29 กันยายน 2016

%e0%b8%97%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%a2

“อาจารย์ค่ะ วางกล่องไกลขนาดนี้ อย่าคิดจะปากระดาษให้ลงเลย แค่ปาให้โดนยังยาก” เสียงเรียกร้องของกลุ่มผู้เรียน ในขณะกำลังทำกิจกรรมในหลักสูตร การคิดอย่างมีกลยุทธ์ สะท้อนให้เห็น วิธีคิดในกรอบของความเป็นไปได้ “เราสามารถทำได้ที่ระยะแค่นี้” โดยไม่พยายามท้าทาย สมมติฐาน “เราต้องปาให้ลงกล่อง ไม่ใช่แค่โดน แม้ระยะทางจะเป็นไปได้ยาก” ทำให้กระบวนการคิดสร้างสรรค์หยุดทำงานโดยอัตโนมัติ เพราะเราจะเลือกรูปแบบเดิม หรือวิธีการที่คุ้นเคยมาใช้ ซึ่งผลลัพธ์ก็ย่อมไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้น และกลายเป็นการย่ำอยู่ในพื้นที่จำกัดลงเลยเรื่อยๆ

หากเรากล้าท้าทาย ความเชื่อเดิมๆของตนเอง นั่นคือเราได้สร้าง โอกาส ดีๆ ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น และเมื่อเราลงมือค้นหาวิธีการ เอาชนะ เราก็จะได้เรียนรู้ในสิ่งที่คนอื่นยากจะเข้าใจ แต่นี่คือการ อยู่รอดอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องลงไปต่อสู้ แข่งขันกับคนกลุ่มใหญ่ ที่ให้พื้นที่สำหรับผู้มีกำลังมากกว่า แต่พื้นที่ซึ่งค้นพบจาก การทำลายสมมติฐาน ย่อมเป็นพื้นที่ของเรา ที่คนอื่นยากจะมาแก่งแย่ง

เริ่มต้นจากการตั้งคำถามกับตัวเอง “ถ้าสมมติว่า….เราควรทำอย่างไร” หรือ “เราจะทำอะไร สมมุติว่า…..” อย่างเช่น Julius Yego นักกรีฑาพุ่งแหลนชาวเคนยา ผู้ที่ฝึกซ้อม และศึกษาวิธีการเล่นผ่านยูทูปด้วยตนเอง โดยไม่มีโค้ชคอยให้คำแนะนำ ซึ่งหากยึดกับความคิดเดิมๆที่ เราจะเก่งได้ต้องมีโค้ชดีๆ Yego คงรอจนไม่มีโอกาสได้เป็นนักกรีฑาพุ่งแหลนเหรียญทองโอลิมปิคแน่ๆ

เมื่อเราจะท้าทายสมมติฐาน ต้องมีเป้าหมายที่เราเองยังเชื่อว่า “ไม่ง่าย” แต่ต้องไม่ไปกำหนดรายละเอียดที่ปลายทาง เพราะเราควบคุมไม่ได้ และจะทำให้เราหวาดกลัวความล้มเหลว เช่น วางเป้าจะต้องเป็นแชมป์ โดยไม่ไปกังวลว่าถ้าเล่นไม่ดี ไม่เป็นไปตามที่วางแผน หรือคนอื่นจะทำได้ดีกว่าอย่างไร แต่ให้หันกลับมามองจุดที่เรามีความสามารถทำได้อย่างดี แล้วพลิกแพลงสร้างสรรค์วิธีการ เราย่อมก้าวข้ามความกลัวเหล่านั้น อย่างที่ โปรเม เเอรียา จุฑานุกาล เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ”เมคอนโทรลให้ลูกลงหลุมไม่ได้ แต่เมคอนโทรลให้ลูกออกไปยังไงได้”

นอกจากนี้การท้าทายสมมุติฐาน ทำให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะต้องศึกษา เรียนรู้ มุ่งมั่นค้นคว้า จนเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง และสามารถสร้างสรรค์วิธีการที่แตกต่างจากแนวทางเดิมๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่คาดหวังให้ได้ ตัวอย่างบริษัท Fujifilm ถามทุกคนในองค์กรว่าจะอยู่ในธุรกิจฟิล์มและกล้องโดยได้รับยอมรับอย่างสูงในความเชี่ยวชาญใช่หรือไม่ ส่งผลให้มีการนำเทคโนโลยีด้านฟิล์ม มาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทป้องกันรอยย่นบนผิวหน้า ภายใต้ตราผลิตภัณฑ์ Asta Lift ซึ่งกลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับ

อย่างไรก็ตามสมมุติฐานจำนวนมากได้รับการยอมรับ และเชื่อถือเนื่องจากเป็นจริง อยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง หรือเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในขณะนั้น แต่มักถูกยึดถือโดยไม่พิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จนทำให้เกิดความแตกต่างจากบริบทเดิมที่เคยปฏิบัติ ลักษณะเดียวกับการทดลองนำปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ชื่อ northern pike ไปไว้ในตู้ปลาที่แบ่งแยกจากกลุ่มปลาเล็กๆ ซึ่งเป็นอาหารของมัน ด้วยแผ่นกระจกใส พบว่าเมื่อมันเห็นกลุ่มปลาเล็กๆ จะพุ่งเข้าหา ทันที แต่ก็จะพุ่งชนกับกระจกใสที่กั้นกลางทุกครั้ง จนเมื่อผ่านไประยะหนึ่งผู้ทดลองได้นำเอาแผ่นกระจกใสออก พบว่า เจ้าปลา northern pike กลับไม่แสดงอาการพุ่งเข้าหากลุ่มปลาเล็กๆอีกเลย ในโลกของการทำงานก็เช่นกัน เรามักสร้างสมมติฐาน โดยไม่แยกแยะว่าสถานการณ์ปัจุบันเหมือน หรือแตกต่าง จนทำให้เกิดช่องว่าง จำนวนมากที่กลายเป็นโอกาสที่ไม่มีใครอยากเข้าไปเปลี่ยนแปลง เช่น เรามักบอกว่าต้องเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน จนบางครั้งกลายเป็นเหตุผลที่ใช้อธิบายความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงาน เพราะคนที่มีประสบการณ์ถึงจะบอกได้ว่าเหมาะกับงานไหน แต่งานใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เราจะไปหาคนที่ใช่จากที่ใด หรือลูกค้าเจ้าใหญ่ๆทำให้องค์กรอยู่รอด จนบางครั้งละเลยลูกค้าขนาดเล็กที่วันหนึ่งเขาอาจจะโต จนมีความสำคัญมากกว่า ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็ได้สูญเสียลูกค้ากลุ่มนี้ไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ทุกความเชื่อเดิมๆ จึงสามารถถูกท้าทายได้ หากเข้าใจสภาพแวดล้อม หรือสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการยอมรับ และพิจารณาความแตกต่างในปัจจุบัน ซึ่งเราต้องเรียนรู้ที่จะถาม “ทำไม” จึงเกิดความเชื่อเหล่านั้น และ “ความเชื่อเหล่านั้น ยังเป็นจริง เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปหรือไม่”

ดังนั้นการท้าทายสมมติฐานทั้งหลายในโลกธุรกิจ จะทำให้เห็นโอกาสที่คนอื่นยังไม่กล้าลิ้มลอง จึงเป็นการจุดประกายความคิดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ สร้างความแตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดรูปแบบธุรกิจเล็กๆ อย่าง STRATUP ที่สร้างความสั่นสะเทือนกับโลกทั้งใบได้ “เพียงเริ่มต้นที่กล้าคิดท้าทาย

ที่มา : คอลัมน์ Think Productivityหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ