ขณะที่รัฐบาลประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นำประเทศไปสู่บริบทใหม่เพื่อก้าวให้ทันโลก โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนที่สำคัญ ไปพร้อมกับการพัฒนาคนมีศักยภาพสูงกว่าเครื่องจักรกล
แต่ในความเป็นจริง กลุ่มทุนใหญ่ๆ มีการปรับเปลี่ยนองค์กรล่วงหน้าไปหลายปีแล้ว และพร้อมก้าวไปสู่โอกาสที่เปิดทางสำหรับผู้ที่เข้าถึงก่อนคนอื่น ในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมาจึงมีมหาเศรษฐีพันล้านของไทยเพื่อขึ้นจาก 5 คนเป็น 28 คน และในปี พ.ศ. 2558 ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีเหล่านี้รวมกันเป็นเงินถึง 91.42 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
แต่ในขณะเดียวกัน ประชากรร้อยละ 10 หรือประมาณ 7 ล้านคนยังก้าวไม่พ้นเส้นความยากจน ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรส่วนใหญ่กับกลุ่มคนที่รวยที่สุดกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณการว่ารายได้ในปีเดียวของบุคคลที่มั่งคั่งที่สุดเพียงคนเดียว สามารถลดความยากจนทั้งประเทศได้เป็นเวลา 1 ปี
ความเหลื่อมล้ำมีหลายด้าน เช่น ด้านการทำงานและค่าจ้าง ด้านการศึกษาและการบริการสุขภาพ ด้านการใช้ทรัพยากรซึ่งเกี่ยวพันกับด้านการใช้อำนาจ ผู้ที่สนใจในรายละเอียดของข้อมูลสามารถเข้าไปดูได้ที่www. oxfam.or.th ข้อมูลที่เห็นมีตัวเลขที่น่าตกใจทีเดียวว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ข้อมูลดังกล่าวมีประโยชน์มากถ้านำมาใช้ในการแก้ปัญหาให้ถูกทาง แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่านโยบายแต่ละด้านที่กำลังดำเนินการกลับเหมือนดึงช่องว่างให้ห่างจากกันไปเรื่อยๆ ด้วยการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหญ่และปิดโอกาสกลุ่มทุนน้อยจนถึงผู้ด้อยโอกาส
อย่าไปหลงทางกับการเร่งตัวเลขการส่งออก กับ GDP เพราะทั้งสองตัวเลขไม่ได้สะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมแต่อย่างใด ตัวเลขเหล่านั้นอาจจะดูดี มีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่ถ้าความยากจนยังคงมีเปอร์เซ็นต์สูงเป็นเงาตามตัว สังคมก็กำลังไปสู่จุดวิกฤติได้ ปัญหาอาชญากรรม การก่อการร้าย จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ปัญหาที่ว่าประเทศไทยยังก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง อาจเป็นรองปัญหาความเหลื่อมล้ำไปเสียแล้ว ทำไมชาวกระบี่จึงออกมาต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำไมคนเชียงของจึงคัดค้านการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง นี่เป็นตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจด้านการใช้ทรัพยากรอย่างเห็นได้ชัดที่สุด
รายงานวิจัยจากต่างประเทศหลายฉบับชี้ให้เห็นชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีผลโดยตรงต่อความยากจน จากผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม โดยยังไม่ได้นับรวมการทำลายสิ่งแวดล้อมจากการลงทุนด้านอุตสาหกรรม
แม้จะดูเหมือนว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นมาจากโครงสร้างทางสังคมและนโยบายการบริหารประเทศเป็นหลัก แต่ปัจเจกชนหรือองค์กรธุรกิจก็มีส่วนที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ด้วยนโยบาย CSR ขององค์กรโดยเริ่มต้นจากการศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เข้าใจ และกำหนดประเด็นที่องค์กรมีศักยภาพที่จะเข้าไปดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีกรณีศึกษาจากต่างประเทศมากมายที่ทำให้เห็นถึงการสร้างโอกาสสำหรับผู้คนเหล่านี้ เริ่มต้นในกลุ่มคนเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในวงกว้างได้ในที่สุด จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง เพียงแค่ลงมือทำ
และที่สำคัญไปกว่านั้นคือนโยบายในการทำธุรกิจขององค์กรเอง เช่น การปฏิบัติต่อลูกค้าและคู่ค้าอย่างมีจริยธรรม การดูแลพนักงานให้มีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม มีความก้าวหน้าในสายอาชีพ ปลูกฝังค่านิยมด้านจิตสาธารณะ เพื่อส่งต่อแนวคิดการลดความเหลื่อมล้ำออกไปในสังคม การดูแลกระบวนการผลิตและบริการไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการเอาเปรียบในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น เพราะปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ทั้งสิ้น
ธนาคารโลกเผยแพร่เอกสาร Vietnam 2035: Toward Prosperity, Creativity, Equity, and Democracy โดยหนึ่งในเสาหลักที่กำหนดไว้ก็คือการส่งเสริมความทัดเทียม และทุกภาคส่วนของสังคมได้ประโยชน์ เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความเท่าเทียม เริ่มจากการจัดสรรที่ดินที่ยุติธรรมในปลายทศวรรษ 1980 และการให้บริการพื้นฐานของรัฐด้านสาธารณสุขและการศึกษา
การก้าวไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 โดยทิ้งปัญหาความเหลื่อมล้ำไว้หลังบ้าน จะเป็นเพียงภาพลวงตาโดยสิ้นเชิง หากสังคมยังคุกกรุ่นด้วยความขัดแย้ง และความยากจนของคนในประเทศ
ข้อมูลอ้างอิง http://thaipublica.org/2017/02/pridi32/
ที่มา: คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ