“บริษัทขยายธุรกิจจากประเทศไต้หวันมายังประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 ด้วยทีมบริหารที่เป็นคนไต้หวันทั้งหมด จนถึงปัจจุบันโรงงานได้ขยายกำลังการผลิตมากขึ้นจากการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทีมบริหารเดิมกำลังจะเกษียณอายุ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งพัฒนาทีมผู้บริหารคนไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญในงานอย่างสูง แต่ยังขาดมุมมองการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง ทำให้การปรับตัวขององค์กรเริ่มไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด เทคโนโลยี รวมถึงสภาพเศรษฐกิจในโลก จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับองค์กรในการพัฒนาทีมผู้บริหารให้มีศักยภาพที่สามารถดูแลกิจการให้เติบโตอย่างมั่นคง”
เรื่องราวจากการบอกเล่าของผู้บริหารชาวไต้หวันขององค์กรขนาดกลางแห่งหนึ่ง ในขณะเข้าร่วมโปรแกรมพัฒนาวิธีคิดของผู้บริหารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นตัวอย่างของปัญหาที่เริ่มพบเห็นได้มากขึ้นในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่เติบโตจนมีการขยับขยายไปสู่การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสร้างการยอมรับคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ่านมาตรฐานสากลต่างๆ และต้องเผชิญกับความรวดเร็ว (Speed) ในการเปลี่ยนแปลงความต้องการของตลาด หรือสภาพเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงต้องพึ่งพาทีมผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ มีมุมมองที่กว้างไกล รับรู้ข้อมูลหลากหลาย และสามารถกำหนดแนวทางที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับองค์กรได้ โดยมุ่งค้นหาและสร้างสรรค์โอกาส มากกว่าการแก้ปัญหารายวัน
แต่เนื่องจากทีมผู้บริหารในองค์กรเหล่านี้มักเป็นคนดั้งเดิมที่อยู่กับองค์กรมาเป็นเวลานานจนมีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในเรื่องผลิตภัณฑ์ แต่มักไม่ได้รับการพัฒนาทักษะด้านการบริหารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้เมื่อถูกกดดันจากสถานการณ์ภายนอกให้ต้องขยับออกจากรูปแบบเดิมอย่างรวดเร็ว จึงมักต่อต้านเพราะความวิตกกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองในอนาคต ซึ่งการฝึกอบรมให้เข้าใจแนวคิดและฝึกปฏิบัติหลักสูตรการบริหารจัดการในช่วงเวลาสั้นๆ คงไม่เพียงพอรับมือกับการขยายตัวทั้งขององค์กรอย่างรวดเร็ว และความต้องการที่ไม่แน่นอนของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นองค์กรต้องให้ความสำคัญกับวางแผนพัฒนาผู้บริหารกลุ่มดังกล่าว โดยเน้นให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ด้วยการให้โอกาสฝึกอบรมองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือศึกษาจากการดูแนวทางการดำเนินงานขององค์กรอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์แนวทางการพัฒนาองค์กรในมุมมองใหม่ๆ และที่สำคัญเป็นต้นแบบให้พนักงานร่วมกันผลักดันจนเกิดความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้พนักงานยินดีที่จะรับพัฒนาจากภายนอก เช่น การนำเอาหุ่นยนต์แขนกลเข้ามาทำงานร่วมกับพนักงาน ที่ได้รับพัฒนาความรู้ความสามารถให้ทำงานเทคโนโยลีชั้นสูงได้เป็นอย่างดี หรือการนำเอารูปแบบการบริหารสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมเข้ามาปรับโครงการการทำงาน ภายในทำให้เกิดหน่วยงานใหม่ที่สามารถร่วมกันนำพาองค์กรสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดด อาทิ ศูนย์นวัตกรรม ศูนย์พัฒนารูปแบบธุรกิจ เป็นต้น ด้วยความไม่พร้อมของบุคลากรทำให้องค์กรเหล่านี้ไม่สามารถเรียนรู้ หรือสร้างโอกาสจากการต้อนรับลูกค้าต่างประเทศที่เข้ามาตรวจประเมินคุณภาพผลิตภัณฑ์และเยี่ยมโรงงานได้มากนัก นอกจากการนำเสนอความเชี่ยวชาญผ่านคุณภาพผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต แต่อาจไม่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จะรองรับความต้องการที่หลากหลายรูปแบบ หรือความแน่นอนในการผลิตที่ยังคงใช้เทคโนโลยีแบบเก่า
อย่างไรก็ตาม หลายองค์กรเลือกทางลัดด้วยการนำเอาบุคลากรจากภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพื่อสร้างสภาวะจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง โดยขาดความเข้าใจบริบทขององค์กรอย่างชัดเจน จึงมักนำไปสู่การหยุดชะงัก ในช่วงแรกๆของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องในระยะยาว ดังเช่น การลาออกของพนักงานขายกลุ่มใหญ่ที่อยู่กับองค์กรมานานเมื่อมีการนำรูปแบบการคำนวณรายได้และเทคโนโลยีติดตามการทำงานที่ทันสมัยและเป็นมาตรฐานที่ยอมรับใช้กันในระดับสากล โดยองค์กรไม่เคยให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ รวมถึงสอบถามความคิดเห็นของพนักงาน เพื่อให้ทั้งองค์กรและพนักงานเกิดความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น
“การเตรียมความพร้อมให้พนักงาน” จึงเป็นหัวใจสำคัญสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่องค์กรทั้งหลายควรน้อมนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในเรื่องการพัฒนาคน “ต้องระเบิดจากข้างใน” หมายความว่า ต้องมุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนและครอบครัวในชุมชนที่เข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอกมิใช่การนำเอาความเจริญจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนและหมู่บ้าน ซึ่งหลายชุมชนยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว จึงไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่ความล่มสลายได้ (ที่มา1: สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
ที่มา : คอลัมน์ Think Productivity หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ