19 มิถุนายน 2018

การต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของเครือข่ายปกป้องอันดามันและเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาซึ่งยืดเยื้อมาเป็นปี และล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เครือข่ายผู้คัดค้านก็ต้องออกแรงอีกครั้ง จนฝั่งรัฐบาลต้องยอมล่าถอย โครงการไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นหนึ่งในแผนการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีกำหนดในการเริ่มต้นเดินเครื่องในปี 2564

แนวโน้มตลาดพลังงานของโลก นอกจากจะไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว ยังมีพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่กำลังก้าวเข้ามาแทนที่ ซึ่งนอกจากไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงพลังงานได้มากกว่าอีกด้วย

เช่นที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีประชากรมากกว่า 1.3 พันล้าน คิดเป็น 18% ของประชากรโลก แต่การบริโภคพลังงานไฟฟ้ากลับอยู่ในอัตราต่ำที่สุด เพราะมีประชากรมากว่า 300 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้า และ อีก 250 ล้านคนเข้าถึงได้เพียง 3-4 ชั่วโมงต่อวัน รัฐบาลวางแผนที่จะแก้ไขปัญหานี้ภายใน 5 ปี ด้วยการใช้พลังงานทางเลือกจากแสงอาทิตย์และลม มีบริษัทธุรกิจด้านพลังงานจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปลงทุนคือ The United States Department of Commerce, International Trade Administration (ITA) ด้วยการทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อการตัดสินใจในนโยบาย การออกกฏหมาย การลงทุนในการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งนอกจากภาครัฐแล้ว ยังมีพันธมิตรจากองค์การระหว่างประเทศหลายองค์กร อาทิ World Bank, the IFC Global Environment Fund, U.S. Agency for International Development (USAID), Overseas Private Investment Corporation (OPIC), U.S. Export-Import Bank (EXIM) and the U.S. Trade and Development Agency (USTDA) ในปี 2022 มีความคาดหวังว่าอินเดียจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 100 GW และพลังงานลมได้ 60 GW ซึ่งต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการนำมาใช้กับพลังงานธรรมชาติในการแจกจ่ายกระแสไฟ และเก็บกักพลังงาน

แนวโน้มของความพยายามในการใช้พลังงานทางเลือกแทนพลังงานถ่านหินหรือฟอสซิล เริ่มมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็คือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการใช้พลังงานทั้งสองประเภทที่ผ่านมาสร้างผลกระทบทางลบอย่างปฏิเสธไม่ได้

ธุรกิจใหม่จึงเริ่มเปิดทางให้ผู้ที่มองเห็นโอกาสนี้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการรองรับการใช้พลังงานทางเลือก เช่น การพัฒนาอุปกรณ์เก็บกักพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้พลังงานแบบเดิม คาดการณ์ว่าตลาดของอุปกรณ์เก็บกักพลังงานนี้จะมีมูลค่าถึง 100 พันล้านในปี 2030 จากการลงทุนของบริษัทข้ามชาติอย่าง Siemens และ AES

จากงานวิจัยของ UN Environmental programme (UNEP) ชี้ให้เห็นว่าในปี 2015 ที่ผ่านมา การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนมีปริมาณมากกว่าเชื้อเพลิงถ่านหินและก๊าซถึงสองเท่า และยังพบว่าประเทศกำลังพัฒนามีการลงทุนมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอีกด้วย

แม้แต่ประเทศจีน ที่เคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมากที่สุด ก็กลับมาเป็นผู้สนับสนุนหลักของพลังงานหมุนเวียน โดยเพิ่มการลงทุนอีก 17% เป็นจำนวน 102,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 36% ของยอดการลงทุนรวมทั้งโลก ในขณะที่ยุโรปที่มีส่วนแบ่งเพียงแค่ 6% เท่านั้น

ไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์ The Guardian ก็ได้มอบรางวัลธุรกิจที่ยั่งยืนให้แก่ธุรกิจส่งออกชีสที่ชื่อว่า Wyke Farms ซึ่งได้เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100 % เพื่อลดต้นทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่า 100,000 ปอนด์ต่อเดือน นอกจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ Wyke Farms ยังผลิตกระแสไฟฟ้าจากความร้อนที่ได้จากมูลวัว ขยะชีวภาพ นอกจากจะใช้ในกระบวนการผลิตชีส 14,000 ตันต่อปี ที่ส่งออกไปกว่า 160 ประเทศ ยังสามารถนำพลังงานไฟฟ้าที่เหลือใช้ออกจำหน่ายให้ธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย และได้ขยายโอกาสทางธุรกิจไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น ลงทุนในซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมการผลิตไฟฟ้าและรีไซเคิลน้ำเสีย เป็นต้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการบริโภคพลังงานของโลกกำลังก้าวมาสู่จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ แม้แต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างซาอุดิอาระเบียก็ตระหนักดี จึงให้ความสนใจในการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเป็นสินค้าส่งออกแทนน้ำมันในอนาคตอันใกล้

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับพลังงานสะอาดนี้นอกจากการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็คือ การเป็นพลังงานราคาถูกที่ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย ไม่มีการผูกขาดในแหล่งกำเนิดพลังงานเหมือนพลังงานจากถ่านหินหรือฟอสซิล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข้อมูลอ้างอิง : https://2016.export.gov. , https://www.utilitydive.com. , http://www.salforest.com.

ที่มา : คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น