ในยุคสมัยที่ CSR เป็นตรายางขององค์กร ปรากฏเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลงานของผู้บริหารระดับสูง การรายงานผลลัพธ์มักจะวนอยู่กับจำนวนกิจกรรมและจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพราะถ้าวัดผลจากตัวกิจกรรมจะต้องใช้เวลาให้ผลปรากฎ ซึ่งไม่ทันกับการนำไปประกอบผลการปฏิบัติงานในแต่ละปี
ความกังวลของผู้บริหารเกี่ยวกับผลลัพธ์ ทำให้ละเลยสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการ” แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีกระบวนการที่ออกแบบอย่างรอบคอบ เพื่อไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ
ขณะที่ CSR ในวันนี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการวิธีคิดใหม่ๆ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่กำลังรุมเร้า เพิ่มระดับความร้อนแรงขึ้นทุกวัน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการออกแบบกระบวนการนั่นเอง
องค์กรต้องตัดสินใจเลือกประเด็นหลักในการทำ CSR ให้ชัดเจนเป็นขั้นตอนแรก ข้อพิจารณาในการเลือกก็คือประเด็นที่องค์กรมีทักษะในเรื่องนั้นอยู่บ้าง หรือมีความสนใจเป็นพิเศษ หรือมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน เพราะธุรกิจต้องอยู่ร่วมกับชุมชน การใช้ทรัพยากรร่วมกัน ย่อมเกิดผลกระทบไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนก็ยังเป็นประเด็นที่กว้าง และยังคงเป็นนามธรรม องค์กรต้องพิจารณาต่อไปว่าชุมชนเป้าหมายนั้นมีปัญหาอะไร แล้วนำมาจัดลำดับความสำคัญหรือความเร่งด่วน แล้วเลือกประเด็นที่ชัดขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
แน่นอนว่าเป้าหมายสุดท้ายของการทำ CSR ก็คือองค์กรได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม ทำให้การทำธุรกิจมีความยั่งยืน แต่การไปถึงเป้าหมายนั้นคือการหาคำตอบให้ได้ว่าอะไรที่จะทำให้ชุมชนและสังคมยอมรับ นั่นคือหมุดหมายแรกก่อนจะไปถึงเป้าหมายสุดท้าย
การออกแบบกระบวนการนั้นจึงต้องมีต้นทางและปลายทางที่ชัด แล้วจึงมาพิจารณาองค์ประกอบของกระบวนการที่จะทำให้เป้าหมายไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่ คน ทรัพยากร และวิธีการ
คนขององค์กรที่จะรับผิดชอบงาน CSR มีทัศนคติที่ถูกต้องหรือไม่ เข้าใจแนวคิดในการทำ CSR ชัดเจนหรือไม่ มีความรู้ความสามารถเพียงพอในโครงการที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ความรู้ความสามารถนั้นไม่ได้หมายถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพราะบทบาทของคนทำงานนี้คือ Facilitator ดังนั้นความรู้ความสามารถที่จำเป็นก็คือการบริหารโครงการ การประสานงาน การคิดวิเคราะห์ และการคิดเชิงระบบ
ทรัพยากรที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง นอกจากงบประมาณ ทุนมนุษย์ขององค์กร เทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องใช้ที่องค์กรมีอยู่ สามารถนำมาใช้ในการดำเนินโครงการได้หรือไม่
สุดท้ายการกำหนดวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ต้องใช้กระบวนการทำงานวิจัยเข้ามาเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งอาจจะมาจากการเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดีหรือ Best Practices
แต่ละขั้นตอนในกระบวนการดังกล่าวต้องมีการออกแบบให้เหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ การเลือกใช้เครื่องมือ เครือข่าย องค์ความรู้ ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันไปสู่ความสำเร็จได้ง่ายขึ้น
อมาร์ตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์และปรัชญาชาวอินเดียกล่าวไว้ในหนังสือ ‘The Idea of Justice’ ว่าการใส่ใจแต่เพียงผลลัพธ์ไม่อาจช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ผลลัพธ์นั้นถูกตีความหมายไว้คับแคบ และเสนอว่าจะต้องใส่ใจกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ผลลัพธ์ที่ครอบคลุม’ (Comprehensive Outcomes) ซึ่งรวมแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์อีกสามประการเข้ามาพิจารณา คือกระบวนการในการได้ผลลัพธ์ ความรับผิดชอบต่อการกระทำ และความสัมพันธ์ของมนุษย์
แน่นอนว่าการทำงานอย่างมีกระบวนการดังกล่าวมีความซับซ้อน ใช้เวลา โดยเฉพาะการออกแบบกระบวนการต้องมีข้อมูลรอบด้าน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งทำให้องค์กรส่วนใหญ่ไม่สามารถอดทนรอคอยได้ เพราะต้องการได้ผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว การทำ CSR จึงไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้กับสังคมได้
เพราะเส้นทางที่ไปสู่ผลลัพธ์นั้นก้าวข้ามสิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือการออกแบบกระบวนการนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง ; https://www.the101.world/amsterdam-and-the-idea-of-justice/