24 กันยายน 2015

ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ หากทำธุรกิจเพื่อหวังรับผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน ดังเช่นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ อาทิ การปล่อยสารตะกั่วในหนองน้ำ การปล่อยน้ำเสียตามแหล่งชุมชน หรือการขุดเจาะเหมืองแร่พลังงานในท้องถิ่น แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่ไปได้สวย ก็คงไม่ยั่งยืน หากองค์กรไม่คำนึงถึง ‘Sustainable Economy’

โดยเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน ต้องคำนึงถึงกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อเกิดผลกระทบขึ้น กลุ่มแรกที่สัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงนั้นคือ ชุมชนในท้องถิ่น ฉะนั้น การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดความต้องการ และระบุถึงวิธีการดำเนินการ และทางเลือกใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับชุมชนนั้นๆ โดยการนำเสนอด้านข้อมูลข่าวสาร ต้องมีความหลากหลายในการดำเนินการ ด้วยเทคนิคและแนวทางที่แตกต่างตามแต่ละชุมชน นำความคิดเห็นที่สำคัญๆ มาวางแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืน

ยกตัวอย่างเช่น

1. เกษตรและระบบอาหาร

ชุมชนต้องเริ่มมีส่วนร่วมในการรักษาที่ดินทำกิน เพื่อให้เกิดการเกษตรที่ยั่งยืน โดย 1) สนับสนุนการผลิตอาหารท้องถิ่น 2) อำนวยความสะดวกในการผลิต 3)การกระจายผลผลิตทางการเกษตร ที่ผลิตได้ผ่านช่องทางการตลาดของเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร โดยอาจนำระบบโปรแกรมการซื้อ-ขาย หรือประมูล เข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานที่ทุกคนในชุมชนยอมรับ (ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง)

2. ประมง

ความพยายามในการรักษาระบบนิเวศน์ ทั้งสัตว์ป่า และสัตว์น้ำ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางอาหารและสุขภาพรและระบบนิเวศน้ำจืด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการประมงและระบบนิเวศทางน้ำ ต้องมีความรับผิดชอบในการจัดการทรัพยากรเหล่านี้ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนช่วยให้เกิดข้อตกลงและความร่วมมือในการบริหารจัดการ และวางนโยบายมาตรการแก้ไขร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนชาวประมง

3. ป่าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้

ต้นไม้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทั้งในเมืองและชนบท ต้นไม้ถือเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และไม้ก็เป็นที่ต้องการของมนุษย์ เช่นกัน ซึ่งถือว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกระดาษ อาคาร เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ ฉะนั้น ต้องสร้างความสมดุลเหล่านี้ให้คงอยู่ และพิจารณาร่วมกันว่าทำอย่างไรให้สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจต้องยั่งยืนควบคู่กัน

4. การผลิตและอุตสาหกรรม

ในเชิงเศรษฐกิจ ธุรกิจต้องไม่กระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ หรือหากกระทบก็ต้องน้อยที่สุด โดยชุมชนควรได้รับการส่งเสริมให้มีงานทำ ซึ่งถือเป็นแรงงานสำคัญให้แก่อุตสาหกรรมในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งอุตสาหกรรมนั้นๆ ต้องขจัดผลกระทบเชิงลบให้เป็นผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรม โดยการสำรวจเพื่อค้นหาแนวทางใหม่ๆ ที่เหมาะสม

5. ธุรกิจขนาดเล็ก

ธุรกิจขนาดเล็กถือเป็นที่มาของการจ้างงานและผู้ให้บริการและผู้บริโภคสินค้าและยังเป็นธุรกิจที่รักษาเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น การดำเนินงานในลักษณะธุรกิจขนาดเล็กในชุมชนดังกล่าวจึงควรจะสนับสนุนระบบนิเวศท้องถิ่น ลดการใช้พลังงานและของเสีย และหันไปให้ความสำคัญกับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และวัสดุรีไซเคิล

6. เทคโนโลยี

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางธุรกิจสุขภาพ การศึกษาและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่สำหรับชุมชน การแจกแจงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ถึงประโยชน์ที่ได้รับ และรายละเอียดด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ชุมชนสามารถบอกแนวโน้มและเป็นผู้ชี้แนะแก่ธุรกิจได้

7. เศรษฐศาสตร์และการเงิน

ประชาชนจากทุกภาคส่วนของชุมชนสามารถมีบทบาทในอนาคตของเศรษฐกิจในท้องถิ่นของตนเอง การทำงานร่วมกันทางธุรกิจและผู้นำรัฐบาล หรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรในท้องถิ่น และกลุ่มพลเมืองสามารถร่วมวิเคราะห์ความต้องการและการใช้ทรัพยากร เพื่อให้คำแนะนำทางเศรษฐกิจ ซึ่งสถาบันการเงินในประเทศสามารถลงทุนเพื่อริเริ่มธุรกิจที่ยั่งยืนแก่ชุมชน

8. เมือง/ชนบทความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

ประชาชนในเมืองและชนบท ต้องหันมาให้ความสนใจในประเด็นของการทำงานร่วมกันในรูปแบบที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือในการเก็บรักษาที่ดินทำการเกษตรแบบยั่งยืน, (ชนบทเพาะปลูกเพื่อส่งให้คนในเมือง) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านอาหาร ความสามารถในการจัดการความเจริญเติบโตของชุมชนเมืองสู่ชุมชนชนบท การจัดสรรทรัพยากรในชนบทอย่างเหมาะสม การปรับปรุงและกำหนดแนวโน้มของการท่องเที่ยว การวางแผนพัฒนาที่ช่วยลดผลกระทบให้น้อยที่สุด และการวางระบบการขนส่ง

แหล่งที่มา : http://www.sustainable.org/economy




Writer

โดย สุภาพร เตวุฒิธนกุล

จบปริญญาตรีและโทด้านรัฐศาสตร์ (บริหารรัฐกิจ) ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประสบการณ์ทำงานที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติกว่า 10 ปี ปัจจุบันตำแหน่งนักวิจัยด้านการจัดการองค์กร ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ