25 มีนาคม 2016

feelling

ผู้เรียนท่านหนึ่งในหลักสูตรการคิดอย่างมีระบบ ขอคำแนะนำที่จะช่วยให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะไปทำงาน ข้าพเจ้าจึงถามกลับไปว่า “ถ้าคุณต้องการตื่นสายอีก 5 นาทีแล้วทำให้ ต้องสูญเสียรายได้ถึง 10 ล้านบาท คุณจะรีบตื่นหรือไม่” แม้เป็นเหตุการณ์สมมติ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครอยากสูญเสียโอกาสดีๆ ที่จะได้รับอย่างแน่นอน ดังนั้นการปรับวิธีคิดให้นึกถึงโอกาส หรือเรื่องดีๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา ย่อมช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวที่จะลุกขึ้นไปทำสิ่งที่แตกต่าง  เพียงแต่เราไม่เคยพยายามคิดถึง หรือมองหา จึงมักพลาดเรื่องดีๆ ไปกับความคิดด้านลบ เช่น เวลาที่ไปถึงบริษัทเร็วขึ้น ทำให้มีเวลาได้สร้างมิตรภาพ กับพี่แม่บ้าน ลุงผู้ดูแลอาคาร หรือพนักงานสาวสวยในร้านกาแฟ รวมไปถึง มีช่วงเวลาได้แบ่งปันเรื่องราวดีๆ กับเพื่อร่วมงานที่แสนน่ารัก แต่เราอาจไม่เคยใส่ใจพวกเขามาก่อน เป็นต้น และที่สำคัญ โอกาสดีๆ มีให้เราค้นหา ได้ทุกวัน

หรืออีกเหตุผลคือการใช้เวลาในช่วงดึกไปกับการท่องโลกเสมือนจนทำให้ตื่นสายและไม่รู้สึกอยากไปทำงาน อาจต้องปรับวิธีคิด โดยลองถามตัวเองว่า “ถ้าทุกวัน คุณนอนดึก กว่าปกติ ประมาณ ครึ่ง ชั่วโมง ทำให้คุณหน้าตาแก่ขึ้นอีก 10 ปี คุณยังอยากจะนอนดึกอีกหรือไม่” ซึ่งก็คงไม่ได้ทำให้คุณกังวลแค่หน้าตา แต่อาจกังวลไปถึงเรื่องของสุขภาพที่แย่ลง หรือประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

การปรับมุมมองการคิดลักษณะนี้ เป็นการนำรูปแบบการคิดตัดสินใจด้วยความรู้สึก สัญชาตญาณ รวมถึงประสบการณ์ที่ได้ยิน ได้ทำ สะสมมาจนเป็นความเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริง ส่งผลให้มองเห็นคุณค่าของเวลาที่เสียไปว่าจะสร้างโอกาสดีๆ ให้กับชีวิต โดยไม่ได้มองแค่เพียงเงิน 10 ล้าน แต่มองครอบคลุมผลประโยชน์ในภาพกว้าง หรือเวลาที่เสียไปก็ไม่ได้ส่งผลเสียแค่หน้าตา แต่ส่งผลกระทบกับชีวิต

“การสร้างภาพ” ให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ ก็ใช้ประโยชน์จากกระบวนการคิดตัดสินใจด้วยความรู้สึกลักษณะนี้ โดยการนำเสนอสิ่งที่ได้รับการยอมรับ หรือแสดงออกในพฤติกรรมที่สังคมให้ความสนใจ เพียงบางส่วน แต่คนส่วนใหญ่กลับตัดสินว่า คุณเป็นคนลักษณะนั้น  เช่น การอุ้มเด็กอย่างรักใคร่ เอ็นดู หรือเล่นกับเด็กด้วยความสนุกสนาน ใกล้ชิด หรือการเยี่ยมเยียนและให้การอุปการะเด็กในสถานเลี้ยงดูเด็ก ก็ทำให้สังคมเชื่อว่า คุณเป็นคนรักและให้ความสำคัญกับเด็กมาก เป็นต้น นอกจากนี้ การที่สังคมส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องใดจนกลายเป็นกรอบความคิด ก็ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ เช่น การที่สังคมยอมรับนับถือ หรือ ไว้ใจคนที่แต่งตัวเรียบร้อย สะอาด สะอ้าน มากกว่า คนที่แต่งตัวสกปรก หนวดเครารุงรัง ทำให้หลายครั้ง เราหลงเชื่อกลุ่มคนที่เป็นมิจฉาชีพซึ่งมาในลักษณะของคนกลุ่มแรก เป็นต้น

ในการทำงานก็เช่นกัน หลายครั้งที่องค์กร มักตัดสินใจเลื่อนตำแหน่ง ให้กับพนักงาน เพราะเชื่อว่า พนักงานคนนี้มีความสามารถทำงานได้ดี ทั้งๆ พิจารณาจากผลงานเพียงไม่กี่อย่าง ส่งผลให้พนักงานเกิดความล้มเหลวในการทำงาน หรือตัดสินใจโยกย้ายพนักงาน จากผลการดำเนินงานเพียงไม่กี่ครั้ง ด้วยความเชื่อว่า เขาไม่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งที่พนักงานอาจมีความสามารถในด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับองค์กร

อย่างไรก็ตาม ยังมีรูปแบบความผิดพลาดจากการให้ความสนใจในประเด็นใด ประเด็นหนึ่ง จนละเลยการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ทำให้ขาดความรอบคอบ และเหตุผลที่ชัดเจนในการอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ เช่น กรณีสำนักข่าว BBC เสนอภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ ประเทศอังกฤษ นั่งหลับในสภา โดยตัดสินจากลักษณะท่าทางการนั่งและหลับตา และไม่สังเกตสภาพแวดล้อมอื่นๆ รอบข้าง ทั้งๆที่สมาชิกท่านนั้น เพียงนั่งเอียงหูให้ใกล้ลำโพง เนื่องจากเป็นผู้พิการด้านการฟัง เป็นต้น หลายครั้งที่ผู้นำมักตัดสินพนักงานจากสิ่งที่เห็น โดยไม่สอบถามหรือสังเกตบริบทรอบข้าง เช่น พนักงานคนหนึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ผู้บริหารจากการสอบถามข้อสงสัย ด้วยน้ำเสียงดัง ทั้งที่เป็บบุคลิกปกติ แต่ก็ถูกตัดสินว่าเป็นคนก้าวร้าว เป็นต้น แต่ความผิดพลาดลักษณะนี้ก็เป็นข้อดี ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ เช่น ถ้าวางตำแหน่งสินค้าในระดับเดียวกับสินค้าที่มีชื่อเสียง ก็จะทำให้ลูกค้าตัดสินคุณภาพสินค้าในระดับเดียวกัน เป็นต้น

การตัดสินใจจากกรอบความคิดที่ถูกสร้างขึ้น ก็อาจทำให้เกิดความไขว้เขว ได้ง่าย เช่น โรงแรมหนึ่งแจ้งว่ามีห้องว่าง 66% ในขณะที่อีกโรงแรมแจ้งว่าจำนวนห้องเต็ม 33% ย่อมทำให้คนส่วนใหญ่เลือกโรงแรมแรก ด้วยกรอบของคำว่า “ว่าง” ทำให้มั่นใจมากกว่า หรือการระบุ “สายการบินมีความปลอดภัย 100%” ย่อมสร้างความมั่นใจมากกว่า “สายการบินมีผู้เสียชีวิต 0%” ทั้งๆที่เป็นความรู้สึกเชื่อมั่นที่เกิดจากกรอบที่สร้างขึ้นมาจากประสบการณ์และข้อมูลที่ผ่านมา

สุดท้ายเป็นการตัดสินใจ บนความเชื่อว่า “เราก็ทำได้” แม้ความเป็นไปได้จะน้อยมาก ด้วยการนำเสนอภาพ หรือเรื่องราวความสำเร็จ ย้ำๆ จนทำให้เราเกิดความเชื่อ เช่น การนำเสนอภาพ ก่อน และ หลัง ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้มีลักษณะที่ด้อยกว่า จนถึงใกล้เคียงกับคนทั่วๆไปในการเสนอขายเครื่องสำอางค์ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวเองก็สามารถเป็นเช่นนั้นได้ ถ้าใช้เครื่องสำอางค์ชนิดนี้ แม้จะเป็นการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะขาดการใช้เหตุผล แต่ก็ช่วยสร้างแรงบรรดาลใจ ให้กับผู้คน ได้อย่างมากมาย ดังนั้น องค์กรต้องนำประโยชน์ตรงนี้ไปกระตุ้นให้ พนักงานเกิดความมุ่งมั่นมากขึ้น ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าความรู้สึกที่ไม่มีเหตุผลก็ให้ประโยชน์ที่คาดไม่ถึง”




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ