6 กันยายน 2017

เราคงได้ยินข่าวการยกเลิกถ่ายทอดสดการแข่งขัน Future of Go Summit ที่ประเทศจีนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะว่า แชมป์โลกโกะที่เปรียบเสมือนตัวแทนมวลมนุษยชาติกำลังพ่ายแพ้ต่อปัญญาประดิษฐ์ AlphaGo ที่พัฒนาโดยบริษัท Google

เรา…กำลังกลัวอะไร เหตุผลของการยกเลิกคืออะไร ไม่รู้ใครรู้นอกจากเจ้าของงาน ถ้ามองในแง่บวก คือ คนที่พัฒนา Machine Learning คนนี้เก่งมากเข้าขั้นอัจฉริยะเลยทีเดียวเพราะ โกะ หมากฮอส หมากรุก เป็นเกมส์ที่เล่นตามสถานการณ์ พลิกแพลงได้ตลอดเวลา แต่ข้อจำกัดของคนคือ ความกลัวที่จะแพ้เพราะแบกรับความคาดหวังจากชาวโลกที่ดูรายการแข่งขัน ความยึดติดกับความสำเร็จในอดีต เช่น เราเคยเดินแบบนี้แล้วชนะทุกครั้ง ทำให้การสร้างสรรค์เกมส์ลดลง อีกทั้งความเครียด ความกังวลล่วงหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ AlphaGo ไม่รู้จัก มองอีกมุมหนึ่งก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีของมนุษยชาติในการพัฒนามันสมองและอารมณ์ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง โดยส่วนตัวเห็นข่าวนี้แล้วไม่กลัวเลย แต่จะเริ่มกลัวก็ต่อเมื่อ ไม่ใช่คนที่พัฒนา Machine Learning แต่เป็น AI Robot หรือ Artificial Intelligence Robot เรียนรู้กันเอง ตราบใดที่เทคโนโลยียังไม่ได้เข้ามาควบคุมมนุษย์แต่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นั่นยังนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว Google ออกงานวิจัยฉบับหนึ่งชื่อ ‘Concrete Problems in AI Safety’ บอกเล่าถึงความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนา AI Robot ในรายงานยังเชื่อว่าหุ่นยนต์เป็นเพื่อนมากกว่าจะครอบครองโลก ถ้าตอนที่เราสร้างหรือพัฒนา AI Robot สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการออกแบบที่ผิดพลาดใน 5 เรื่องดังต่อไปนี้ 1. การไม่สร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อมเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมาย เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาดจะต้องไม่ทำแจกันแตกเพียงแค่ต้องการทำความสะอาดได้เร็วขึ้น 2. การไม่ออกแบบการให้รางวัล ถ้าเรากำหนดโปรแกรมให้รางวัลกับหุ่นยนต์ทำความสะอาด เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าหุ่นยนต์จะไม่เรียนรู้วิธีลัดเพื่อให้ได้รางวัลแทนที่จะทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่น ซุกฝุ่นไว้ใต้พรมเพื่อปกปิดไม่ให้คนเห็น 3. การปฏิบัติงานภายใต้ข้อมูลที่จำกัด หุ่นยนต์ทำความสะอาดจะสามารถแยกความแตกต่างระหว่างของที่มีราคาแพงกับไม่แพงได้อย่างไร เช่น เปลือกท๊อฟฟี่กับเคสมือถือ จะรู้ได้อย่างไรว่าควรกำจัดสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือทั้งหมดเพื่อบรรลุภารกิจในการทำความสะอาด 4. การเรียนรู้ที่ปลอดภัย หุ่นยนต์ทำความสะอาดอาจมีการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการทำความสะอาดของไม้ถูพื้น แต่น้ำกับหุ่นยนต์ทำความสะอาดที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าก็ไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการเรียนรู้ของหุ่นยนต์ทำความสะอาดจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบ 5. การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป เราจะยังมั่นใจในประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างไร ถ้าหุ่นยนต์ทำความสะอาดจะต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยได้รับการเทรนมาก่อน หุ่นยนต์ทำความสะอาดที่ตั้งโปรแกรมให้ทำความสะอาดในพื้นที่ของโรงงานก็จะทำความเสียหายอย่างมากถ้านำมาทำความสะอาดบ้าน นั่นคือสิ่งที่ Google เขาเตือนไว้ แต่…เหรียญมี 2 ด้าน โลกเรามีขาวกับดำ ถ้ามีคนทำตรงข้ามกับสิ่งที่ Google แนะนำไว้ ก็น่าคิดเหมือนกันว่าภาพเหตุการณ์อาจเปลี่ยนไปเหมือนหนังของฮอลลีวู้ดที่หุ่นยนต์ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก แม้ว่า AI Robot จะดูเก่ง ดูฉลาด แต่จากงานวิจัยข้างต้นก็ยังพบข้อจำกัดอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามยังมีทักษะบางอย่างที่ AI Robot อยากมีเหมือนมนุษย์และเป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการในอนาคตอีกด้วย

จากรายงาน Future Work Skill 2020 ของ Institute for the Future for the University of Phoenix Research Institute ได้กล่าวถึง 10 ทักษะงานที่ต้องการในปี 2020 ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามีบางทักษะที่เป็น High-touch Skill ที่เน้นด้านอารมณ์ความรู้สึก เช่น การเอาใจใส่ ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้ออาทร ก็ยังมี     ความพยายามที่จะพัฒนาใน AI Robot ด้วย ทักษะที่พูดถึงนี้คือ Social Intelligence ซึ่งเป็นความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นแบบรู้ข้อมูลเชิงลึกและรู้ว่าจะกระตุ้นปฏิกิริยาอย่างไรเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ต้องการ โดย MIT Media Lab’s ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถแสดงอารมณ์เหมือนกับมนุษย์ได้แล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังข้อจำกัดเพราะอารมณ์ของมนุษย์เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เพราะคำพูด น้ำเสียง ท่าทาง อาจไม่ได้หมายความเหมือนที่แสดงออกมา ดังนั้น IQ ทางด้านสังคมจึงเป็นทักษะที่มนุษย์เรายังเหนือว่า AI Robot แต่ทักษะ Sense-making หรือความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและคาดเดาถึงสิ่งสำคัญที่จะแสดงออกมา เป็นทักษะที่ช่วยในการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ มนุษย์ได้พ่ายแพ้แก่ AI Robot ไปเรียบร้อยแล้วจากการแข่งขันโกะที่ผ่านมา ทักษะอีกตัวที่เรายังเหนือกว่าคือ Cross-cultural Competency คือความสามารถในการทำงานในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เป็นที่ยอมรับกันว่าในโลกที่ไร้รอยต่อทุกวันนี้ เราสามารถทำงานได้ทุกที่ การเข้ามาของคนต่างชาติในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเป็นเรื่องธรรมดามาก การทำงานบนวัฒนธรรมที่แตกต่างเราจะปรับตัวได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม AI Robot ก็มีทักษะงานที่ต้องการในอนาคตหลายตัวแล้วเหมือนกัน อาทิเช่น Computational Thinking, Transdisciplinarity, Design Mindset, Cognitive Load Management     เป็นต้น นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องย้อนถามตัวเองว่าเรามีทักษะเหล่านั้นเหมือน AI Robot แล้วหรือยัง

ที่มา : คอลัมน์ Think Foresight  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 




Writer

โดย นันทพร อังอติชาติ

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ