22 ธันวาคม 2015

ben1

“ มันต้องมีวิธีที่ดีกว่านี้”

จากวิธีคิดนี้ได้สร้างคนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าความสำเร็จของเขานั้นมาจากปาฏิหาริย์ของพระผู้เป็นเจ้า !

ผู้ยิ่งใหญ่คนนี้คือนายแพทย์เบนจามิน คาร์สัน นายแพทย์ท่านนี้เป็นคนผิวดำ เกิดในสลัมที่เมืองดีทรอย รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา มีแม่ที่เป็นแม่วัยทีน และพ่อทิ้งไปตั้งแต่อายุ 8 ขวบ แต่ได้พัฒนาตนเองจนกลายเป็นแพทย์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในวิชาชีพด้านกุมารศัลยกรรมประสาท ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งที่ยากที่สุด ผ่านการรักษาเคสที่ยากและซับซ้อนมามากมายจนได้รับการยกย่องอย่างสูง ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าภาควิชากุมารประสาทศัลยศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจอห์น ฮอบกินส์ เมื่ออายุเพียง 33 ปี ปัจจุบันยังเป็นหนึ่งในผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆทั่วโลก

นับเป็นความโชคดีในท่ามกลางชะตากรรมที่รันทด ท่านมีแม่เป็นหญิงสาววัยรุ่นที่มีวุฒิภาวะสูง โซเนีย คาร์สันมีวิธีคิดที่สร้างสรรค์และทัศนคติเชิงบวก แม้ว่าตนเองต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตเวชเป็นระยะๆ แต่เธอก็ให้ความสำคัญในการอบรมเลี้ยงดูบุตรชายทั้งคู่จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และถ่ายทอดวิธีคิดนั้นให้กับลูกชายทั้งสอง จนเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้พวกเขาฝ่าด่านอุปสรรคนานัปการจนก้าวมาสู่จุดสูงสุดของวิชาชีพ

เมื่อครั้งที่คุณหมอและพี่ชายอยู่ในวัยเด็ก โซเนีย คาร์สันก็เริ่มจำกัดการดูทีวี โดยให้เลือกดูได้เพียง 3 รายการต่ออาทิตย์ และให้ลูกทั้งสองไปยืมหนังสือจากห้องสมุดมาอ่านสัปดาห์ละสองเล่ม เธอบอกกับลูกซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “เบนนี่ ถ้าลูกอ่านได้ ที่รัก ลูกจะเรียนรู้ได้ทุกอย่างที่ลูกอยากรู้ ประตูของโลกเปิดให้แก่คนที่อ่านเป็น และลูกแม่จะประสบความสำเร็จในชีวิต” นอกจากนั้นเธอยังชี้ให้ลูกสังเกตทุกสิ่งรอบตัว โดยเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จ เธอพูดกับเด็กทั้งสองว่า “นี่คือสิ่งที่คนรวยทำ นี่คือพฤติกรรมของคนที่ประสบความสำเร็จ นี่คือวิธีคิดของพวกเขา”

นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณหมอคาร์สันและพี่ชายเป็นคนกระตือรือล้นที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา และจากการเป็นนักอ่านทำให้ท่านเรียนรู้ได้ลึกซึ้งในทุกๆ เรื่อง สามารถบูรณาการความรู้มาใช้ในการทำงานได้ตลอดเวลา ได้รับการยอมรับตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จนได้มาเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

ความเชื่อที่ว่า “มันต้องมีวิธีที่ดีกว่านี้” เป็นส่วนหนึ่งในวิธีคิดของคุณหมอคาร์สันในทุกๆ เรื่อง ทำให้ท่านประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่นในทุกงานที่ทำ แม้ว่างานนั้นจะดูต่ำต้อยเพียงใดในสายตาคนอื่น เช่น เมื่อครั้งที่ยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปลาย ในช่วงปิดภาคเรียนท่านต้องไปหารายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา ท่านไปรับจ้างเก็บขยะตามทางหลวง ซึ่งเป็นอาชีพที่รัฐบาลกลางทำโครงการเพื่อช่วยนักศึกษาในย่านแออัดของเมืองดีทรอย สามารถคุมกลุ่มของตนเองเก็บขยะได้ถึง 100-200 ถุง/วัน ขณะที่กลุ่มอื่นได้แค่ 12 ถุง ด้วยการเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ให้ทีมงานทำงานเช้าขึ้น เสร็จเร็วขึ้น และได้ผลงานดีขึ้น ท่านได้กล่าวว่าการทำงานได้ให้บทเรียนที่สำคัญนั่นคือทำงานอย่างไรให้มีคุณภาพ คิดเสมอว่าไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม “ผมตั้งใจว่าจะเป็นคนดีที่สุดที่พวกเขาเคยจ้าง” และการที่ทำให้ลูกทีมเก็บขยะได้มากกว่าเดิม ก็ทำให้ “พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจ พร้อมสำหรับความท้าทายใหม่ๆ อีกด้วย”

และเมื่อเข้าไปสู่วิชาชีพแพทย์อย่างที่ตั้งใจมาตั้งแต่วัยเยาว์ ความเชื่อที่ว่างานทุกอย่างสามารถทำให้ดีขึ้นได้เสมอ ทำให้คุณหมอคาร์สันกล้าที่จะทำการรักษาคนไข้ในเคสที่มีความเสี่ยงสูง และยากที่จะรอดชีวิต ทั้งนี้เพราะการทุ่มเทให้กับการเรียนรู้จนรู้ลึกและรู้จริง ความศรัทธาในวิชาชีพ ความเมตตาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ทำให้ท่านกล้าที่จะทำให้สิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ และบางครั้งก็ได้รับการต่อต้านอย่างหนัก แต่เพราะคนไข้เหล่านั้นตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง รอความตายทุกขณะจิต คุณหมอคาร์สันจึงคิดว่าอย่างน้อยที่สุดก็ยังมีโอกาส ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ทำให้คนไข้ส่วนใหญ่รอดชีวิตมาได้ราวกับปาฏิหาริย์ ท่านได้สรุปบทเรียนไว้ว่า “เมื่อคนเรารู้จักความสามารถของตนดี และเมื่อพวกเขารู้งานของตน มันไม่สำคัญเลยว่าใครจะคัดค้านพวกเขา ไม่ว่าผู้วิจารณ์จะมีชื่อเสียง ความโด่งดัง หรืออำนาจ หรือคิดว่าพวกเขารู้ดีเพียงใด”

ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่ความบังเอิญ หรือเป็นการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าคุณหมอจะมีความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าอย่างยิ่ง แต่ความศรัทธานั้นยิ่งทำให้ท่านทุ่มเทกับการทำงานอย่างหนัก จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นในทุกย่างก้าวของชีวิต

ด้วยวิธีคิดและทัศนคติเชิงบวกนั่นเอง ที่ได้สร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นจริงกับหลายชีวิตที่ผ่านพ้นภาวะวิกฤติด้วยมือของคุณหมอคาร์สัน ซึ่งนั่นก็คือวิธีคิดและทัศนคติแบบ Productivity จากงานวิจัยของ TDRI และการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาตร์หลายท่านที่เคยกล่าวถึงไปแล้ว Productivity เป็นวิธีคิดที่จะเยียวยาปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสังคมที่ขาดวินัย ไร้ทิศทางในการพัฒนามายาวนาน

แต่ถ้ามีความเชื่อว่า “ มันต้องมีวิธีที่ดีกว่านี้” ก็ขอให้เริ่มที่ตนเอง คนรอบข้าง คนในองค์กรไปก่อน แล้วปาฏิหาริย์อาจจะเกิดขึ้นได้กับสังคมไทยในวันหนึ่งก็เป็นได้

จากหนังสือ”สองมือแห่งศรัทธา ชีวิตแพทย์ผู้สร้างแรงบันดาลใจ : นายแพทย์เบนจามิน คาร์สัน” (Gifted Hand : The Ben Carson Story) เขียนโดย Ben Carson & Cecil Murphey แปลโดยวิภาดา กิตติโกวิท ในโครงการหนังสือเพื่อสังคม

 

ที่มา: คอลัมน์ Productivity food for thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ภาพประกอบ : www.bencarson.com




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น