ถ้าใครมีโอกาสได้ดูภาพยนต์เรื่อง Burnt จะเห็นว่ามีประเด็นเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการที่น่าสนใจมาก นั่นคือความสำเร็จของ Adam Jones เชฟมิชลิน ระดับ 3 ดาว ไม่ได้มาจากฝีมือของเขาเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีการบริหารจัดการทีมงานด้วย
ในยุคปัจจุบันที่มีการผันแปรของสถานการณ์ต่างๆ อย่างรวดเร็ว ความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงเป็นความสามารถหลัก (Core Competency) อย่างหนึ่งที่ทุกองค์กรต้องมี เพื่อให้เกิดความคล่องตัว (Agility) และความยืดหยุ่น (Flexibility)
ในเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award) ในหมวดกลยุทธ์ได้ระบุถึงเรื่องดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่องค์กรต้องคำนึงถึง เพราะอนาคตคือสิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้
การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบธุรกิจที่เห็นได้ชัดในทศวรรษนี้ก็คือการดำเนินธุรกิจ ที่เป็น Platform เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อสร้างคุณค่าและความได้เปรียบในการแข่งขัน ในอดีตที่ผ่านมาความสามารถขององค์กรคือปัจจัยของความสำเร็จเพียงประการเดียว ผลิตภัณฑ์ระดับตำนาน หลายผลิตภัณฑ์ที่ทำให้องค์กรยืนหยัดมาได้อย่างยาวนาน ได้หายไปแล้วเช่น Walkman ของโซนี่ ฟิล์มของโกดัก กล้องโพลารอยด์ ฯลฯ จากผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เข้ามาแทนที่
รูปแบบใหม่ของธุรกิจมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่การใช้ข้อมูลและการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน Big Data จึงก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างสูง ตั้งแต่การวางแผนกลยุทธ์ ไปจนถึงการออกแบบการปฏิบัติการ (Operation) และ Big Data นี่เองที่ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการมีประสิทธิผล Apple เป็นกรณีศึกษาเริ่มต้นของรูปแบบธุรกิจที่เป็น Platform ซึ่งทำให้กลายเป็นผู้นำของตลาดในระยะเวลาอันรวดเร็ว และต่อมาไม่ว่าจะเป็น Uber, Alibaba ฯลฯ ก็เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไปโดยสิ้นเชิง ทั้งหมดนี้ก็คือผลพวงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่นับวันจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น นั่นคือความเสี่ยงขององค์กรธุรกิจหากไม่สามารถก้าวตามได้ทัน
ดังนั้นในระบบนิเวศ (Ecosystem) ของธุรกิจแบบ Platform นอกจากผู้บริโภคกับผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการ ยังมีผู้เล่นอีก 2 กลุ่มเข้ามา นั่นคือ เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้าง Platform (Owners) เช่น Android และ ผู้ให้บริการ (Providers) ทำหน้าที่เชื่อมโยง Platform กับผู้ใช้ รูปแบบธุรกิจแบบนี้จึงไม่ใช่การสร้างคุณค่าให้เฉพาะลูกค้า แต่เป็นการสร้างคุณค่าให้ทั้งระบบนิเวศของธุรกิจ
ในแนวคิดของการสร้างรูปแบบของธุรกิจนั้นจึงไม่ได้ยึดติดอยู่ที่ตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการ แต่เป็นการตอบความต้องการของลูกค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต จากมุมมองของลูกค้า ตัวผลิตภัณฑ์และบริการจึงต้องปรับเปลี่ยนได้ รูปแบบธุรกิจต่างหากที่จะตอบโจทย์นั้นของลูกค้า
การรับฟังเสียงจากลูกค้าด้วยช่องทางต่างๆ จึงไม่เพียงพอเสียแล้ว Big Data เป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าจากการใช้ชีวิตประจำวัน ว่ามีรสนิยม ความคิด ความเชื่อเป็นอย่างไร ในยุค Industry 4.0 ที่กำลังจะมาถึงลูกค้าสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยตนเองในสายการผลิต ผ่าน Platform ที่สร้างขึ้น ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ
Google, Facebook เป็นตัวอย่างรูปแบบธุรกิจที่สร้างความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ โดยที่ผู้บริโภคเองก็ไม่เคยคิดถึงมาก่อน และนี่คือการคิดจากอนาคตซึ่งเป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน
โลกาภิวัฒน์ในโลกยุคใหม่จะแตกต่างจากโลกาภิวัฒน์ในศตวรรษที่ 20 ในประเด็นสำคัญ ๆ คือ ความเข้มข้นด้านองค์ความรู้ (knowledge-intensive) มากกว่าความเข้มข้นด้านทุนหรือแรงงาน (capital- or labor-intensive) สินค้าและบริการส่วนใหญ่ไม่สามารถจับต้องได้ (intangible) แต่มีพลังมาก เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนเกมธุรกิจในยุคนี้ก็คือ ดิจิตอล (Digital) ที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในเศรษฐกิจโลก เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสกับแป้นคีย์บอร์ดหรือผ่านทาง Smartphone ก็จะได้สินค้าหรือบริการมาอย่างง่ายดาย บริษัทพลังงานต่างชาติสามารถติดตามการผลิตด้วยการใช้รีโมทหลังจากได้ติดตั้ง Sensor ที่บ่อน้ำมันทั่วโลก ผู้ผลิตในสเปนสามารถซื้อวัตถุดิบและส่วนประกอบต่าง ๆ จากผู้จำหน่ายในประเทศจีนผ่าน Alibaba หรือใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการผลิตส่วนประกอบจากไฟล์ข้อมูลที่ส่งมาจากแคนาดา เด็กน้อยในเคนย่าที่สามารถเข้าเรียนคณิตศาสตร์ที่แคลิฟอร์เนียผ่านการล็อคอิน Khan Academy
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเปิดโอกาสให้ธุรกิจใหม่ ขณะเดียวกันธุรกิจเก่า ที่แม้ว่าจะเคยเติบใหญ่ข้ามทศวรรษก็อาจถึงจุดจบได้ หากไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ หรือไม่สามารถคาดการณ์ไปในอนาคต Amazon มีผู้ขายสินค้าออนไลน์มากกว่า 2 ล้านคน Alibaba ได้วางดิจิตอลแพลตฟอร์มเพื่อรองรับผู้ขายสินค้ามากกว่า 10 ล้านคน ร้านค้าขนาดเล็กบนFacebook เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม ในปี 2013 จำนวน 25,000,000 ร้านค้า จะเพิ่มเป็น 50,000,000 ร้านค้าและ 30% ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
Adam Jones เคยตกอยู่ในสภาพผู้พ่ายแพ้ เขาทำลายตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ การเปลี่ยนทัศนคติของเขา ทำให้เกิดการเปลี่ยนวิธีการ จากการยอมรับสิ่งใหม่ๆ และยอมรับว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว เขาจึงก้าวไปสู่ความสำเร็จในที่สุด สถานการณ์ในโลกยุคปัจจุบันไปจนถึงอนาคต ได้ส่งสัญญาณแล้วว่าผู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เท่านั้นที่จะอยู่รอด และต้องพร้อมเสมอกับการรับมือต่อคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่จะถาโถมเข้ามาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
คำถามสั้นๆ ที่ต้องถามตนเองคือ จะเปลี่ยนหรือจะไป (อย่างไม่มีวันคืนกลับมา)
ที่มา: คอลัมน์ Productivity Food for Thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ