9 กุมภาพันธ์ 2015

หากมองรอบตัวเราในขณะนี้  จะพบว่าสิ่งต่าง ๆ ถูกขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเทคโนโลยีระดับมหภาค ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม  คนสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ผ่านสื่อสังคมออนไลน์  (Social Media)  แม้แต่การตลาดหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ก็ทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพราะทำง่ายกว่า และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายและรวดเร็วกว่า  สื่อสังคมออนไลน์มีทั้งด้านบวกและลบ ทั้งเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ลูกค้ารู้จักและเข้าถึงองค์กรได้ง่ายขึ้น แต่ก็เป็นช่องทางให้ข้อมูลในด้านลบหรือข้อร้องเรียนต่างๆ แพร่กระจายไปได้รวดเร็วเช่นกัน

ในยุคของการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้ องค์กรต้องเรียนรู้ให้สามารถพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วให้ได้  ซึ่งการวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) แบบเดิมๆ อาจไม่สามารถนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด หรือความต้องการของลูกค้าได้ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้ ต้องมุ่งเน้นอนาคต (Future focus) โดยใช้เทคนิคการบริหารอนาคต (Future Management) ดังภาพที่  1

Future-1ภาพที่ 1 : แสดงประเด็นสำคัญของเทคนิคการบริหารอนาคต (Future Management)

เทคนิคการบริหารอนาคต ( Future Management) มีประเด็นพิจารณาที่สำคัญ ดังนี้

  • การชี้บ่งแนวโน้มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอาจทอดยาวต่อเนื่องไปในอนาคต
  • การวิเคราะห์หาสาเหตุหลักหรือแรงขับเคลื่อนที่เป็นเหตุทำให้เกิดแนวโน้มเหล่านั้น
  • สร้างภาพเหตุการณ์จำลองอนาคตที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แล้วประมวลเป็นเรื่องราวของอนาคตที่จำลองขึ้น

เทคนิคการบริหารอนาคต (Future Management) เป็นศาสตร์ด้านการบริหารอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้องค์กรอยู่นำหน้าการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีนัยสำคัญ ด้วยการชี้บ่งการพัฒนาหลากหลายที่เป็นไปได้ในอนาคตที่ไกลออกไป เพื่อให้องค์กรสามารถวางแผนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  สามารถฉกฉวยโอกาสที่กำลังจะมาถึง  ตลอดจนหลีกเลี่ยงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้

หากองค์กรต้องการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคนิคการบริหารอนาคต (Future Management) องค์กรสามารถเริ่มได้ด้วยการบูรณาการ หลักการบริหารเชิงกลยุทธ์ ( Strategic Management) ขององค์กรกับเทคนิคการบริหารอนาคต (Future Management) เพื่อพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ( Excellence Management)  ดังภาพที่ 2

Future-2
ภาพที่ 2 : แสดงความสัมพันธ์ของการบูรณาการ Strategic Management ขององค์กรกับ Future Management

จากภาพความสัมพันธ์ข้างต้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งของการใช้เทคนิคการบริหารอนาคต (Future Management) คือการมองหาสิ่งใหม่ที่จะมีประโยชน์ต่อมนุษย์ในอนาคต เช่น ในอีก 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะพัฒนาไปอย่างไร การสื่อสารของคนจะเป็นอย่างไร การใช้จ่ายของคนจะเป็นรูปแบบใด เป็นต้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการมองหาโอกาสเชิงกลยุทธ์ขององค์กร (Strategic Opportunity) แล้วนำมาวิเคราะห์และประเมินผลด้วยประเด็นพิจารณาที่สำคัญด้วยเทคนิคการบริหารอนาคต (Future Management) เพื่อกำหนดเป็นทิศทางและเป้าหมายขององค์กรอย่างชาญฉลาด (Smart Strategic Direction) และนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ผ่านการกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ (Strategic Objective) และการจัดทำแผนกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลและนำไปสู่การพัฒนาสู่ความเป็นเลิศต่อไป

การบริหารเชิงกลยุทธ์ขององค์กรยุคใหม่ ที่พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นในปัจจุบันและอนาคต ควรเป็นองค์กรที่มองการณ์ไกล มองเห็นโอกาสในอนาคต ด้วยความเข้าใจความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าทั้งในปัจจุบันและในอนาคต มีความตื่นตัวตลอดเวลา ไม่หลงลำพองกับความสำเร็จในปัจจุบัน พร้อมรับมือกับปัญหาใหม่ที่อาจเกิดขึ้น หรือเรื่องไม่คาดฝันที่เข้ามากระทบกับธุรกิจ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน เกิดการตัดสินใจใหม่ หรือแม้แต่ต้องสร้าง Scenario ใหม่




Writer

โดย สุประภาดา โชติมณี

จบการศึกษา : ปริญญาโทจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาธุรกิจอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ และปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ประสบการณ์ : เคยร่วมงานกับบริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ เป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง Modern KM –Application in business management (จัดการความรู้อย่างไรให้ใช้ได้ผลกับทุกระบบ) ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รับเกียรติเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความรู้ให้กับนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยบูรพา
ปัจจุบัน : เป็นวิทยากรที่ปรึกษาส่วนจัดการธุรกิจเพื่อความยั่งยืน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ