การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของโลกที่ต้องหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างผลกระทบต่อมนุษย์ แต่ยังมีผลไปถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศ ถ้า ไม่รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจส่งผลถึงการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตบนโลกด้วย
เว็บไซต์ EPA (United States Environmental Protection Agency) ได้เขียนบทความถึงสภาพภูมิอากาศที่มีอิทธิพลต่อระบบนิเวศอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อนที่มีผลให้สัตว์จำนวนมากต้องปรับอุณหภูมิร่างกายของตัวเองเพื่อให้เอื้อต่อการอยู่รอด ในทำนองเดียวกัน ขณะที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น น้ำเค็มก็เริ่มรุกล้ำเข้าสู่ระบบน้ำจืด ซึ่งอาจส่งผลให้สัตว์บางสายพันธุ์ต้องย้ายที่อยู่หรือตายไป เป็นเหตุให้ระบบห่วงโซ่อาหารประสบกับปัญหาภาวะวิกฤตได้ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อมนุษย์ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการพัฒนาที่ผลกระทบจะค่อยๆ ทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนระบบนิเวศเปลี่ยนไปแบบที่เราไม่ทันรู้ตัว อาทิ ตามแนวชายฝั่งทะเลที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาที่ดินซึ่งมีความเปราะบางอยู่แล้ว อาจพังลงถ้าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงจนเกิดเป็นพายุฝน
ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงกับวงจรชีวิต
- สัตว์หลายพันธุ์อาศัย พักพิง หรือยอมให้สภาพอากาศมีอิทธิต่อชีวิตไปในช่วงเวลาหนึ่งในแต่ละปี โดยต้องย้ายถิ่นฐาน หาสถานที่เพื่อผสมพันธุ์และชุบเลี้ยงชีวิตใหม่ในแผ่นดินสักแห่งที่อบอุ่นมากพอ อันจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาหลายเหตุการณ์ เช่นในแถบที่มีน้ำพุร้อนซึ่งอยู่ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เคยมีนกมากกว่า 28 สายพันธุ์อพยพไปสร้างถิ่นฐานเพราะต้องการความอบอุ่น
- ช่วงฤดูหนาวที่ภาคใต้ของสหรัฐ นกที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะอพยพไปทางทิศเหนือก่อนฤดูใบไม้ผลิจะมาถึง 13 วัน ซึ่งอพยพเร็วกว่าตอนต้นศตวรรษที่ 20
- การวิจัยที่แคลิฟอร์เนีย พบว่า มีผีเสื้อ จำนวน 16 ชนิดจากทั้งหมด 23 ชนิด เปลี่ยนเวลาในการย้ายถิ่นฐานเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้วัฎจักรหลายอย่างคลาดเคลื่อนไป ไม่ว่าจะเป็นการอพยพย้ายถิ่น การผสมพันธุ์ หรือแม้แต่การเก็บตุนอาหารในช่วงหน้าหนาว เมื่อช่วงเวลาในการอพยพแปรปรวนก็จะเกิดการแย่งชิงอาหารและที่อยู่กับเจ้าถิ่นเดิม อันมีผลต่อการเจริญเติบโตและความอยู่รอดด้วยเช่นกัน
การย้ายอาณาเขต
เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น สัตว์หลายชนิดที่อยู่ในอเมริกาเหนือก็จะย้ายถิ่นฐานไปทางทิศเหนือ โดยขึ้นไปยังที่สูง ซึ่งก็จะหมายถึงการขยายอาณาเขตของสัตว์บางชนิด หรือบางชนิดก็หมายถึงการนับถอยหลังไปสู่การสูญพันธุ์ก็ได้ สัตว์บางชนิดก็ต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด ขณะที่บางชนิดก็ไม่มีที่ไปเพราะพื้นที่ที่จำกัด ตัวอย่างเช่น ป่าทางแถบเหนือถูกบุกรุก ทำให้พื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ลดจำนวนลง ไม่ว่าจะเป็นกวางคาริบู สุนัขจิ้งจอกอาร์กติก และนกเค้าแมวหิมะ จากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสหรัฐฯ ยังพบขนาดป่าโอ๊คที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ต้นเมเปิ้ลที่เติบโตแทรกอยู่ในป่าบีช และต้นสนที่ถูกกลืนหายไปในป่าที่เต็มไปด้วยต้นเฟอร์ ตามธารน้ำนั้นปลาที่แหวกว่ายอยู่ในกระแสน้ำอุ่นจะรุกล้ำเข้าไปยังอาณาเขตของเหล่าสัตว์น้ำเย็น ขณะที่ปลาน้ำเย็นหลายสายพันธุ์ต้องเสียที่อยู่อาศัยไป รวมถึงส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตรและการประมงลดลงด้วย
วัฏจักรบริโภคหยุดชะงัก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต อย่างที่เราเห็นได้จากรูปที่แสดงให้เห็นว่า ห่วงโซ่อาหารกับหมีขั้วโลกที่เชื่อมโยงกัน ด้วยความที่ธารน้ำแข็งในอาร์กติกละลายอย่างรวดเร็ว ทำให้สาหร่ายน้ำแข็งซึ่งเป็นอุดมไปด้วยสารอาหารจากแพลงก์ตอนลดลง ขณะที่ปลาก็กินแพลงตอน จากนั้นปลาก็จะถูกแมวน้ำกิน ทำให้สัตว์ที่อยู่ด้านบนสุดของห่วงโซ่อาหารซึ่งก็คือ หมีขั้วโลกซึ่งกินแมวน้ำลดจำนวนลง ดังนั้นการลดลงในสาหร่ายน้ำแข็งสามารถนำไปสู่การลดลงในประชากรหมีขั้วโลก
ผลกระทบของขีดจำกัด
การที่ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและถาวร อาจเป็นเพราะการถึงขีดจำกัดหรือการมาถึง “จุดเปลี่ยน” ก็เป็นได้ อย่าง Prairie Pothole Region (พื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยทุ่งหญ้า และมีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อ) ที่กระจายอยู่ทั่วทั้งภาคเหนือและภาคกลางของสหรัฐ ถูกเรียกว่า “บ่อหญ้า” หรือ “ทะเลสาบพลาญ่า” ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้ค่อนข้างอบอุ่นตลอดปี แต่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอาจนำไปสู่ความแห้งแล้งได้ นกที่อาศัยน้ำในบ่อก็ลดลงตามไป ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการล่าสัตว์และธุรกิจนำเที่ยวชมทัศนียภาพและสัตว์ป่าต่างๆ ด้วย ในทำนองเดียวกัน แนวปะการังจะขับไล่จุลินทรีย์ที่อยู่ในเนื้อเยื่อซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อปะการัง ที่ซึ่งรู้จักในนามปะการังฟอกขาว ขณะที่อุณหภูมิในมหาสมุทรทั้งอุ่นและมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น การฟอกขาวทำให้ปะการังตายมากขึ้น ถี่ขึ้นและเรื้อรัง ซึ่งก็ยากที่จะทำให้แนวปะการังฟื้นคืนกลับมา
เชื้อโรค ปรสิต โรคภัยต่างๆ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศนั้น ต่างช่วยเสริมให้เชื้อโรคต่างๆ รวมถึงปรสิตแพร่กระจายได้ง่ายมากขึ้น สิ่งเหล่านั้นล้วนมีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ การเกษตร และการประมง เช่น ปรสิตในหอยนางรมจะคร่าชีวิตของมัน ซึ่งปรสิตชนิดนี้ก็พบได้มากทางตอนเหนือจากอ่าวเชซาพีค ถึงรัฐเมน (ในสหรัฐอเมริกา) และขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกภายในพื้นที่ 310 ไมล์ ในหน้าหนาว ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยทั่วไป
ความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาพร้อมกับการทำลายสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เพิ่มขึ้น เป็นผลกระทบสำคัญที่ทำให้พืชและสัตว์กว่า 20-30% ต้องสูญพันธุ์ไป จากการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ถ้าอุณหภูมิถึงระดับที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ เช่น สัตว์ที่อาศัยอยู่บนภูเขาจะต้องปรับสภาพตามสิ่งแวดล้อม เช่น ไพก้า หรือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล เช่น แมวน้ำ รวมถึงสิ่งมีชีวิตในกระแสน้ำเย็น เช่น ปลาแซลมอน ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้น
ที่มา: http://www3.epa.gov/climatechange/impacts/ecosystems.html