18 กันยายน 2016

%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%81%e0%b8%95%e0%b9%88%e0%b9%84%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a2

ปี พ.ศ. 2556 ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย กล่าวถึงข้อมูลจาก UNDP ว่าประเทศไทยใช้งบประมาณด้านการศึกษามากเป็นอันดับสองของโลกแต่คุณภาพการศึกษาอยู่อันดับที่ 88 ของโลก และอันดับ 8 ของอาเซียน ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อยู่อันดับที่ 84 ของโลก

ปี 2558 ป้ามล บ้านกาญจนาฯ หรือ คุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ได้ให้ข้อมูลว่าในแต่ละปีเด็กและเยาวชนทำความผิดถูกจับกุมจำนวนถึง 30,000-50,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้ 70% เป็นเด็กที่ต้องออกจากระบบการเรียน

ปี 2559 สถาบันอนาคตไทยศึกษานำเสนองานวิจัย “โอกาสที่หายไป : 12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย” ในงานสัมมนา “Thailand Strategic Giving : Changing Tomorrow through Philanthropy” แสดงให้เห็นว่า 16 ปีที่ผ่านมาของการปฏิรูปการศึกษาไทยไม่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้เกิดค่าเสียโอกาสที่ประเทศควรจะได้รับประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท หรือกว่า 11% ของจีดีพี โดยตัวเลขค่าเสียโอกาสที่คำนวณได้นั้น เกิดจากการเปรียบเทียบประเทศที่ปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าการศึกษามีปัญหาทุกระดับ พัฒนาการเด็ก 1 ใน 5 จะต่ำกว่าเกณฑ์ เด็กประถมอ่านไม่ออก 1.4 แสนคน และเขียนไม่ได้ 2 แสนกว่าคน ขณะที่มัธยม 32% อ่านจับใจความไม่ได้

เด็ก 6 ใน 10 เท่านั้นที่เรียนจบมัธยมศึกษา อีกทั้งโรงเรียนที่มีคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ในอันดับ 50 ของประเทศ 34 แห่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ เด็กต่างจังหวัด มีเพียง 20% ที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้

นอกจากนั้นยังมีข้อมูลจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีที่กล่าวถึงปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พบว่าวัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปีคลอดบุตรเพิ่มขึ้นจาก 90,000 คน ในปี 2543 เป็น 104,289 คน ในปี 2558

เป็นเวลามากกว่า 10 ปีที่องค์กรธุรกิจในประเทศไทยมีการดำเนินการในเรื่อง CSR และประเด็นการศึกษาดูเหมือนจะได้รับความสนใจมากที่สุดทั้งที่เป็นธุรกิจข้ามชาติ และธุรกิจไทยรายใหญ่ๆ เห็นได้จากสื่อประชาสัมพันธ์ และการนำเสนอในเวทีสาธารณะ ถ้าถามถึงความสำเร็จของการดำเนินการ แน่นอนว่ามีตัวเลขสวยๆ มายืนยันความสำเร็จขององค์กรอย่างปฏิเสธไม่ได้

แต่ปัญหาการศึกษาไทยกลับอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เพราะหมายถึงคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศไทยในอนาคตเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนคนวัยทำงานน้อยลง และในจำนวนนี้ดูเหมือนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลผลิตที่ด้อยคุณภาพอีกด้วย ตามที่นักวิชาการ TDRI เคยวิเคราะห์ไว้หลายปีก่อน

นั่นเป็นเพราะการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดใช่หรือไม่ จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าปัญหาด้านการศึกษามีความซับซ้อนที่เกี่ยวโยงไปถึงปัญหาสังคมหลายประเด็น องค์กรธุรกิจที่เลือกประเด็นด้านการศึกษาขึ้นมาทำอาจมองไม่เห็นหรือไม่กล้าจับประเด็นเหล่านี้ เพราะมักจะเลือกทำกิจกรรมด้านการส่งเสริมมากกว่าที่จะพยายามร่วมแก้ปัญหา ซึ่งง่ายในการดำเนินการมากกว่า

คำถามก็คือ การทำ CSR ที่ลงทุนไปกับงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปี แต่ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ จะถือว่าเป็นการสูญเปล่าหรือไม่

ความด้อยคุณภาพของทุนมนุษย์มีผลต่อการดำเนินธุรกิจแน่นอน ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่ CSR จะกำหนดเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้ยินมาว่า ในงานสัมมนา “Thailand Strategic Giving : Changing Tomorrow through Philanthropy” มีการพูดถึงประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคุณอานันท์ ปันยารชุณที่กล่าวว่า “เราบริจาคกันแบบกระจัดกระจาย ให้แบบไม่หวังจะแก้ไขปัญหา ไม่สนใจที่ติดตามดูผล”

ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเราทำมากแต่ได้น้อย และยิ่งได้น้อยไปอีกเมื่อต่างคนต่างทำในปัญหาเดียวกัน แต่กลับไม่มีใครให้ความสนใจกับผลลัพธ์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ถึงเวลาที่องค์กรธุรกิจต้องกลับมาทบทวนการทำ CSR กันอีกครั้ง ไม่ว่าจะทำมากหรือทำน้อย เพราะสังคมกำลังรอคอยการเปลี่ยนแปลง

ที่มา : คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น