3 พฤศจิกายน 2016
Cr: ภาพ นายธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์

 

เมื่อเข้ามารับบทบาทของผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคลากรในหลากหลายอาชีพ ที่ไม่เพียงแค่ทำให้ผู้เรียนได้รับและเข้าใจองค์ความรู้อย่างถูกต้องเท่านั้น แต่ต้องสามารถทำให้ผู้เรียน “คิดเป็น” คือ รับรู้อย่างมีเหตุผล เข้าใจด้วยสติปัญญาอย่างลึกซึ้งจนสามารถนำไปพัฒนาให้เกิดคุณค่าได้หลากหลายทั้งต่อตนเองและผู้คนรอบข้าง ซึ่งข้าพเจ้าเองก็กระจ่างชัดถึงวิธีการสอนให้ “คิดเป็น” เมื่อได้อ่าน พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานในวโรกาสต่างๆ ซึ่งพระองค์ท่านจะอธิบายด้วยการเชื่อมโยงกับสิ่งใกล้ตัวที่เราคุ้นชิน ทำให้สามารถเข้าใจเรื่องยากๆ ได้อย่างชัดเจนด้วยเหตุและผล จนเกิดปัญญาที่จะนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ ดั่งเช่น พระราชดำรัสเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระราชทานในวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม 2542

“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือน ตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป“ หรือพระบรมราโชวาทที่พระองค์พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2523

การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญนั้นจะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น ถ้าพื้นฐานไม่ดี หรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะทำได้ จึงควรเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว ยังต้องรักษาพื้นฐานให้มั่นคง ไม่บกพร่อง พร้อมๆ กันได้

นอกจากนี้ในพระบรมราโชวาทและราชดำรัสของพระองค์ท่าน ยังสอนให้เรารู้จักคิดให้รอบ ไม่มองแค่ตนเอง แต่ต้องมองถึงคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรา หรือไม่มองแต่ประโยชน์ที่เราได้รับ แต่ให้มองกว้างไกลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้อื่นด้วยด้วย ดั่งเช่น พระราชดำรัสที่พระองค์พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าเนื่องในวันเฉลิมพระชนพรรษา 4 ธันวาคม 2533

ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่มิได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัวโดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ

อีกทั้ง เราทั้งหลายจะเห็นได้ว่า โครงการในพระราชดำริจำนวนมากมุ่งเน้นสร้างรากฐานที่แข็งแรงแก่ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวางรากฐานด้านการศึกษา หรือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ประเทศจึงจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทและราชดำรัสเน้นย้ำให้คิดถึงการสร้าง รากฐาน และพื้นฐาน ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้เรามีความพร้อมอย่างแท้จริงในการที่จะพัฒนาให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ดั่งเช่น ราชดำรัสของพระองค์ที่พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการสัมนาของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เรื่องการพัฒนาสังคมในด้านศีลธรรม และจิตใจ 15 ธันวาคม 2516

“จิตใจและความประพฤติที่สะอาด และมีระเบียบเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตจิตใจทั้งความประพฤติ ดังนั้นใช่จะเกิดขึ้นเองได้ หากแต่จำเป็นต้องฝึกหัดอบรม และสนับสนุนส่งเสริมกันอย่างจริงจังสม่ำเสมอ นับตั้งแต่บุคคลเกิด ดังที่มนุษย์ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ได้เฝ้าพยายามกระทำสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งเพื่อให้สามารถรักษาตัว และมีความสุข ความสำเร็จในการครองชีวิต ทั้งให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ด้วยความผาสุขสงบ”

อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมิได้เพียงทรงสอน ให้เรา “คิดเป็น” แต่พระองค์ท่านได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างในสิ่งที่ทรงสอนผ่าน พระราชจริยวัตร และพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมาย ทำให้เราทั้งหลายมิได้เพียงเรียนรู้ที่จะ “คิดเป็น” แต่ยังเข้าใจ “แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม”

จะเห็นได้ว่า พระบรมราโชวาทและราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็น ถ้อยคำง่ายๆ ดั่ง “ผู้เป็นพ่อ สั่งสอนลูก” ด้วยความปราถนาที่จะเห็นประชาชนของพระองค์สามารถเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้จริงจนเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ดังนั้นหากเราทั้งหลายเรียนรู้ และปฏิบัติตามคำสอนในพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์อย่างสม่ำเสมอ เราจะรู้ว่า “วิธีสอน…ของพ่อ” นี้ เป็นพรอันประเสริฐ ที่จะทำให้เราทั้งหลายประสบความสำเร็จในสิ่งที่คาดหวังและมีชีวิตที่ผาสุข ยืนนาน

“ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า นายต่อเกียรติ น้อยสำลี”

ที่มา: คอลัมน์ Think Productivity หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ