15 กุมภาพันธ์ 2019

 

สังคมไทยเวลานี้มีหลายคนลุกขึ้นมาวิพากษ์ระบบการศึกษาไทยกันอย่างเอิกเกริกเลยทีเดียว นับว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกที่จะทำให้เราก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างมีความหวัง

เพราะโลกธุรกิจและการทำงานในยุคดิจิทัลต้องการความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งระบบการศึกษาไทยไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้เลย

ทักษะสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานในศตวรรษที่ 21 คือความสามารถในการคิด  ได้แก่ การคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา การมีวิจารณญาณ การสื่อสาร การเข้าสังคม การปรับตัว ฯลฯ ทักษะเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้คนยังคงเหนือกว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เข้ามาแทนที่คนในการทำงาน

ขณะเดียวกับที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวในทุกๆ ด้าน จากแรงขับเคลื่อนของเทคโนโลยี ธุรกิจจึงต้องการคนที่มีความรู้รอบ หลากหลายในงานที่เกี่ยวข้อง มากกว่าความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น วิศวกรรมก็ต้องรู้ด้านสังคมศาสตร์ ส่วนนักสังคมศาสตร์ก็ต้องมีความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย เป็นต้น

Salman Khan ผู้ก่อตั้ง Khan Academy กล่าวถึงรูปแบบการศึกษาในปี 2026 ว่า เทคโนโลยีจะเปิดโอกาสให้คนแสวงหาความรู้ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น เช่น Google มีหลักสูตร Google IT Support ซึ่งเป็นแนวโน้มสำคัญที่ธุรกิจขนาดใหญ่จะสร้างหลักสูตรของตนเองขึ้นมา เพื่อสร้างคนทำงานให้ตรงตามความต้องการในประเทศไทย ได้แก่ สถาบันปัญญาภิวัฒน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อผลิตบุคลากรรองรับธุรกิจค้าปลีก

เนื่องจากการเรียนในระบบการศึกษาเดิมใช้เวลานานมาก และมีโอกาสตกงานสูงเพราะความสามารถไม่ตรงตามความต้องการขององค์กร จึงมีแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่จะเรียนด้วยตนเองพร้อมกับการทำงานเพื่อสะสมทักษะและประสบการณ์ ทำให้ Portfolio มีความน่าสนใจ

ตัวอย่างความสำเร็จของคนหลายคนที่ไม่ได้มาจากห้องเรียน โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น งาน Visual Effect ของคุณวงดำเลิง วงศ์สวรรค์ ผู้สร้างสรรค์เทคนิคที่น่าตื่นตาตื่นใจในภาพยนต์ของฮอลลีวูดกว่า 70 เรื่อง ทำให้ผู้ชมเห็นภาพระเบิดที่ทำลายเมืองทั้งเมือง กองทัพทหารที่มืดฟ้ามัวดิน ทำให้หน้าตาของนักแสดงเป็นได้ทั้งคนแก่ที่เหี่ยวย่น จนถึงกลายเป็นทารก รวมถึงการรีทัชหน้าตาและรูปร่างให้สวยสดงดงามดังใจ ชื่อของ ‘Loeng Wong-Savun’ จึงอยู่บนฐานข้อมูลของภาพยนต์ทั่วโลก

คุณสุรชัย พุฒิกุลางกูร ผู้สร้างภาพงานประกอบโฆษณา หรือ illustrator ที่กวาดรางวัลมาแล้วทั่วโลก ภาพที่สร้างสรรค์จากคอมพิวเตอร์ ทำให้ก้าวข้ามข้อจำกัดทุกอย่าง และเสมือนจริงจนสัมผัสได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกในทุกภาพ “ผมชอบการแข่งขัน ชอบการค้นคว้า” น่าจะเป็นปัจจัยในความสำเร็จของเขา

ความง่ายของการค้นหาข้อมูลในโลกออนไลน์เป็นข้อในเปรียบของการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล มีทั้งรูปแบบที่เป็นข้อความอธิบาย วิธีการปฏิบัติที่แสดงให้เห็นในวิดีโอ ตัวอย่างความสำเร็จที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ การเข้าถึงกลุ่มที่มีความสนใจร่วมกัน ซึ่งอยู่ในรูปกิจกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นับว่าเป็นความรู้ฟรีที่มีอยู่มากมาย

Stratup หนุ่มสาวรุ่นใหม่หลายคนก็สร้างธุรกิจจากการเรียนรู้ข้อมูลรอบตัวในโลกออนไลน์ ที่เชื่อมโยงเข้าสู่แหล่งข้อมูลจริง กลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน จนเกิดเป็นธุรกิจบนแพลตฟอร์มใหม่ เช่น Greenery กลุ่มคนรุ่นใหม่ใส่ใจในเรื่องอาหารปลอดภัย เชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคผ่านการจัดกิจกรรมตลาดสีเขียวไปตามสถานที่ต่างๆ ใจกลางเมือง สื่อสารกับผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการจัดเสวนา และใช้สื่อออนไลน์

Local Alike กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่เข้ามาสร้างโมเดลใหม่เพื่อธุรกิจยั่งยืน ด้วยการทำงานร่วมกับชุมชน นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับชุมชน นำแนวคิดการบริหารจัดการสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาดั้งเดิม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัฒนธรรมท้องถิ่น

World Development Report 2019 ของธนาคารโลกหยิบประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพที่กำลังเกิดขึ้น หลังจากวิพาษ์ระบบการศึกษาทั่วโลกในรายงานปีที่ผ่านมาว่าไม่สามารถปรับตัวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

ความรู้ที่มีอยู่รอบตัวจึงเป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม

ข้อมูลอ้างอิง : https://www.ceoblog.co/salman-khan-prediction/?fbclid=IwAR0RgiRmEDLV9XcePJ5Yx1f1fMb_1bsW7eY2t-gmy6RzRdfNZJZHTBUA580 https://readthecloud.co




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น