15 เมษายน 2019

 

แม้ว่าสำหรับคน Gen B ความไม่แน่นอนของอนาคตเป็นความเที่ยงแท้อันเป็นปกติ แต่ก็ยังสามารถคาดการณ์ วางแผนปูทางไปสู่อนาคตได้ไม่ยากนัก ความถี่ของการพลิกผันยังไม่สูง จึงปรากฎว่าคนเจนนี้ส่วนหนึ่งเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ มีฐานะมั่นคงที่จะพึ่งพาตนเอง และกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูงมากพอสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์มาตอบสนองเฉพาะกลุ่มนี้

แต่สำหรับคน Gen Y และ Gen Z อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนยิ่งกว่า เพราะการเปลี่ยนแปลงมีความถี่สูงมาก เป็นยุค Disruption มีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ได้ตลอดเวลา  การใช้ชีวิตดูเหมือนง่าย สะดวกสบาย แต่ก็ยากสำหรับการสร้างความมั่นคง การแข่งขันในตลาดแรงงานที่รุนแรงยิ่งกว่า เพราะคู่แข่งไม่ได้มีเฉพาะคนด้วยกัน  บรรดาหุ่นยนต์และ ปัญญาประดิษฐ์กลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวร่วมด้วย

ในขณะที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้เติบโตมากับเทคโนโลยี และได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ Gen X อย่างเอาใจใส่ ทนุถนอม มีความเป็นอิสระ เชื่อมั่นในตัวเองอย่างสูง

Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสืออันโด่งดังที่ชื่อว่า Sapiens : A Brief History of Humankind และเล่มล่าสุดของเขาคือ 21 Lessons for 21 st Century  กล่าวถึงความสามารถในการอยู่รอดในยุคสมัยที่ AI เข้ายึดครองพื้นที่การทำงานในองค์กรว่าทักษะของสำคัญของมนุษย์ก็คือ “ความยืดหยุ่น” หรือ Mental Resilience

เหตุผลก็คือผู้ที่จะอยู่รอดต้องมีวิถีปฏิบัติ 3 ประการนั่นคือ หนึ่ง มีทักษะในการใช้ชีวิต รู้ว่าอะไรสำคัญ และอะไรที่ไม่สำคัญ อะไรคือสิ่งที่มีคุณค่า และอะไรที่ไม่มีคุณค่า เพื่อให้ชีวิตมีความสมดุล ไม่ตกเป็นเหยื่อของมายาคติที่มาในรูปแบบต่างๆ สอง มีความสามารถในการปรับเปลี่ยน ที่ไม่ใช่การเลียนแบบ แต่เป็นการประยุกต์ใช้ใหนเหมาะสม และสาม ไม่หยุดคิดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

วิธีคิดอย่างยืดหยุ่นคือความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้าใจ ยอมรับ และปรับใช้ให้เป็นประโยชน์

ต่อจากนี้อาจจะไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะทุกปรากฏการณ์มี “ความเป็นไปได้” เสมอ

มีข้อเสนอแนะในบทความต่างๆ อย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการสร้าง Mental Resilience หนึ่งในนั้นคือบทความในนิตยสาร Forbes ที่มีชื่อว่า Seven Ways To Build Your Mental Resilience ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในรับมือกับการเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะท้าทายกับสิ่งใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตประจำวัน

อันดับแรกก็คือรำลึกไว้เสมอว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แม้ว่าจะเคยล้มเหลวมากี่ครั้ง เพราะนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดในขณะนั้นที่ทำได้ ให้มั่นใจที่จะเริ่มต้นใหมเสมอ สอง ฝึกทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ดี แม้ว่าการพัฒนาจุดแข็งจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่าย และรวดเร็ว แต่ในสถานการณ์ที่พลิกผัน จุดแข็งที่เคยมีอาจกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ สาม อย่าจมปลักอยู่กับความไม่พึงพอใจ อย่าตกเป็นเหยื่อของใครที่ทำให้ไม่มีความสุข ความยืดหยุ่นจะไม่เกิดขึ้นได้เลยในอารมณ์แบบนั้น

สี่ หัดมองในมุมของคนอื่น เมื่อมีการตัดสินใจ และความคิดเห็นของคุณไม่ได้รับเลือก ให้ยอมรับ วิเคราะห์มุมที่ได้รับเลือก เพื่อการเรียนรู้ เพราะการตัดสินใจใดๆ ย่อมต้องเลือกในสิ่งที่ดีที่สุด ห้า เตรียมใจสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายซึ่งอาจเกิดได้ทุกเมื่อ แต่ให้ยังคงมีหวังที่จะได้พบสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ หก ภาคภูมิใจกับความสำเร็จ และเรียนรู้จากความล้มเหลว

สุดท้าย เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ให้บอกกับตัวเองว่า “ฉันเอามันอยู่”  Henry Ford กล่าวไว้ว่า คุณคิดอย่างไร ก็จะเป็นไปอย่างนั้น เมื่อคุณเผชิญหน้ากับความยากลำบาก จงคิดเสมอว่าคุณเอามันอยู่ คุณก็จะเอามันอยู่จริงๆ

ทั้งเจ็ดข้อนี้คือทักษะชีวิต ที่จะทำให้วุฒิภาวะเติบโต ( Maturity Level)  มีความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง มั่นใจได้ว่าไม่ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเลวร้ายแค่ไหน ก็ “เอาอยู่” และมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เสมอ แม้ว่าจะล้มเหลวมาสักกี่ครั้งก็ตาม

“ความยืดหยุ่น” จึงเป็นทักษะที่เกิดจากการเรียนรู้ ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เสมือนการออกกำลังกาย วิธีคิดทั้งเจ็ดข้อต้องมีตัวช่วยสำคัญคือสติ ที่จะนำไปสู่ปัญญา จึงไม่น่าแปลกใจที่คนฝั่งตะวันตกหันมาฝึกสมาธิอย่างจริงจัง และเริ่มฝึกกันตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กในหลายโรงเรียน

เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันข้างหน้า แต่ขอให้บอกตัวเองว่า พร้อมแล้วที่จะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบจากความสามารถในการปรับตัวอย่างยืดหยุ่นของเราเอง

ข้อมูลอ้างอิง ; https://www.forbes.com/sites/sallypercy/2018/07/21/seven-ways-to-build-your-mental-resilience/#6974ef0961cd




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น