15 พฤษภาคม 2017

“อาจารย์คิดว่าการมีป้ายภาษาอังกฤษเพื่อนำเสนอความเป็นมาของสถานที่ท่องเที่ยวยังจำเป็นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือไม่” คำถามง่ายๆจากทีมงานของชุมชนหนึ่ง ที่กำลังสับสนระหว่างการให้ความรู้ผ่านวิธีการเดิมๆกับการให้ข้อมูลรูปแบบใหม่ผ่านการโหลดจากคิวอาร์โค้ดซึ่งมีความทันสมัย และบ่งชี้การพัฒนาด้านนวัตกรรม  แต่สะท้อนให้เห็นวิธีคิดในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่เน้นเทคโนโลยีซึ่งจับต้องมองเห็นได้ จนละเลยพิจารณาเหตุผลรอบด้าน เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย ความพร้อมด้านระบบสารสนเทศน์ ความพร้อมของชุมชน หรือคุณค่าที่จะให้กับนักท่องเที่ยว เป็นต้น จนหลายกิจกรรมกลายเป็นความสูญเปล่าทั้งด้านเวลาในการดำเนินการ เงินลงทุน และทรัพยากร  ทั้งๆ ที่วิธีการเดิมๆ อย่างการสร้างป้ายบอกเล่าเรื่องราว หรือแผนผังเส้นทางท่องเที่ยวแบบฉบับชาวบ้าน  อาจไม่สวยงาม หรูหรา แต่เป็นความร่วมกันคิดร่วมทำของคนในชุมชน จนเกิดความหวงแหน อยากจะบำรุงรักษา ดังนั้นการวัดความเจริญของชุมชนจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ อาจไม่นำไปสู่ความยั่งยืนของวิถีชุมชน ในทางตรงกันข้ามอาจนำไปสู่ความล่มสลายทางวัฒนธรรม ดังนั้นแนวทางการพัฒนานวัตกรรมในชุมชนสู่ความยั่งยืน จึงต้องเริ่มจาก “วิธีคิดรอบด้าน ลึกซึ้ง และเชื่อมโยง”

“คิดรอบด้าน” ค้นหาปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการดำรงอยู่ของชุมชน ทั้งศิลปะ วัฒนธรรมอาหาร การแต่งกาย เช่นหญิงสาวชาวศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จะทอผ้าซิ่นตีนจกไว้สวมใส่ในงานสำคัญต่างๆ ซึ่งจะเป็นสิ่งแสดงถึงความขยัน เอาการเอางาน ยิ่งถ้าลายผ้ามีความละเอียดสวยงามจะเป็นเสน่ห์ให้ได้รับความสนใจและชื่นชมถึงความเป็นแม่ศรีเรือน แต่ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่หญิงสาวรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน ไม่เห็นความจำเป็นต้องสวมผ้าซิ่นออกงาน จึงเห็นความสำคัญของผืนผ้าน้อยลง แต่หากชุมชนสนับสนุนให้มีการสวมใส่ในกิจกรรมสำคัญทางศาสนา หรืองานประเพณี เน้นให้เห็นความงดงามจากการสวมใส่อย่างจริงจัง สรรค์สร้างรูปแบบให้ทันสมัยแปลกตาเหมาะกับคนรุ่นใหม่ และสภาพชุมชนที่เปลี่ยนไป ถึงแม้ปัจจุบัน “ผ้าซิ่นตีนจก” จะกลายเป็นงานฝีมือที่มีราคาจากลวดลายอันงดงาม แต่คุณค่าของผ้าแต่โบราณได้สูญหายไปแล้ว

“คิดลึกซึ้ง” ค้นหาองค์ความรู้ที่ซ่อนอยู่ภายใน ศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา เช่น ความรู้ในการ “จก” ลายผ้า ซึ่งต้องรู้วิธีการใช้อุปกรณ์ การเลือกด้ายหรือไหม ไปจนถึงการเลือกลายให้เหมาะกับการเรียนรู้ อย่างลายเครือน้อย เป็นลายง่ายๆ มีลายประกอบไม่มาก เป็นลายให้เด็กหญิงฝึกหัดทำตีนจก สำหรับลายเครือกลาง เป็นลายหลักที่มีกรอบรูปร่างลายเครือน้อยเพียงแต่มีความยากเย็นในการจกลายเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งแต่ละลายก็จะเหมาะในการนำไปต่อ “หัวซิ่น ตีนซิ่น” ต่างกันนอกจากนี้บางลายยีงสื่อถึงวิถีความเชื่อของคนในชุมชน อาทิ ลายนกคุ้ม เป็นลายที่มีความหมายถึงการอยู่คุ้มเหย้าคุ้มเรือนคุ้มผัวคุ้มเมีย บังเกิดความเป็นสิริมงคลต่อชีวิตคู่ การครองรักการครองเรือน ซึ่งหาก “องค์ความรู้” และเรื่องราวของการทอผ้าซิ่นตีนจนถูกนำไปต่อยอด ในผลิตภัณฑ์สมัยใหม่อื่นๆ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ตัวอย่างนำไปทำเป็นของชำร่วยในงานแต่งงาน ย่อมทำให้ ลวดลาย โบราณเหล่านี้ได้รับการจดจำ ซึมซับคุณค่า ไม่ใช่เพียงชื่นชมว่า “สวย”

“คิดเชื่อมโยง” ค้นหาความเกี่ยวข้องของ ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม กับวิถีการดำรงชีวิต เช่น ผ้าซิ่นตีนจก เป็นสื่อแสดงถึงความเป็นกุลสตรีของหญิงสาว ซึ่งยังไม่แต่งงาน เพื่อใช้ดึงดูดความสนใจและยอมรับจากผู้คนในชุมชน ด้วยโอกาสที่หนุ่มสาวจะมาพบปะกัน ก็เฉพาะช่วงงานบุญ หรืองานประเพณีสำคัญ ดังนั้น ผ้าซิ่นตีนจก จึงเป็นสื่อแสดงให้เห็นตัวตนของหญิงสาว ซึ่งเมื่อแต่งงานแล้วก็จะไม่สวมใส่กัน แต่เมื่อกลายเป็นสินค้า “ความเชื่อเหล่านี้ก็หายไป” ทั้งที่ควรนำมาเชื่อมโยงกับวิถีของคนรุ่นใหม่ ด้วยการสนับสนุนให้ “สาวสมัยใหม่นุ่งซิ่นตีนจก” เป็นเอกลักษณ์ของสาวศรีสัชนาลัยผู้งดงามทั้งใจและกาย ฉะนั้น “ผ้าซิ้นตีนจก” จะไม่ใช่แค่สินค้าสวยงาม แต่เป็นสัญญลักษณ์ของความเป็น “กุลสตรี”

จะเห็นได้ว่า “วิธีคิดรอบด้าน ลึกซึ้ง และเชื่อมโยง” ทำให้มองเห็นการนำคุณค่าของ ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบประเพณีไปสร้างโอกาส ในหลากหลายรูปแบบ โดยยังคงรักษา “เอกลักษณ์” เฉพาะของท้องถิ่นอย่างมั่นคง และนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนให้เกิดความน่าสนใจ สะดวกและง่ายในการเรียนรู้ อย่างที่ตัวแทนชุมชนท่านหนึ่งบอกว่า “ถ้านักท่องเที่ยวอยากทราบประวัติ โบสถ์โบราณ ก็ให้ถามเจ้าอาวาส” งั้นก็ต้องทำให้ใครๆ ก็ต้องฟังเจ้าอาวาสได้ทุกที่ ทุกที่เวลา โจทย์ที่ชุมชนต้องคิด เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมอย่างยั่งยืน

(อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.sathorngoldtextilemuseum.com/)

ที่มา: คอลัมน์ Think Productivity หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

 

 

 




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ