ในโลกยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เชื่อมต่อคนจากแต่ละมุมโลกให้เข้าถึงกัน อีกทั้งระบบอินเทอร์เน็ตยังสามารถย่อโลกใบใหญ่ให้มาอยู่บนมือเราได้ คำว่า “เศรษฐกิจแบ่งปัน” หรือ “Sharing Economy” จึงเกิดขึ้นจากการที่ประชากรหันมาแชร์ทรัพยากรต่างๆ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมากขึ้น นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจยุคปัจจุบัน
Chris Martin, Research Fellow จาก The Open University ได้เขียนบทความไว้ว่า มีหลายคนเชื่อว่า อนาคตระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) จะถูกแทนที่ด้วยระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) แม้ว่าการมองภาพและรูปแบบของ Sharing Economy จะยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น Share the World’s Resource ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร มองเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจแบ่งปันนั้น หมายถึง การที่รัฐนำภาษีที่จัดเก็บไปมาจัดหาบริการสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน (Shared Public Services) ขณะที่ Sharing Economy ในความหมายของรัฐบาลอังกฤษ จะพูดถึงการเชื่อมต่อกันผ่านระบบเครือข่ายที่จะทำให้ทุกคนกลายเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ ได้ทันที โดยการให้เช่าทรัพย์สินของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น บ้าน ทางส่วนบุคคล หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง ความแตกต่างนี้อยู่ที่ว่า ใครจะคาดหวัง หรือวิตกกังวล และมองคุณค่าของ Sharing Economy อย่างไร
แม้ว่าภาพจะยังคลุมเครือ แต่สิ่งที่เราเริ่มจะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน คือ Platform ของการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงผ่านระบบเครือข่าย ยกตัวอย่างเช่น Airbnb หรือ Uber ซึ่งเริ่มจากบริษัทที่เกิดใหม่ (Startups) และเติบโตขึ้นมาเป็นบริษัทระดับโลก และมีแนวโน้มที่จะมีบริษัทแบบนี้เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของธุรกิจในรูปแบบใหม่นี้ ยังมีน้อยมาก ทำให้ไม่สามารถเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า Sharing Economy จะพัฒนาไปในรูปแบบไหน
Professor Chris Martin อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Bath ประเทศอังกฤษ ได้ทำการวิเคราะห์บทความและรายงานที่เกี่ยวกับ Sharing Economy กว่า 250 เรื่อง ทั้งความเห็นสนับสนุนและความเห็นต่าง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า พัฒนาการของ Sharing Economy อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ในหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของผู้คนในโลกอย่างสิ้นเชิง ไปจนถึงการไม่มีบทบาทใดๆ ในอนาคตเลยก็ได้ โดย Prof. Martin ได้จำลองสถานการณ์ของพัฒนาการของ Sharing Economy ออกเป็น 4 แบบ ดังนี้
1. การบริโภคสินค้าแบบ 2.0
Platform ของธุรกิจที่เชื่อมโยงผ่านระบบเครือข่ายจะสร้างรูปแบบของการใช้สินค้าร่วมกัน (Collaborative Consumption) ยกตัวอย่างเช่น Easycar Club ซึ่งเป็นการแบ่งปันพาหนะ โดยแต่ละคนสามารถให้เช่ารถยนต์ของตัวเองได้ในช่วงเวลาที่ตัวเองไม่ได้ใช้งาน การใช้สินค้า 2.0 นี้จะช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ความต้องการสินค้าลดลง ส่งผลให้เกิดการผลิตสินค้าน้อยลง และลดการปล่อย CO2 ในที่สุด
หากเป็นไปในรูปแบบนี้ Sharing Economy จะสร้างรูปแบบการบริโภคสินค้าแบบใหม่ แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง รูปแบบการใช้สินค้า 2.0 ก็อาจไม่ได้นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะผู้คนก็จะยังคงนำเงินส่วนที่ประหยัดได้ไปบริโภคสินค้าหรือบริการอื่นๆ อยู่ดี
2. การทำงานรูปแบบใหม่
การสร้างรูปแบบการทำงานใหม่นี้มีการพูดถึงมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ยกตัวอย่างเช่น Uber ซึ่งทำให้คนที่มีรถยนต์สามารถใช้เวลาว่างมาเป็นคนขับรถรับจ้างได้ หรือ Airbnb ที่ทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์สามารถนำพื้นที่เหลือใช้ของตัวเองมาให้บริการที่พักหรือให้เช่าที่ดิน หรือTaskrabbit ที่ทำให้คนที่มีเวลาว่างสามารถทำงานพิเศษต่างๆ ได้ เช่น รับจ้างทำความสะอาด รับจ้างซื้อของ รับจ้างส่งของ อย่างไรก็ดี รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการจะเป็นความสัมพันธ์ในระยะสั้นเท่านั้น อีกทั้ง แรงงานหรือผู้รับจ้างในธุรกิจลักษณะนี้ก็จะไม่ได้รับสิทธิหรือผลประโยชน์ใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นการลาป่วย หรือการลาพักผ่อนประจำปี ซึ่งก็เป็นจุดอ่อนที่จะถูกคู่แข่งโจมตี รวมถึงแรงต้านจากฝั่งแรงงานเองด้วย
หากการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในลักษาณะนี้ Sharing Economy จะเปลี่ยนรูปแบบของระบบการทำงานของโลกไปเลย ซึ่งมองในแง่บวก คือการสร้างโอกาสในการประกอบการ แต่หากมองเชิงลบ อาจเป็นการไปแย่งงานของแรงงานที่ไม่มีทักษะหรือผู้มีรายได้น้อยก็ได้เช่นกัน
3. การสร้างอนาคตที่เป็นธรรมและยั่งยืน
แนวทางที่นักเคลื่อนไหวกลุ่มชนชั้นรากหญ้า เช่น Ouishare หรือ Shareable ซึ่งต่อต้านระบบเศรษฐกิจทุนนิยม พยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้น โดย Sharing Economy จะมีพื้นฐานมาจากการร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นการรวมในรูปแบบกลุ่มสหกรณ์ การพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่เป็น Open Source การระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) การสนับสนุนให้ทุกคนสามารถผลิตสินค้าได้ด้วยตนเองเพื่อลดการพึ่งพาจากธุรกิจขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น สหกรณ์ผลิตขนมปัง (bread co-ops) ชุมชน Open-source ที่พัฒนาเครื่องมือในการลดการใช้พลังงาน Kickstarter เพื่อระดมทุนในการทำโครงการอะไรก็ตาม FabLabs ซึ่งให้ใช้พื้นที่และอุปกรณ์ในการผลิตสินค้า
แนวทางนี้จะมุ่งเน้นเรื่องสร้างพลังให้แก่ชุมชน และสร้างระบบเศรษฐกิจแบบที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของการกระจายความเจริญ ซึ่งหากแนวทางนี้เกิดขึ้นจริง ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็อาจถึงคราวล่มสลาย
4. การพ่ายแพ้หรือการไม่มีบทบาทใดๆ อีกต่อไป
ในทางกลับกัน ก็มีความเป็นไปได้ที่ Sharing Economy อาจจะถูกพูดถึงน้อยลงเรื่อยๆ บางทีอาจถูกแทนที่ด้วยแนวคิดอื่นๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น gig economy ซึ่งเป็นอีก Platform ของการทำงานในอนาคต หรือ collaborative economy ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มรากหญ้าเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
โดยสรุป เป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะคาดเดาว่า แนวทางหรือพัฒนาการของ Sharing Economy จะเป็นแบบไหน โดยส่วนตัวแล้ว Prof. Martin เอง อยากให้ Sharing Economy ช่วยหยุดระบบเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งไม่ยั่งยืน เพราะผู้ที่กุมอำนาจในระบบเศรษฐกิจเป็นคนเพียงกลุ่มเดียว แต่เขาก็เห็นว่า โอกาสดูจะน้อย เพราะในปัจจุบันกลุ่มคนที่พยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม เช่น กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นชนชั้นรากหญ้า ก็จะถูกลดบทบาทและทำให้อ่อนแอลงเรื่อยๆ ซึ่งก็ทำให้พอมองภาพออกว่า ใครจะเป็นผู้ชนะในเกมนี้
แหล่งที่มา : https://agenda.weforum.org/2015/08/how-the-sharing-economy-could-develop/