คนรุ่นใหม่ในแอลเอและพอร์ตแลนด์ สหรัฐอเมริกา นำโดยกลุ่มนักประวัติศาสตร์ นักสิทธิมนุษยชน และผู้สืบเชื้อสายจากชนพื้นเมืองเดิม แสดงจุดยืนให้เปลี่ยนวันโคลัมบัสเป็นวันแห่งชนพื้นเมืองด้วยเหตุผลว่าโคลัมบัสไม่ได้ค้นพบอเมริกา แต่เป็นการชักนำให้คนยุโรปเข้ามารุกรานชนพื้นเมือง เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้มีการประกาศยกเลิกวันโคลัมบัสและเปลี่ยนเป็นวันรำลึกถึงชนพื้นเมืองแทนในหลายรัฐ เช่น มลรัฐแคลิฟลอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐแห่งแรก ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนวันดังกล่าวมากกว่า 50 เมืองทั่วสหรัฐอเมริกา
ปรากฏการณ์นี้เป็นสัญญาณของอนาคตที่จะบอกว่าหนึ่งในแนวโน้มของโลกอนาคตที่มาแรงก็คือสิทธิและเสียงของประชาชนจะดังขึ้น และต้องการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งมาจากการได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น เทคโนโลยีทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล แบ่งปันความคิดเห็น การปกครองแบบปิดหูปิดตาประชาชน การใช้อำนาจเผด็จการน่าจะถึงเวลาสาบสูญ
จากงานวิจัยของ Mowat Centre at the School of Public Policy and Governance, University of Toronto ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่มีอิทธิพลต่อการบริหารประเทศในปี 2030 พร้อมคำถามจากประชาชนในประเด็นต่างๆ ที่เห็นถึงความคาดหวังที่ไม่อาจมองข้าม
ประเด็นแรก โครงสร้างประชากรซึ่งส่วนใหญ่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คำถามก็คือบำนาญที่จ่ายให้นั้นจะเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพไปตลอดอายุหรือไม่ รัฐมีแนวทางอย่างไรในการดูแลสวัสดิการกลุ่มประชากรเหล่านี้ ในขณะที่บางประเทศตลาดแรงงานสำหรับคนวัยทำงานอิ่มตัว ส่วนหนึ่งมาจากการที่เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ในหลายตำแหน่งงาน รัฐจะจัดการในเรื่องนี้อย่างไร
แนวโน้มสำคัญประเด็นหนึ่งใน 9 ประเด็นก็คือพลังของปัจเจกชนจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน จากความก้าวหน้าทางการศึกษา สุขอนามัยที่ดีและเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อ การเติบโตของชนชั้นกลางในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่เคยยากจนมาก่อน ทำให้เสียงของประชาชนมีพลังมากขึ้น และเข้ามามีบทบาทในการกำหนดการตัดสินใจในการบริหารจัดการประเทศ ดังนั้นรัฐจึงต้องบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส มีข้อมูลที่สามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ตลอดเวลา สิ่งที่ประชาชนจะตั้งคำถามก็คือ รัฐจะมีแนวทางอย่างไรในการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน จะมีวิธีการอย่างไรในการให้ข้อมูลที่ชัดเจน ในขณะเดียวกันมีวิธีการอย่างไรในการรักษาข้อมูลที่เป็นส่วนตัวของประชาชนให้มีความปลอดภัย
การเปลี่ยนฐานอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกที่ทำให้ประเทศที่ยากจนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันบรรษัทข้ามชาติก็มีอิทธิพลมากขึ้นเช่นกัน รวมทั้งการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ทั้งนอกประเทศและในประเทศ ซึ่งมีส่วนในการทำลายระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น ไปจนถึงระบบนิเวศ ของธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร คำถามของประชาชนก็คือรัฐบาลจะรักษาความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของธุรกิจและประชาชนอย่างไร
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนทรัพยากรยังคงเป็นแนวโน้มที่ประชาชนในปี 2030 คาดหวังว่ารัฐบาลในประเทศของตนจะมีแนวทางการจัดการที่ดี มั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ทั้งด้านสุขภาวะ การป้องกันภัยพิบัติ ประชาชนมีน้ำสะอาดในการใช้อุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอ
ปี 2530 เป็นปีที่สิ้นสุดการดำเนินการเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2015 ในช่วงระยะเวลา 15 ปีของกรอบเวลาดังกล่าวจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของคนเจน Y ที่มีวิธีคิด การใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากรุ่นก่อน ค่านิยม ขนบธรรมเนียมบางประการอาจเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ การยึดถือคุณค่าที่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่น่ายินดีก็คือคนรุ่นนี้มีความสนใจต่อปัญหาสังคมมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน มีความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม มีความพยายามที่จะเข้ามาร่วมแก้ไข
ในปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์และบริการจาก Start up รุ่นใหม่ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าหากกลับไปพิจารณา SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายจะเห็นโอกาสทางธุรกิจที่รออยู่เช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดกลุ่มประเทศฐานล่างปิระมิดที่ยากจน แต่ก็เป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่ามหาศาล กำลังต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่จะทำให้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่เป็นไปตามมาตรฐาน บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่หลายบริษัทเริ่มให้ความสนใจ และจับตลาดนี้อย่างจริงจัง
นับจากนี้ไปอีกเพียง 12 ปี แม้ว่าปัญหาเดิมๆ ยังคงอยู่ แต่วิธีการแก้ไขปัญหาจะเปลี่ยนไป งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าการบริหารจัดการประเทศสำหรับประชาชนในปี 2030 นั้นต้องคำนึงถึงประเด็นใดบ้าง รัฐบาลต้องกำหนดแนวทางอย่างไร เมื่อคนรุ่นใหม่ต้องการมีบทบาทในการร่วมตัดสินใจ ส่งเสียงเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาคาดหวังและพร้อมที่จะผลักดันให้เป็นจริง
ข้อมูลอ้างอิง : https://web.tcdc.or.th/media/publication_lang_file/183/TREND_2019_2P.pdf