24 กันยายน 2015

ในยุคของ ‘Industry 4.0’ แนวคิดใหม่มาจากชื่อนโยบายอุตสาหกรรมแห่งชาติของเยอรมันที่ประกาศเมื่อปี ค.ศ. 2013 แนวคิดก็คือ โลกของเราจะเข้าสู่ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ภายใน 20 ปีข้างหน้า โดยถูกกล่าวว่าเปรียบเสมือนการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งใหม่ล่าสุดที่มีจุดเด่น คือ การพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารกับเครื่องจักรและระบบในลักษณะ Industrial Automation เพื่อผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภครายบุคคล แต่ยังรักษาประสิทธิภาพการผลิตที่สูง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการผลิต เช่น 3D Printing, Robot และ Cloud สำหรับสหรัฐอเมริกาเรียกแนวคิดนี้ว่า “The Internet of Things” คือการทำให้กระบวนการผลิตสินค้าหรือแม้กระทั่งทำให้ตัวสินค้าเองเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล

หากกล่าวถึงผลกระทบของยุค ‘Industry 4.0’ แน่นอนว่าส่งผลต่อแรงงานคนลดลง เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่ง Jerry Kaplan ได้เขียนถึงผลกระทบของการเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งใหม่ที่ส่งผลต่อบทบาทของแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘แรงงานชาย’ ว่า

“ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์หลายคนกล่าวไว้ว่า โลกเรากำลังอยู่ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่อีกครั้ง เป็นยุคของความเจริญก้าวหน้าทางด้านปัญญาประดิษฐ์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Oxford รายงานผลการวิจัยว่า ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า กว่า 700 อาชีพต้องมีการปรับรูปแบบการทำงานใหม่ และคาดการณ์ว่าประมาณ 47 % ของอาชีพในปัจจุบันจะถูกแทนที่การทำงานด้วยหุ่นยนต์ โดยเชื่อว่า ผลกระทบสำหรับตลาดแรงงานเพศหญิงอาจไม่รุนแรงมากหากเทียบกับเพศชายซึ่งต้องปฏิบัติงานที่ต้องใช้แรงและมีความเสี่ยงมากกว่า”

“เพศ” อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกา ประชากรเพศชาย 3 ล้านคน หรือมากกว่า 95 % ประกอบอาชีพอาชีพขับรถบรรทุกรับจ้าง และเกือบ 3 ล้านคนของประชากรเพศหญิงมีอาชีพเลขานุการและงานธุรการ มีการคาดการณ์ว่าหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนพาหนะกำลังจะมาแทนที่พนักงานขับรถกลุ่มดังกล่าว ในขณะที่ลักษณะงานเลขานุการ งานธุรการ งานเจ้าหน้าที่ประสานงานยังไม่ถูกกระทบจากแรงงานหุ่นยนต์มากนัก นอกจากนี้ร้อยละ 70 ของอาชีพก่อสร้าง และช่างไม้มีโอกาสจะถูกแทนที่ด้วยแรงงานหุ่นยนต์เช่นกัน ต่างกับอาชีพพยาบาลของเพศหญิงซึ่งมีอัตราเสี่ยงถูกแทนที่เพียงร้อยละ 0.009 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานเพศชายในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะตกงานในอนาคต

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง คือ การพัฒนาศักยภาพของหุ่นยนต์ (Intelligent Machine) เช่น สามารถรับน้ำหนักสิ่งของได้ปริมาณมากกว่าแรงของคน หรือการเคลื่อนไหวกลไกลอัตโนมัติอย่างคล่องแคล่ว ทำให้งานสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างอาชีพที่อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน คือ การให้คำแนะนำสินค้า/ผลิตภัณฑ์ จากเดิมผู้ขายจะใช้ทักษะและประสบการณ์ตัวเองในการให้คำแนะนำลูกค้า จะเปลี่ยนเป็นการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารกับลูกค้า เมื่อลูกค้าใส่ข้อมูลความต้องการ ระบบจะประมวลผลเพื่อสรุปคำตอบให้กับลูกค้าตามความต้องการที่แท้จริง แต่ในทางตรงกันข้ามหากผู้ให้คำแนะนำสินค้าเป็นเพศหญิง ด้วยคุณลักษณะเฉพาะตัว เพศหญิง มักมีความสามารถในการเข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึก ของลูกค้าได้เป็นอย่างดี สามารถเชื่อมโยงความต้องการลูกค้ากับบริบทโดยรอบได้ เช่น การแสดงความเห็นอกเห็นใจ ให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกค้าอยู่ในภาวะคับขัน ซึ่งเป็นความต่างที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ เพศหญิงจึงสามารถประกอบอาชีพนี้อยู่ได้มากกว่าเพศชาย

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนจากคนเป็นการใช้หุ่นยนต์ทำงานในระยะแรก คงเป็นงานที่มีขั้นตอนชัดเจนไม่ซับซ้อนและไม่ต้องใช้อารมณ์และความรู้สึกในการทำงาน ซึ่งวิศวกรสามารถเขียนโปรแกรมให้หุ่นยนต์ปฏิบัติงานตามคำสั่งได้ ระบบจัดการการเคลื่อนไหลของจราจร

จะเห็นได้ว่า ในอนาคตบทบาทการทำงานระหว่างเพศหญิงกับเพศชายอาจมีการปรับเปลี่ยน เพศหญิงอาจต้องออกมาทำงานนอกบ้านและเพศชายซึ่งต้องช่วยทำงานในบ้าน อาจดูเหมือนแค่สลับหน้าที่การทำงานกัน แต่ในความเป็นจริงสถานการณ์จะตึงเครียดมาก เพศหญิงต้องต่อสู้เพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับครอบครัวและเพศชายต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เนื่องจากเขาไม่ได้มีบทบาทในการทำงานนอกบ้านเหมือนที่ผ่านมา

แหล่งที่มา : http://www.theatlantic.com/business/archive/2015/08/women-men- jobs-automation/400364/ by Jerry Kaplan (Aug 4, 2015)




Writer

โดย ธนัญญา สุธรรมชัย

นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ส่วนการตลาด
ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ