ถ้าเราพูดถึงเรื่องอนาคต หนูอยากรู้เรื่องอะไรมากที่สุด เป็นการตั้งคำถามที่ไม่ได้ต้องการคำตอบจริงจังนัก ระหว่างเดินทางไปส่งเรียนซัมเมอร์กับเด็กหญิงอายุเพียง 8 ขวบ แต่คำตอบที่ได้มาถึงกับไปไม่ถูกเลยทีเดียว “หนูอยากรู้ว่าถ้ารถที่ไม่มีคนขับจะปลอดภัยไหม”
จำได้ว่าก่อนหน้านี้ เคยเล่าโน่นเล่านี่ให้หลานฟังว่า อีกหน่อยจะมีหุ่นยนต์มาทำงานเป็นแม่บ้านของเรา รถยนต์ก็จะไม่มีคนขับ ทุกคนจะนั่งเป็นผู้โดยสารกันหมด การเข้าอินเทอร์เน็ตก็จะเร็วมากเท่ากับความคิดของเราเลยทีเดียว แต่ไม่เคยพูดด้านลบของเทคโนโลยีเลย เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบ้านเราว่าเวลาคุยกับเด็กก็ต้องพูดมุมสวยงามเข้าไว้ แต่ถ้าถามมาไม่ตอบก็จะเป็นการปิดกั้นจินตนาการเด็กอีก อธิบายลึกเด็กจะเข้าใจไหม คำถามเกิดขึ้นในใจมากมาย ล้วนเป็นเครื่องปิดกั้นความคิดที่เราเรียกว่า mental block ของคนที่ผ่านประสบการณ์มามากสำหรับผู้ใหญ่อย่างพวกเรา 2 ข้อที่เกิดขึ้น คือ การยึดมั่นในความสำเร็จในอดีต เราถูกเลี้ยงดูมาจากพ่อแม่ที่มักจะให้สิ่งดีๆ พูดสิ่งสวยงามกับลูกเสมอ หรือการใช้ความจริงเพียงบางส่วนมาใช้ในการตัดสินใจเรื่องราวทั้งหมดซึ่งในเหตุการณ์นี้ก็คือความคิดที่ว่าเด็กไม่น่าจะเข้าใจอะไรที่ยากๆ ได้ ในที่สุดก็ตอบหลานไปว่า ถ้าบ้านเราจะมีระบบ Driverless หรือระบบไร้คนขับ จะต้องมีสภาพแวดล้อมแบบปิด หมายความว่ายานพาหนะทุกคันจะต้องใช้ระบบนี้ทุกคัน และระบบรองรับการติดต่อระหว่างยานพาหนะแต่ละคันจะต้องดีมาก เขาต้องใช้เทคโนโลยีระดับ 5G ซึ่งตอนนี้เราใช้ระดับ 3G กับ 4G อยู่ ซึ่งอินเทอร์เน็ตตอนนั้นจะเร็วมากเลยและต้องเสถียร หนูเข้าใจแล้วค่ะ ว่าเราต้องออกแบบให้รถทุกคันใช้อุปกรณ์ที่เหมือนกันและเราต้องใช้อินเทอร์เน็ตคุยกันระหว่างรถให้หลบให้หยุดเพราะฉะนั้นอินเทอร์เน็ตจะต้องเร็วและไม่หยุด ติดๆ ขัดๆ เหมือนตอนหนูโหลดยูทูป
นั่นคือคำพูดเด็กที่อยู่เกิดในช่วงหลังปี 2010 หรือปี 2553 เป็น generation หลัง Gen Z ที่มีการตั้งชื่อเรียกว่าเป็น Gen Alpha และจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2575 ตามเกณฑ์ระดับปริญญาตรีในยุคเรา ซึ่งจะเข้าสู่ปลายแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีหรือไทยแลนด์ 4.0 พอดี โดยแผนได้ตั้งเป้าหมายด้านการยกระดับคุณค่าของมนุษย์และความ มั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วยว่าคะแนน PISA Score ของประเทศไทยติด 1 ใน 20 ประเทศแรก มหาวิทยาลัยไทยติด 100 อันดับแรกของโลกอย่างน้อย 5 สถาบัน นักวิทยาศาสตร์ไทยได้รับรางวัล Nobel Prize อย่างน้อย 1 ท่าน และเป็นช่วงที่ประเทศพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูงโดยมีรายได้ต่อหัวประชากรเป็น 15,000 ดอลล่าร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2575 ซึ่งในช่วงเวลานั้นการประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอาจจะวัดหรือไม่ได้วัดด้วยคะแนน PISA รางวัลโนเบลจะยังคงมีหรือได้รับการยอมรับอยู่หรือไม่และต้องยังไม่มีการขยับเกณฑ์รายได้ประชากรต่อหัวขึ้นไปอีก ถ้าสามารถบรรลุตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ก็ต้องถือว่าเป็นช่วงสำคัญของการส่งไม้ต่อการพัฒนาประเทศให้กับ Gen Alpha ต่อไป
โลกของ Gen Alpha ที่มีนัก Futurist วิเคราะห์กันไว้ว่าในปี 2035 หรือ พ.ศ. 2578 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในเชิงแข่งขันและจะสามารถสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็น 2 เท่าในประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก จะมีรถ EV ทั่วโลก 150 ล้านคันและสัดส่วนตลาดรถ EV ที่ใหญ่ที่สุดของโลกจะอยู่ที่ประเทศจีน ในขณะเดียวกัน ยานพาหนะอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles) จะเติบโตมีมูลค่าสูงถึง 8 แสนล้านดอลลาร์ในปีพ.ศ. 2578 และจะมีมูลค่าถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ. 2593 สร้างให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า Passenger Economy ส่งผลให้การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากท้องถนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด Biogas Technology จะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญทางด้านพลังงาน จำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในกรุงลอนดอนจะเพิ่มขึ้น 48% และที่มีอายุมากกว่า 80 ปีจะเพิ่มขึ้น 70% ในปีพ.ศ. 2578
แน่นอนหัวใจของการวิเคราะห์อนาคตเราต้องตระหนักว่าการวิเคราะห์อนาคต (Foresight) ไม่ใช่การทำนายอนาคต (Prediction) เพราะไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต มีกฏ 3 ประการ (The Three Laws of Futures) ที่คุณ Ray Amara อดีตประธานของ Institute for the Future (IFTF.org) ได้กล่าวไว้ว่า อนาคตกำหนดไม่ได้ (The future is not predetermined) ดังนั้นภาพอนาคตจึงสามารถมีได้หลากหลายนับไม่ถ้วน ไม่ใช่เพียงแค่ภาพใดภาพหนึ่ง อนาคตไม่สามารถคาดการณ์ได้ (The future is not predictable) สถานการณ์ในอนาคตเปลี่ยนได้ตลอดเวลา การรับมือกับอนาคตจึงต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย สิ่งที่เลือกทำในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ในอนาคต (Future outcomes can be influenced by our choices in the present) แม้ว่าจะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอย่างแน่นอน แต่เราสามารถเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ต้องการในอนาคตได้ โดยการปั้นอนาคต (Shape the Future) หรือเลือกทำในสิ่งที่ควรทำ คำถามจึงตกมาถึง Gen ในยุคเราว่าเราเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือ ความพร้อมอะไรสำหรับการส่งไม้ต่อในการพัฒนาประเทศให้กับ Gen Alpha บ้าง
ที่มา : คอลัมน์ Think Foresight หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ