ให้คิดถึงการแบ่งข้อมูลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกเป็นหมวดย่อยๆ หรือ data packets เช่น ถ้าพูดถึงข้อมูลการซอปปิ้งออนไลน์ สามารถแบ่งได้เป็นหมวดย่อยๆ เช่น อาหาร เสื้อผ้า บริการ กิจกรรม เป็นต้น เวลาที่บริษัทต้องการซื้อข้อมูลไปใช้ก็สามารถเลือกเฉพาะกลุ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจของเขา ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ผู้ขายก็สามารถขายข้อมูลให้แก่ธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้มีรายได้ที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันการสร้างรายได้จากการขายข้อมูลเหล่านั้นก็สามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การขายข้อมูลพฤติกรรมในอดีต (Historical data) เช่น ข้อมูลการท่องเที่ยวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา, การขายข้อมูลพฤติกรรมในช่วงเวลาต่างๆ (Ongoing basis) เช่น ข้อมูลการซื้อสินค้าในช่วงสุดสัปดาห์นี้, และการทำข้อตกลงซื้อข้อมูลระยะยาว (Contract agreement) เช่น ข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยในช่วง 3 ปีนับจากปัจจุบัน

และสิ่งที่จะเกิดตามมาหากมีการจัดเกรดและกำหนดราคาของข้อมูลได้เป็นผลสำเร็จก็คือ ธุรกิจใหม่ ธุรกิจที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง (Third party) ในการซื้อ-ขายและบริหารจัดการข้อมูลระหว่างบุคคลและบริษัท นั่นเอง

แนวคิดนี้จะเป็นจริงขึ้นมาได้ สิ่งที่จะต้องมองควบคู่กันไปก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ทุกวันนี้เราจะได้เห็นข่าวการก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์ (Cyber Crime) อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นฐานของการก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์ก็คือ การโจรกรรมข้อมูลเพื่อนำไปใช้ก่ออาชญากรรมในรูปแบบที่ต่างๆ นั่นเอง เช่น การเจาะข้อมูลรหัสผ่านเพื่อโอนเงินจากบัญชีออนไลน์ การล้วงข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อปลอมแปลงเอกสาร การขโมยข้อมูลความลับทางธุรกิจเพื่อนำไปขายให้แก่คู่แข่ง การเฝ้าติดตามข้อมูลพฤติกรรมเพื่อขู่กรรโชกทรัพย์ ฯลฯ ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ในปี 2018 ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 1 พันล้านคน ถูกละเมิดข้อมูลในรูปแบบต่างๆ จนทำให้ผู้ใช้งานบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเริ่มใส่ใจและวิตกกังวลในเรื่องนี้มากขึ้น ในขณะที่ผลการวิจัยของ Economist Intelligence Unit เปิดเผยว่า ร้อยละ 93 ของผู้ใช้งานออนไลน์เห็นว่าความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่พวกเขากังวลมากที่สุด สอดคล้องกับผลการสำรวจของ Eurobarometer ที่ระบุว่า ร้อยละ 86 ของคนที่อยู่บนระบบเครือข่ายเชื่อว่า พวกเขากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเหยื่อของอาชญากรรมบนโลกออนไลน์มากขึ้น

แม้ว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ จะเริ่มมีความพยายามออกมาตรการในการยับยั้งสถานการณ์ดังกล่าว เช่น General Data Protection Regulation (GDPR) ของสหภาพยุโรป หรือ Device Privacy Law ของสหรัฐอเมริกา แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยคืบหน้าในทางปฏิบัติ ผู้เชี่ยวชาญด้าน IT คาดหมายว่า เทคโนโลยี Blockchain คือคำตอบในเรื่องนี้และจะช่วยให้แนวคิดในการเปลี่ยนข้อมูลให้กลายเป็นทรัพย์สินที่สร้างรายได้เป็นจริงขึ้นมา เพราะ Blockchain จะทำให้กระบวนการยืนยันตัวตนมีความรัดกุมสูงสุด แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวยังต้องอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญในการนำแนวคิดนี้ไปสู่การปฏิบัติ

เมื่อวันนั้นยังมาไม่ถึง บริษัทเทคโนโลยี เจ้าของข้อมูล รวมถึงภาครัฐจะต้องพยายามดูแลและปกป้องทรัพย์สินมีค่านี้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในระบบความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ การให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการด้านความปลอดภัยของข้อมูลอย่างเคร่งครัด การเปลี่ยนพฤติกรรมในการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย ซึ่งแน่นอนว่า อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเข้าถึงบริการต่างๆ บ้าง แต่ก็แลกมาด้วยความปลอดภัยของทรัพย์สินที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับทุกคนได้ในอนาคต

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : www.weforum.org

  1. Data is the oil of the digital world. What if tech giants had to buy it from us? (Agnes Budzyn, Consensus AG)
  2. How much data is generate each day? (Jeff Desjardins, Visual Capitalist)

  3. Who should be responsible for protecting our personal data? (Einaras von Gravrock, CUJO AI)




Writer

โดย ทศพล ระมิงค์วงศ์

ผู้จัดการส่วนวิจัยการเพิ่มผลผลิต
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ