3 มิถุนายน 2019

สถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้ กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ การเสริมสร้างทักษะอนาคตให้แก่บุคลากร เพื่อตอบรับการพัฒนาในยุคแห่งความผันผวน แต่จำเป็นต้องมีการสนับสนุนทักษะด้าน Soft Skill ควบคู่ไปด้วยกัน เพราะถือเป็นอีกหนึ่งคำตอบแห่งการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในภายภาคหน้า

ในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนแรงงานมนุษย์หรือไม่ ?       หมายรวมถึงเทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือมากกว่านั้น  คำถามที่มักมีข้อถกถียงกันมากในปัจจุบัน  ซึ่งแท้จริงแล้วแรงงานมนุษย์ยังคงอยู่ในกระบวนการของงาน เพราะในสถานการณ์จริง แม้จะมีแรงงานหุ่นยนต์มาช่วยทำงานแต่ก็เพียงช่วยลดภาระงานเดิมลงบ้างแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

ทักษะด้าน Soft Skill เช่น ความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การคิดเพื่อการแก้ปัญหา (Problem Solving) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ถือเป็นทักษะชั้นนำสำหรับปี 2020

ด้วยสภาพการแข่งขันทางธุรกิจ กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ การใช้เทคโนโลยีใหม่  และวิธีการใหม่ในการทำงาน  ส่งผลให้พนักงานจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้  หุ่นยนต์สามารถช่วยให้เราไปถึงจุดที่เราต้องการได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่สามารถคิดสร้างสรรค์ได้เหมือนมนุษย์ ดังนั้น แรงงานคน จึงยังมีบทบาทสำคัญในภารกิจนี้อยู่  เพราะแม้ว่าหุ่นยนต์จะสามารถรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลและตีความผลลัพธ์ได้ดีกว่ามนุษย์ รวมถึงสามารถอ่านข้อมูลได้อย่างถูกต้องและเร็วกว่า แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ได้  มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่สามารถกระทำเช่นนั้นได้

 ดังนั้น หากพนักงานต้องการแสดงให้เห็นถึงบาททสำคัญในงานของตน  ควรต้องให้ความสำคัญกับในบางทักษะที่หุ่นยนต์มีปัญหา อาทิ การทำความเข้าใจผู้ร่วมสนทนา ทักษะทางอารมณ์  การสร้างแรงจูงใจและการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ตัวอย่าง หุ่นยนต์สามารถวินิจฉัยความเจ็บป่วย และให้คำแนะนำเพื่อทำการรักษา   ได้ดีกว่าแพทย์  อย่างไรก็ตาม หากแพทย์เป็นผู้รักษาจะมีโอกาสซักถามและเข้าใจสถานการณ์ชีวิตของพวกเขาเช่น การเงิน ครอบครัวและคุณภาพชีวิต เพื่อช่วยในการกำหนดแผนและแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยได้ดีมากกว่า

ทักษะด้าน Soft Skill ที่มีความสำคัญในทศวรรษหน้าเช่นกัน คือ ทักษะการโน้มน้าวใจ (Persuasion) ความเข้าใจทางสังคม (Social Understanding)  และการเอาใจใส่ (Empathy) ซึ่งเป็นทักษะที่เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนระหว่างหุ่นยนต์กับคน  และถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทีม HR ต้องตระหนักถึง เพราะ พนักงาน ถือเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่ามากเกินกว่าทรัพยากรอื่น ๆ ขององค์กร     แนวคิด (Mindset)  ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ความใฝ่ฝัน (Ambition) และศักยภาพ (Potential) ถือเป็นคุณค่าและคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละคน พวกเขาจึงเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ขององค์กร  ซึ่ง HR ควรต้องให้ความสำคัญกับพนักงานเพื่อสร้างประสบการณ์และความรู้สึกที่ดีในการทำงานสำหรับพวกเขา อันจะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในงาน ความรู้สึกเป็นเจ้าของงานและประสิทธิผลของงานที่สูงขึ้น

Kriti Sharma รองประธานฝ่าย Bots and Artificial Intelligence ของ Sage กล่าวอธิบายว่า Bots ไม่ได้ทำวิจัยเพื่อให้หุ่นยนต์ทำงานแทนแรงงานมนุษย์ แต่เป็นการช่วยวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางที่ช่วยให้พนักงานได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้เทคโนโลยีในการทำงานและสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นสำหรับธุรกิจ ตัวอย่างที่ Sage People ได้สาธิตการใช้ chatbot เพื่อให้พนักงานสามารถสำรองเวลาว่างเพื่อเพิ่มเวลาว่างในการทำงานของพนักงานและทีมงาน เพื่อปรับปรุงการทำงานของพนักงานให้กระชับและคล่องตัวขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาเพื่อกรอกแบบฟอร์มและส่งไปที่ HR แล้วต้องรอการตอบกลับกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาหลายนาที

เราคงไม่สามารถกำจัด ‘มนุษย์’ ออกจากงานบริหารทรัพยากรบุคคลได้อย่างเด็ดขาด แต่ในเร็ว ๆ นี้ งาน HR จะมีการเปลี่ยนแปลง  แน่นอนที่หุ่นยนต์สามารถช่วยลดภาระงานลงได้หลายอย่าง แต่นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่พนักงานรุ่นใหม่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ทักษะด้าน Soft Skills เพิ่มเติม เพื่อรับมือกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บทบาทของหุ่นยนต์ คือ ช่วยให้พนักงานตัดสินใจได้ดีขึ้นและตัดสินใจได้เร็วขึ้นตาม  กลยุทธ์ทางธุรกิจ  ไม่ใช่เพื่อแทนที่การทำงานของพวกเขาทั้งหมด นี่คือบทบาทที่สามารถเป็นประโยชน์สำหรับทีม HR และ พนักงาน

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เรายกเลิกการทำงานแบบช่วงทศวรรษที่ 1980 ไปแล้ว และกำลังโบกมือลางานบริหารทรัพยากรมนุษย์แบบเดิม ๆ โดยแสดงให้เห็นว่า พนักงานเป็นมากกว่าทรัพยากรขององค์กร สำหรับการทำธุรกิจในยุคใหม่ ผู้บริหารต้องมุ่งเน้นและเปิดโอกาสให้พนักงานได้คิดวิเคราะห์ ในขณะเดียวกันต้องสามารถตอบสนองกลับผลลัพธ์ไปยังพนักงานได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ด้วยการออกแบบวิธีการทำงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีหุ่นยนต์มาช่วยผ่อนภาระงาน ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงานและเห็นผลกระทบที่รวดเร็วขึ้นในการมีส่วนร่วมและผลการดำเนินงาน

หุ่นยนต์ ไม่ได้กำลังมา เพราะปัจจุบันมันได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานของเราแล้วเรียบร้อย  ดังนั้น  สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เพียงตระหนักว่าแรงงานควรมีทักษะและพัฒนาการอย่างไรเท่านั้น  แต่ทีม HR และ พนักงาน จะต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไรด้วย

ที่มา : https://www.sagepeople.com/about-us/news-hub/what-skills-will-the-workers-of-the-future-need-to-develop/




Writer

โดย ธนัญญา สุธรรมชัย

นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ส่วนการตลาด
ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ