ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นสถานการณ์ที่ทำให้อุตสาหกรรมผู้ผลิตน้ำมันและประเทศผู้ผลิตน้ำมันสั่นสะเทือนอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำมันราคาขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตลาดโลกกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ เมื่อยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจเริ่มก้าวเดินช้าลง ความเป็นเมืองที่ขยายตัวไปยังประเทศกำลังพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของโลก ทำให้เกิดตลาดใหม่ขึ้นมาแทนที่ตลาดเก่าซึ่งกำลังซื้อถดถอย
นักวิจัยด้านการวิเคราะห์ภาพอนาคตจึงได้นำเอาเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มาหาสาเหตุที่เป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อดูแนวโน้มของอนาคตด้วยการสร้างภาพร่างหรือภาพอนาคต (scenario) ที่คาดว่าจะมีความเป็นไปได้ เสมือนมีแสงนำทางในความมืดมิด
ภาพอนาคตจึงเริ่มต้นที่การตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ เช่น ทีมนักวิจัยของ McKincy ตั้งคำถามว่า”เรากำลังอยู่บนเส้นทางอันขรุขระใช่หรือไม่ ความขรุขระนั้นเป็นอย่างไร และจะอยู่ยาวนานแค่ไหน”
จากคำถามนี้นักวิจัยได้กำหนดกรอบเวลาไว้เป็นเวลา 10 ปีคือจากปี 2015-2025 เมื่อนำเอาเหตุการณ์ต่างๆ มาวิเคราะห์หาแรงขับเคลื่อนที่จะเป็นปัจจัยสำคัญของแนวโน้มในอนาคตได้แล้ว นักวิจัยจึงร่างภาพอนาคตขึ้นมา 4 ภาพ
ภาพที่ 1 เป็นภาพที่โลกาภิวัตน์ยังคงมีความแข็งแกร่ง มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจยังเป็นหน้าเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น รวมทั้งจีนและอินเดียที่เติบโตก้าวหน้ามาติดๆ อัตราการว่างงานจะลดลง รวมทั้งมีการจ้างแรงงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นด้วย
ภาพที่ 2 นั้นแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการเติบโต แต่เป็นการเติบโตที่ไม่เคลื่อนที่ไปทิศทางเดียวกัน กล่าวคือสหรัฐอเมริกา จีนและอินเดียอยู่ในกลุ่มของประเทศที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ในขณะที่สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นหยุดชะงัก การค้าระหว่างประเทศเริ่มชะลอตัว เกิดปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและวัตถุดิบทางการเกษตรที่ข้อตกลงทางการค้าไม่สามารถจัดการได้ นักลงทุนเริ่มขาดความมั่นใจ
ภาพที่ 3 นั้นเป็นภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง ในปี 2025 จีนยังคงครองสัดส่วนเกือบ 23% ของ GDP โลก ยุโรปและสหรัฐอเมริการมีโอกาสในธุรกิจบริการทางการเงิน แต่การค้าในระดับโลกก็ยังคงมีความสำคัญในภาพนี้ ส่วนภาพสุดท้ายนั้นเป็นภาพเชิงลบ ที่วิกฤติเศษฐกิจเกิดขึ้น เคลื่อนที่ไปจนไม่สามารถกลับมาสู่ความยั่งยืนได้อีก
ตัวอย่างจากภาพอนาคตทั้ง 4 นั้นสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นทางเลือกของการวางนโยบายทั้งในระดับประเทศและองค์กร ที่จะนำมาวิเคราะห์ต่อไปว่าภาพใดมีความใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด นำไปสู่การวางกลยุทธ์และกำหนดแผนดำเนินการ
สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการร่างภาพอนาคตสังคมไทยเช่นกัน ซึ่งจัดทำโดยแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ฉากทัศน์ชีวิตคนไทย พุทธศักราช 2576” ด้วยวิธีการเดียวกันคือการนำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับโลก และในประเทศไทย รวมทั้งงานวิจัยที่ทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีในด้านต่างๆ มาวิเคราะห์หาแรงขับเคลื่อน วิเคราะห์แนวโน้ม และร่างภาพอนาคตออกมาเป็น 2 ภาพ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้จัดการ แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดีและผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ผู้เขียนกล่าวถึงการสร้างภาพอนาคตหรือฉากทัศน์ไว้ว่า
“ภาพอนาคตที่เป็นจริงได้ (Plausible) ไม่ใช่ภาพอนาคตที่ควรจะเป็น (Preferred) หรือแม้แต่น่าจะเป็น (Expected) ฉากทัศน์จึงแตกต่างจากวิสัยทัศน์ซึ่งเป็นการวาดภาพอนาคตที่อยากจะเป็น การสร้างฉากทัศน์เกิดขึ้นเมื่อมีตัวแปรสำคัญซึ่งสร้างความไม่แน่นอนสูง และทำให้เกิดจุดพลิกผันที่ทำให้ภาพในอนาคตไม่ได้มีเพียงภาพเดียว ถึงแม้ว่าการสร้างฉากทัศน์จะเป็นการเล่าเรื่องที่เป็นจริงได้โดยอาศัยจินตนาการก็ตาม แต่จินตนาการของการสร้างฉากทัศน์ชีวิตคนไทยนี้ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้มาจากการศึกษาวิจัย จากประสบการณ์อันเข้มข้นของคนต่างวัย ต่างสาขาวิชาการ ต่างอาชีพ และต่างภูมิภาค การสร้างฉากทัศน์ทำให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของหน่วยต่างๆ ในสังคม ซึ่งเป็นกลไกที่จะขับเคลื่อนสู่อนาคต ดังนั้น ฉากทัศน์จึงเป็นบริบท ของการวางแผนหรือการจัดทำายุทธศาสตร์สำหรับอนาคต ฉากทัศน์ที่แตกต่างกันก็ย่อมทำให้ยุทธศาสตร์แตกต่างกันไปด้วยเช่นเดียวกัน”
ฉากทัศน์ชีวิตคนไทย เป็นภาพด้านสังคม โดยภาพที่ 1 นั้นเป็นภาพสังคมไทยที่การบริหารจัดการยังคงรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง มีชีวิตอยู่ภายใต้กฎ ระเบียบ ประเทศมีการพัฒนาไปตามกระแสโลกและมีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ส่วนภาพที่ 2 เป็นภาพสังคมทีมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น คนรุ่นใหม่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคม เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจากการส่งเสริมโดยนโยบายภาครัฐ
ในความผันผวนของสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน การศึกษาอนาคตจึงเป็นศาสตร์ที่มองข้ามไปไม่ได้แล้ว
ข้อมูลอ้างอิง : Shifting tides: Global economic scenarios for 2015–25, McKinsey & Company, September 2015 / ฉากทัศน์ชีวิตคนไทย พ.ศ. 2576, มิ่งสรรพ์ ขาวสอาดและอภิวัฒน์ รัตนวราหะ,แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.)
ที่มา: คอลัมน์ Think Foresight หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ