“พวกเราได้รับโจทย์จากนายสถานีรถไฟ ให้นำเสนอภาพลักษณ์สถานีรถไฟในมุมมองด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว” คำบอกเล่าที่มาของงาน “Memories HuaHin Station of Love” จากกลุ่มกะตอยรัก(ษ์)หัวหิน ซึ่งเป็นฟันเฟืองเล็กๆภาคประชาชนที่สามารถสร้างสรรค์งานย้อนอดีต ด้วยการเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสถานีรถไฟเล็กๆแห่งนี้ จนกลายเป็นความทรงจำอันมีคุณค่าให้ผู้คนในท้องถิ่นระลึกถึงทุกครั้งเมื่อมาเยือน สถานีรถไฟหัวหิน โดยในงานไม่ได้เพียงสร้างสรรค์ให้ เหมือน วิถีชีวิตในวันวาน แต่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อม ที่ส่งผลให้ “คุณค่า” วัฒนธรรมทางภาษา การแต่งกาย อาหารท้องถิ่น รวมถึงการละเล่นพื้นบ้าน อันเป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของท้องถิ่นค่อยๆหายไป จึงเป็นงานรำลึกเรื่องราวอันสวยงาม ที่จะกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ร่วมกันคิดหาแนวทางนำ “ของดี” ในท้องถิ่น ซึ่งมีคุณค่ามากกว่า “สัญญลักษณ์” ให้เกิดประโยชน์กับ วิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการ “การอนุรักษ์อย่างสร้างสรรค์”
เรื่องราวของกิจกรรมข้างต้น ยังทำให้เห็น “การสร้างสรรค์ คุณค่า ร่วมกันของผู้คนหลายกลุ่ม” เริ่มจากการบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ในอดีตของ คุณตาคุณยาย คุณปู่คุณย่า ผู้ยังมีชีวิตอยู่ เชื่อมโยงกับเรื่องราวของคุณลุง คุณป้าผู้อยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากวิถีท้องถิ่นเปิดรับความเจริญจากภายนอก จนเติบโตเป็นเมืองท่องเที่ยว หลอมรวมกับความเป็นจริงในปัจจุบันจากมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ ทำให้ “ความงดงามที่สูญหายไปกลับมามีชีวิตอีกครั้งในรูปแบบที่เหมาะสมกับยุคสมัย อาทิ ขนมซ่อนลูก หรือขนมกะลอจี้ สำหรับงานพิธีมงคลต่างๆ เป็นต้น โดยมีเยาวชนเป็น “คนเล่าเรื่อง” ในแบบฉบับของ “คนหัวคิดทันสมัย” สร้างคุณค่าของสิ่งที่อาจหายไปกับการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาให้กลับมาอยู่ร่วมในยุคสมัยเดียวกันได้อย่างกลมกลืน ที่สำคัญเมื่อร่วมกันสร้างสรรค์ให้เกิดมุมมองที่หลากหลายและแปลกใหม่ ก็ย่อมมีความกล้าที่จะนำเสนอ “ความแตกต่าง” จากรูปแบบเดิมๆ แนวปฏิบัติเดิมๆ และที่สำคัญคือ “ท้าทายสมมติฐาน ความเชื่อเดิมๆ”
อีกหลายชุมชนที่มีความโดดเด่น เป็นที่รู้จัก จนได้รับการยอมรับในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ปัจจุบันกลับไม่สามารถรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน อาทิ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ถ้วยชามตราไก่ของเมืองลำปาก โอ่งเมืองราชบุรี การทำตุ๊กตาชาววัง เป็นต้น ล้วนต้อง “กล้าที่จะสร้างความแตกต่าง ด้วยการท้าทายความเข้าใจเดิมๆ ในตัวผลิตภัณฑ์ เช่น โอ่งอาจเปลี่ยนเป็นเครื่องประดับ หรือเป็นเตาในการทำอาหาร เป็นตู้เย็นเบอร์ 10 และอื่นๆอีกมากมาย แต่ต้องมองให้เห็นคุณค่า มากกว่า ที่เคยใช้ หรือรับรู้กันมา หรือเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน มีดินซึ่งมีคุณสมบัติความพิเศษในการเผาขึ้นรูปให้สีสันที่แปลกตา มีลักษณะเฉพาะ ที่สามารถนำไปประดับตกแต่ง แสดงถึงความมีรสนิยมของผู้ใช้ เป็นการนำเสนอความงดงามของงานฝีมือในมุมมองใหม่
ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นทักษะสำคัญที่ต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจชุมชนที่ต้องพัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้สามารถแข่งขันได้ จึงต้องนำรูปแบบ องค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์มาประกอบ แต่งแต้ม ต่อเติม ให้มีความหลากหลาย จนสามารถกระตุ้นให้เกิดความสนใจและยอมรับจากลูกค้า ซึ่งอาจต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันคิดสร้างสรรค์ จากหลากหลายกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าจนตอบความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า
นอกจากนี้ การมองคุณค่าให้เกินกว่ากรอบที่เคยปฏิบัติกันมา โดยไม่ยึดติดกับเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ หรือความเชื่อว่าลูกค้าไม่ชอบแบบนี้ ชอบแบบนั้น จะทำให้รูปแบบความคิดมีความพิเศษสร้างความน่าสนใจ นำไปสู่การยกระดับสินค้า หรือกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ชุมชนให้ได้รับการยอมรับ อย่างต่อเนื่องจากคนกลุ่มหนึ่ง สู่คนอีกกลุ่ม จากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นต่อไป อย่างไหลรื่น เช่นจากสถานีรถไฟที่ใช้งานในปัจจุบัน อาจกลายเป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ในอนาคต แต่ต้องเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวที่มีชีวิต กระตุ้นให้คนทุกรุ่นยังคงร่วมรักษา ขนบประเพณีที่เป็นมาด้วยการสร้างสรรค์ พัฒนาให้เข้ายุคสมัยอยู่เสมอ ไม่ใช่เพียงภาพนิ่ง ที่หยุดไว้เพียงให้รำลึกเป็นความทรงจำ แต่เป็นภาพเคลื่อนไหว ให้เรื่องดำเนินอยู่อย่างไม่มีวันจบ
ที่มา: คอลัมน์ Think Productivity หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ