28 กรกฎาคม 2016

Male_female

Saadia Zahidi ได้เขียนถึงผลการศึกษาด้านความเสมอภาคระหว่างเพศชายและหญิงมากที่สุดในโลก 10 อันดับจากรายงานสถิติดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ ประจำปี 2015 (Global Gender Gap Report 2015) ซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum สำรวจความเท่าเทียมของผู้หญิงและผู้ชายใน 145 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ประเทศไอซ์แลนด์และกลุ่มประเทศนอร์ดิกยังคงติดอันดับ TOP 10

              การศึกษาดังกล่าว พิจารณาจากหลักพื้นฐาน 4 ข้อ ได้แก่

              *    การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและโอกาสในสังคม

              *    การศึกษา

              *    สุขภาพและการได้รับบริการทางสาธารณสุข

              *    และการมีส่วนร่วมทางการเมือง

 

mm

 

สำหรับ 10 ประเทศที่มีความเสมอภาคมากที่สุดในโลกมีดังนี้

1. ไอซ์แลนด์ ถูกจัดเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันนาน 7 ปี และถ้าเทียบจากการจัดอันดับเมื่อปี 2006 ไอซ์แลนด์สามารถลดช่องว่างทางเพศด้านการศึกษาทั้งหมด และครองอันดับหนึ่งในด้านบทบาททางการเมือง โดยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา มีผู้หญิงเป็นผู้นำสูงสุดของรัฐ นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่ให้สิทธิผู้ชายในการลาเพื่อทำหน้าที่บิดาในระหว่างภรรยาคลอดบุตรนานที่สุด คือได้ถึง 90 วัน

2. นอร์เวย์ ขึ้นสู่อันดับ 2 หลังจากสูญเสียอันดับให้กับฟินแลนด์ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา นอร์เวย์เป็นประเทศอันดับต้นๆที่ผู้หญิงรับตำแหน่งระดับสูงในการเป็นผู้นำองค์กร นอกจากนี้ยังมีค่าเฉลี่ยนาทีที่ใช้ต่อวัน สำหรับงานที่ไม่มีรายได้ ระหว่างชายและหญิงแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยอีกด้วย

3. ฟินแลนด์ ตกไปเป็นอันดับ 3 แต่ยังคงเป็นประเทศที่ติดอันดับสูงสุดจากสหภาพยุโรป เป็นหนึ่งในสี่ประเทศจากสหภาพยุโรปที่สามารถลดช่องว่างระหว่างเพศได้ทั้งหมดหมดในเรื่องระดับความสำเร็จการศึกษา สุขภาพและการได้รับบริการทางสาธารณสุข ซึ่งในรัฐบาลของประเทศฟินแลนด์มีผู้หญิงถึง 63% และได้รับการจัดอันดับสูงสุดให้เป็นประเทศ ที่มีผู้หญิงทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรี

4. สวีเดน อยู่อันดับ 4 มาเป็นเวลา 7 ปี ติดต่อกัน และสามารถขยับอันดับจากอันดับที่ 11 มาอยู่ในอันดับ4 ในด้านการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและโอกาสในสังคม ส่วนด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง ยังคงเป็นอันดับ 5 เหมือนเดิม

5. ไอร์แลนด์ จากปี 2014 ประเทศไอร์แลนด์สามารถขยับขึ้นมา 3 อันดับ ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเมือง และเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับสูงสุดในภูมิภาค ที่มีผู้นำรัฐเป็นสตรีในการปกครองตลอดปี

6. รวันดา เป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีพื้นที่อยู่ในทวีปแอฟริกาและอยู่ใต้ทะเลทรายสะฮารา ที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน Top 10 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศรวันดามีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงการให้โอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจแก่สตรี ทำให้ผลการจัดอันดับอยู่ในลำดับสูง ถึงแม้คะแนนจะถูกลดทอนเล็กน้อยจากประเด็นช่องว่างระหว่างเพศเรื่องการ การศึกษา สุขภาพและการได้รับบริการทางสาธารณสุข

7. ฟิลิปปินส์ ไต่ระดับขึ้นไปอยู่ใน Top 10 อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถลดช่องว่างทางเพศระหว่างหญิงชายได้ถึง 79% ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2006 ฟิลิปปินส์มีความก้าวหน้าในการลดช่องว่างในทุกด้าน ยกเว้นด้านความสำเร็จทางด้านการศึกษาที่ถดถอยลงเล็กน้อย

8. สวิตเซอร์แลนด์ กลับเข้าสู่ Top 10 อีกครั้ง หลังจากหลุดอันดับไปเมื่อปี 2014 ด้วยการพัฒนาปรับปรุงเรื่องการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและโอกาสในสังคม รวมถึง เรื่องการศึกษาและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในตำแหน่งรัฐมนตรี

9. สโลวีเนีย สามารถเข้ามาในตำแหน่ง Top 10 ได้เป็นครั้งแรก สโลวีเนียมีรัฐมนตรีในประเทศเป็นผู้หญิงร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับปี 2014 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 18 นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายเงินให้กับการลาเพื่อทำหน้าที่บิดาในระหว่างภรรยาคลอดบุตรได้ระยะเวลานานเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศไอซ์แลนด์

10. นิวซีแลนด์ เลื่อนขึ้นมา 3 อันดับจากปีที่แล้ว โดยสามารถลดช่องว่างความแตกต่างทางเพศได้ถึง 78% ซึ่งนิวซีแลนด์ จ่ายค่าแรง สำหรับงานที่มีลักษณะคล้ายกันอย่างมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น และการประเมินรายได้ก็มีความเท่าเทียมมากขึ้นอีกด้วยเช่นกัน

ที่มา : https://agenda.weforum.org/2015/11/these-are-the-10-most-gender-equal-countries-in-the-world/?utm_content=buffer0d2b4&utm_medium=social&utm_source=twitter.com&utm_campaign=buffer




Writer

โดย รุ่งอรุณ รังสิยะวงศ์

เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร ส่วนสื่อสารองค์กร
ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ