28 มิถุนายน 2016
IMG_5407 Grop

Thailand Quality Award หรือ TQA ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่แสดงถึงความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการองค์กร ภายใต้เกณฑ์รางวัลทั้ง 7 หมวด อันประกอบด้วย หมวด 1 การนำองค์กร  หมวด 2 กลยุทธ์  หมวด 3 ลูกค้า  หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้  หมวด 5 บุคลากร  หมวด 6 การปฏิบัติการ และหมวด 7 ผลลัพธ์  ดังนั้น เพื่อเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ตลอดจนแนวทางการบริหารสู่ความเป็นเลิศ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จึงได้จัดงานสัมมนา “Thailand Quality Award 2015 Winner Conference” ขึ้น โดยได้รับเกียรติจากองค์กรระดับ World class ซึ่งได้รับรางวัล “2015 Singapore Quality Award with Special Commendation Winner”  พร้อมด้วยองค์กรคุณภาพของไทยทั้ง 6 องค์กรที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2558 (Thailand Quality Class 2015: TQC) พร้อมการบรรยายพิเศษ จากรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หัวข้อ  “Thailand’s Strategic Destination” และ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ หัวข้อ “New Approach to Master Thailand Quality Award: FTPI ASP Model”

01

คุณสมภพ อมาตยกุล  ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวเปิดงานสัมมนา “หลายองค์กรได้เข้าสู่ระบบการรับการตรวจประเมินรางวัลคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง และทุกครั้งองค์กรก็จะกลับมาพร้อมกับการปรับปรุงหรือพัฒนาระบบบริหารจัดการใหม่ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาว่าเกณฑ์การบริหารจัดการในกรอบของ TQA เป็นเครื่องมือที่นำพาองค์กรสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนและมีศักยภาพเหนือคู่แข่ง ทำให้เกิดการบูรณาการกระบวนการทำงานต่างๆ ตลอดจนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง นำไปสู่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ช่วยพัฒนาองค์กรและประเทศชาติอย่างยั่งยืน สำหรับการแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติจากองค์กรที่ได้รับรางวัลนั้น ถือเป็นคุณค่าที่สำคัญของการดำเนินโครงการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และเป็นประโยชน์อันสำคัญยิ่งต่อประเทศไทยในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล”

02ดร.สันติ  กนกธนาพร   ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ บรรยาย หัวข้อ “New Approach to Master Thailand Quality Award: FTPI ASP Model” กล่าวว่า ” ถ้าองค์กรของเราสามารถรู้เทรนด์ก่อนองค์กรอื่น จะทำให้เรามีความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งในยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันหากเราเป็นเพียงผู้ไล่ตามเทรนด์ ถือว่าเป็นความเสี่ยง ซึ่งเราสามารถเห็นบทเรียนจากหลายๆ องค์กรที่เคยประสบความสำเร็จแต่ยึดติดกับวิธีคิดแบบเดิมๆ นำความความสำเร็จในอดีตมาขัดขวางความสำเร็จในอนาคตนำไปสู่ความล้มเหลวทางธุรกิจ  ในขณะที่องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะสามารถปรับตัวให้สอดรับต่อความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันสถาบันได้พยายามพัฒนา FTPI Advance Strategic Planning Model เพื่อตอบโจทย์รางวัล TQA เนื่องจากที่ผ่านมาองค์กรที่สมัครขอรับรางวัลมีคะแนนในหมวด 2 (กลยุทธ์) และ  หมวด 4  (การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้) ค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ สถาบันจะจัดตั้ง Center of Excellence for Foresight  เพื่อพัฒนาเครื่องมือ กระบวนการบริหารอนาคตและจัดทำรายงานที่กำหนดทิศทางของประเทศไทยในอนาคต” 

03คุณธานินทร์ ผะเอม   รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Thailand’s Strategic Destination” ความท้าทายในการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปของประเทศไทย ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจชะลอตัว มีความผันผวนมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไม่เพียงพอที่จะทำให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้  ด้านสังคม ศักยภาพและระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยหลายด้านยังต่ำกว่าเป้าหมายและไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ ด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและชุมชนเมือง ธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการประเทศ ยังไม่บรรลุเป้าหมายเพราะการบริหารจัดการในภาครัฐยังมีประสิทธิภาพต่ำ  ความมั่นคง ยังต้องเผชิญกับปัญหาความไม่มีเสถียรภาพและความมั่นคงภายในประเทศและภัยคุกคามจากภายนอก ซึ่งทำให้ทำลายความเชื่อมั่นในภูมิภาคอาเซียนและประชาคมโลก”

04

Mr. Vijaku-mar Sethuraj Deputy Commissioner  (Policy & Administration) The Immigration & Checkpoints Authority (ICA)*  2015 Singapore Quality Award with Special Commendation Winner บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Driving Organizational Innovation through Business Excellence Framework” กล่าวว่า “เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นเมืองท่าที่มีผู้คนและสินค้าเข้าออกประเทศเป็นจำนวนมาก ICA จึงให้ความสำคัญในการติดตามข่าวสารสภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชากร การก่อการร้าย อุบัติการ หรือสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเชื่อมโยงข้อมูลด้านข่าวกรองกับองค์กรต่างๆ ในสิงคโปร์  อีกทั้งมีความชัดเจนด้านกลยุทธ์ จากการนำข้อมูลต่างๆ อาทิ งานที่เพิ่มขึ้นจากการที่มีสินค้าและนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น หรือผู้ใช้บริการมีความรู้มากขึ้น ส่งผลต่อความคาดหวังที่สูงขึ้น และภาวะการขาดแคลนบุคลากรเนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรในประเทศที่ลดลง นำมาสู่การวางแผนกลยุทธ์และวิธีคิดที่ทำให้เกิดนวัตกรรม  ทั้งนี้จากรางวัลที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้รู้ว่าวิธีการขององค์กรมีความพิเศษ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นมาจากบุคลากรขององค์กรที่มีความมุ่งมั่นและทุ่มเทเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง”

*(ICA คือ หน่วยงานควบคุมชายแดนชั้นนำ เป็นที่ยอมรับสำหรับวิธีการใหม่ในการบริหารจัดการชายแดน การส่งตรวจคนเข้าเมือง และการลงทะเบียนบริการ ซึ่งเป็นที่พึงพอใจของลูกค้า รวมทั้งยังสามารถเพิ่มผลิตภาพได้โดยปราศจากการประนีประนอมเรื่องความปลอดภัย)

สำหรับการเสวนา หัวข้อ “Driving Organizational Excellence with TQA Criteria” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้บริหารองค์กรที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2558 ทั้ง 6 องค์กร ร่วมถ่ายทอดแนวความคิดและความมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรไปสู่รางวัลคุณภาพแห่งชาติ
05คุณพรศักดิ์ มงคลตรีรัตน์  
รักษาการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด  (มหาชน) กล่าวว่า  “ที่ผ่านมาเรารู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จของเรา แต่เราไม่เคยรู้ว่าหากไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งหรือคู่เทียบ เราอยู่ตรงไหน จนเมื่อได้นำเกณฑ์ TQA มาใช้ ซึ่งในหมวดผลลัพธ์ ของเกณฑ์ ระบุให้ต้องเทียบกับคู่แข่งหรือคู่เทียบในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทำให้พบว่าสิ่งที่เราภูมิใจนั้น ความจริงแล้วมันไม่ใช่อย่างที่เราคิด ซึ่งเป็นตัวผลักดันให้ทีมงานช่วยกันดำเนินการหาจุดปรับปรุงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น  ผมคิดว่าเมื่อทีมงานเข้าใจ และรู้ว่าวัตถุประสงค์ของการทำ TQA เพื่ออะไร ประกอบกับเมื่อเห็นผลลัพธ์ว่าเราไม่ได้เหนือกว่าคู่แข่งจริงๆ ทำให้เริ่มตระหนักและเชื่อมั่นในการใช้ TQA เพื่อการพัฒนาปรับปรุงองค์กร”


06คุณวิวัฒน์ เจริญสวัสดิ์พงศ์
   ผู้อำนวยการอาวุโส – ผู้จัดการทั่วไป   บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาขอนแก่น จำกัด เผยว่า “บริษัทได้มีการนำ TQA มาใช้พัฒนาองค์กร ซึ่งที่ผ่านมาหลายๆ ครั้ง เราอาจจะมองข้ามในบางเรื่อง เช่น เรื่องการเป็นแบบแผนที่ดีในการนำองค์กร ซึ่งเกณฑ์ได้ระบุไว้ชัดเจน หรือเรื่องการวางแผนกลยุทธ์ ที่ทำให้เรามีความรัดกุมรอบคอบมากขึ้น  ทำให้สามารถเปรียบเทียบได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องปรับปรุง  และสิ่งที่เราได้เปรียบ รวมถึงเรื่องกระบวนการ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาบุคลากร ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่ง TQA ถือเป็นสุดยอดคัมภีร์การบริหาร”


07คุณยอดพจน์ วงศ์รักมิตร
  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เผยถึงการสร้างความยอมรับในองค์กรว่า “การทำให้คนในองค์กรเห็นถึงประโยชน์ของการทำ TQA ต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจ เพราะหลายคนจะมองว่าเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญ และต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพที่จะสร้างความเข้าใจให้กับคนในองค์กร และทำอย่างต่อเนื่อง จึงจะประสบความสำเร็จในระยะยาว”


08คุณเผด็จ ปรารมภ์
  ผู้จัดการฝ่ายโพลีโอเลฟินส์ โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “IRPC มีปรัชญาสมดุลย์ทั้ง 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งเราได้เอากรอบ  TQA มาผลักดัน โดยมีเป้าหมายหลักคือ เห็นความต้องการของลูกค้า ความสามารถในการชนะคู่แข่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  โดยผู้บริหารจะเป็นผู้ขับเคลื่อนและพิจารณาข้อมูลย้อนกลับขึ้นมาจากแต่ละ Functional ทำให้มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานโดยตลอด  รวมทั้งเมื่อเกณฑ์ TQA มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์เราก็ต้องปรับตาม เพื่อให้ทันต่อการแข่งขัน และสามารถตอบโจทย์สุดท้ายว่าเราจะชนะคู่แข่งได้อย่างไร”


09คุณนิกูล ศิลาสุวรรณ
ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 โรงไฟฟ้าแม่เมาะ  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เผยถึงความมุ่งมั่นของบริษัทว่า “โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีวิสัยทัศน์ว่า จะได้รับรางวัล TQA ภายในปี 2562  ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเรามีผู้ปฏิบัติงานถึง 2,700 คน และการที่จะให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมุ่งมั่นปฏิบัติงานที่เป็นระบบ ไปในทิศทางเดียวกันเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ดังนั้นต้องอาศัยความมุ่งมั่นของผู้บริหาร  และในการดำเนินการจะต้องมีนโยบาย แผนงานและเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง  มีการติดตามประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ  ตลอดจนมีการตรวจสอบด้วยตนเอง  และให้หน่วยงานข้างเคียงมาตรวจสอบ นอกจากนี้ เราได้เน้นในเรื่องทรัพยากรคน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญทึ่สุดขององค์กร เพราะหากคนไม่มี mindset ที่ดี ไม่มีความมุ่งมั่น ถึงมีเครื่องจักรที่ดีอย่างไร ความสำเร็จก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ ”

10น.สพ.ดำเนิน  จตุรวิธวงศ์  รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส   ด้านสัตวแพทย์บริการ สายธุรกิจสุกร บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  กล่าวถึง บทบาทหน้าที่ของผู้นำในการผลักดัน TQA ภายในองค์กร ว่า “78% ของผู้ปฏิบัติงานของบริษัทศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ดังนั้น ในฐานะผู้นำ ต้องทำความเข้าใจในเกณฑ์ และพยายามสื่อสารให้คนในองค์กรเข้าใจ โดยจะต้องปรับภาษาให้เข้าใจง่าย เพราะผู้ตามพร้อมที่จะตาม แต่เขาต้องเข้าใจ และเห็นประโยชน์ที่เขาจะได้รับ ไม่เช่นนั้นจะเกิดแรงต้านเงียบ ซึ่งบางสิ่งเขาทำอยู่แล้ว ซึ่ง TQA มาช่วยให้คิดครบและมองรอบด้านมากขึ้น”

 

 


Tags:


Writer

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร