16 พฤษภาคม 2016

รอยร้าว

เมื่อพูดถึง CSR คนส่วนใหญ่รวมทั้งผู้บริหารจะนึกถึงสังคมที่อยู่นอกองค์กรเสมอ แต่แท้จริงแล้วคำว่าความรับผิดชอบหรือ Responsibility นั้นหมายถึงการดูแลความผาสุกของพนักงานด้วย และควรจะทำให้ได้ดีก่อนที่จะไปทำในส่วนอื่น

แม้ว่าปัจจุบันผู้บริหารองค์กรต่างๆ ตระหนักในความสำคัญของพนักงานที่เป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จในองค์กร มีมาตรฐานสากลด้านชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม  มีแนวคิดในการสร้าง Happy Workplace ที่ สสส.นำไปทำโครงการร่วมกับหลายหน่วยงาน แต่ถ้าผู้บริหารไม่คอยติดตาม ตรวจสอบอาจมีรอยร้าวเกิดขึ้นในระบบที่คิดว่าสมบูรณ์แบบอย่างคาดไม่ถึง

ในภาพยนต์เรื่อง Kidnapping Mr. Heineken มีประเด็นชวนคิดในเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ

เด็กหนุ่มผู้ชักชวนให้แก๊งค์ลักพาตัวเศรษฐีหันมาเลือก Mr. Heineken มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเบียร์ชื่อดังของโลกนี้ เป็นลูกชายของอดีตเซลล์แมนของ Heineken ซึ่งถูกไล่ออกเพราะติดสุราเรื้อรัง พ่อของเขาฟ้องบริษัทโดยอ้างว่าที่เขาเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังก็เพราะ “กฎที่ไม่ได้เขียนไว้ของบริษัท” ที่บังคับให้เซลล์ต้องดื่มกับลูกค้า

พ่อของเขาแพ้คดี และเป็นอัมพาต มีปัญหาทางการเงิน เด็กหนุ่มจับตาดูชีวิตหรูหราของ Mr. Heineken ด้วยความเกลียดชังจนก่อคดีอย่างบ้าบิ่น

“กฎที่ไม่ได้เขียนไว้ของบริษัท” นี้ Mr. Heineken ก็ไม่เคยรู้มาก่อน รวมทั้งคดีที่พนักงานฟ้องร้องก็ถูกเก็บเงียบไม่ได้มีการรายงานขึ้นมา

ในการบริหารจัดการองค์กรที่มีการบังคับบัญชาหลายระดับจากโครงสร้างที่ซับซ้อน เรื่องราวทำนองนี้สามารถเกิดขึ้นได้ จากการที่ทุกฝ่ายงานมี “เป้า” ที่จะต้องไปถึง ผู้บริหารแต่ละระดับจึงมักจะมีกฎงอกแบบส่วนตัวออกมาในรูปแบบเดียวกับ “กฎที่ไม่ได้เขียนไว้ของบริษัท” ซึ่งอาจสร้างความอึดอัด ความไม่พอใจที่ผู้บริหารระดับสูงไม่เคยรู้

ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรคือตัวช่วยที่สำคัญที่จะตั้งคำถามกับกฎงอกแบบนี้ได้ รวมทั้งเรื่องของ Good Governance หรือระบบธรรมาภิบาลในองค์กร

หากองค์กรให้ความสำคัญกับพนักงาน จะต้องเป็นระบุไว้ในค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร เช่น เคารพในความเท่าเทียม ยึดมั่นคุณธรรม มุ่งเน้นจริยธรรมเป็นต้นและเป็นหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงที่ต้องปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรดังกล่าว เพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์และขจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ รวมทั้งการบริหารจัดการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส เป็นธรรมตามหลักการของ Good Governance มีวิธีการติดตามประเมินผลเพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง

จากประสบการณ์ในการศึกษาวิจัยองค์กรที่ผ่านมา ผู้เขียนพบว่าสิ่งนี้แหละที่สร้างความสุข และความผูกพันที่ยั่งยืน ไม่ใช่เงินเดือน โบนัสหรือสวัสดิการที่สร้างความพึงพอใจชั่วขณะ

น้ำหนักของ CSR ในส่วนของการดูแลพนักงานมุ่งเน้นไปที่เรื่องของสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองแรงงาน ความปลอดภัยในการทำงาน ความเป็นธรรมในเรื่องค่าตอบแทน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอาจลุกลามไปไกล เหมือนรอยร้าวไม่มีใครสังเกตเห็น นานวันเข้ารอยร้าวนั้นก็ลามลึกไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่

ปัญหาแรงงานที่เป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมไทยยังมีให้เห็นอยู่มากชนิดที่เรียกว่าไม่แคร์สื่อ ล่าสุดมีการเปิดเผยข้อมูลจาก Swedwatch* องค์กรที่คอยติดตาม เฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในองค์กรธุรกิจของสวีเดนว่ามีการใช้แรงงานต่างด้าวในธุรกิจอาหารแปรรูปเนื้อไก่ในประเทศไทยหลายบริษัทซึ่งมีทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ การกดขี่แรงงาน ฯลฯ บริษัทเหล่านี้ส่งเนื้อไก่แปรรูปไปยังสวีเดนและประเทศในสหภาพยุโรปหลายประเทศ

การดูแลความผาสุกของพนักงานและการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ก็เป็นหนทางหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็น1 ใน 17 แนวทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในอีก 15 ปีต่อไปนี้  ที่ท่านมีส่วนร่วมได้ด้วยตัวของท่านเอง

*แหล่งข้อมูล http://www.bangkokpost.com/news/general/776713/migrants-processing-thai-chicken-exports-abused-exploited

ที่มา : คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ


Tags:


Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น