15 กันยายน 2015

ในโลกยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกลอย่างมากในทุกวันนี้และจะยังคงก้าวหน้าต่อไปในอนาคตแบบฉุดไม่อยู่ มนุษย์เราจะมีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ล้ำสมัยมากขึ้น สิ่งที่คิดว่าไม่อาจเป็นจริงได้ ก็จะสามารถทำ ให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างไม่ยากเย็น การคิดค้นสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็จะมองข้ามไปถึงแนวโน้มในอนาคตมากขึ้น (Future Trend) เพื่อค้นหาแนวทางพัฒนาให้ประสบความสำเร็จก่อนใคร ส่งผลให้เป็นผู้นำ ในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้ก่อนใครด้วยเช่นกัน

Future & Scenario concept-1

จากภาพแสดงให้เห็นถึงการคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ก้าวล้ำนำสมัย (Excellence Products / Services) ด้วยการใช้หลักการบริหารอนาคต (Future Management) การพิจารณาแนวโน้มในอนาคต (Future Trend) ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ ในอนาคตข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรได้บ้าง แล้วจึงสร้างภาพจำลองอนาคต (Scenario Planning) ออกมาหลากหลายแนวทางที่จะเป็นไปได้ จากนั้นจึงเลือกแนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดจากการวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อลงมือปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ (Execution) จนกระทั่งได้เป็นผลงานที่เยี่ยมยอดสามารถตอบสนองการใช้งานได้จริงอย่างที่คาดหวัง นำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อก้าวเป็นผู้นำในตลาดนั้น ๆ ซึ่งผลผลิตจากหลักการบริหารอนาคตมีให้เห็นมากมายในโลกอินเทอร์เน็ต ทุกคนสามารถค้นหาได้ไม่ยาก แต่ทุกครั้งที่มีการเขียนบทความแนวการบริหารอนาคต ผู้เขียนฉุกคิดเสมอว่า โอกาสของผลิตภัณฑ์ในอนาคต (Future Trend) จะมีความเป็นไปได้บ้างหรือไม่ที่จะนำเสนอความเป็นไทยออกไปสู่สากล ทำอย่างไรให้สามารถใส่ความเป็นไทย (Thai Style) ลงไปในแนวคิดการบริหารอนาคตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่สามารถนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างชัดเจนและผสานกลมกลืนกับความเป็นสากลได้อย่างลงตัว

ประเทศไทยมีของดีมากมาย และมีคนเก่งด้านศิลปะวัฒนธรรมไทยมากมายด้วยเช่นกัน หากนำ แนวคิดการบริหารอนาคตมาประยุกต์ใช้ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ แล้วผสมผสานความเป็นไทยลงไป ผู้เขียนเชื่อว่าจะทำ ให้เกิดนวัตกรรมแบบไทย ๆ ที่มีความลงตัวครบถ้วนทั้งด้านประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่าและมีความสวยงามอยู่ในตัวที่น่าสนใจมาก

Future & Scenario concept-2

จากภาพ นวัตกรรมแบบไทย ๆ (Innovation in Thai Style) จะเกิดได้หากเรานำเสนอแนวคิดความเป็นอัตลักษณ์ของไทย (Thai Identity) ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการรวบรวมข้อมูล (Data) สารสนเทศ (Information) และองค์ความรู้ (Knowledge) สั่งสมประสบการณ์ เพิ่มพูนความรู้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดนิ่ง ผสมผสานกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์นำความเป็นไทยมาต่อยอดความคิดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง จากความคิดแล้วนำไปสู่การลงมือทำเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่จนสำเร็จกลายเป็นนวัตกรรม (Innovation) แบบไทย ๆ ที่มีคุณค่าในแบบสากลได้ในที่สุด

ตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจในแบบนวัตกรรมแบบไทย ๆ (Innovation in Thai Style) ที่ริเริ่มพัฒนาออกสู่สากลแล้ว ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนรู้จากเพจแรงบันดาลไทย(1) (www.facebook/rangbundanthai) ดังตัวอย่างที่จะนำเสนอต่อจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถนำศิลปะไทยที่เราเห็นได้ทั่วไป เช่น จากการแสดงหนังใหญ่ หรือ ศิลปะจากวัดวาอารามของไทย มาทำเป็นกราฟิกลงบนภาชนะเครื่องใช้หรือเสื้อผ้าได้อย่างสวยงามลงตัว และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างภาคภูมิใจ

innovation-thai-1

ที่มา : ภาพจากเพจแรงบันดาลไทย (www.facebook.com/rangbundanthai) ออกแบบโดย ผศ.อาวิน อินทรังษี

innovation-thai-2

ที่มา : ภาพจากเพจแรงบันดาลไทย (www.facebook.com/rangbundanthai)
ออกแบบโดย อ.ไพโรจน์ ธีระประภา (โรจ สยามรวย) ศิลปินศิลปาธร สาขาเรขศิลป์ ปีพ.ศ. 2557

 

จาก 2 ตัวอย่างนวัตกรรมแบบไทย ๆ ข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจมากในการต่อยอดไปสู่นวัตกรรม (Initiative) แบบไทย ๆ ที่สามารถขยายผลให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ การบริหารอนาคต (Future Management) การมองไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ให้ก้าวทันโลกอนาคตและเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เราเลือกทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรพิจารณาและดำเนินการในทันที แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราไม่ควรมองข้ามสิ่งดั้งเดิมที่เรามีอยู่ เป็นสิ่งที่เรามีความสามารถและมีความโดดเด่นที่ไม่มีใครเหมือน การจะนำพาผลิตภัณฑ์ของไทยก้าวให้ทันโลกอนาคตอย่างยั่งยืน ควรพิจารณาผสมผสานรากเหง้าของความเป็นไทยลงไปด้วย เพื่อวันหนึ่งเมื่อเรากลายเป็นผู้นำของผลิตภัณฑ์ใด ๆ แล้ว เราจะได้คงความเป็นอัตลักษณ์เอาไว้ ไม่โดนกลืนไปด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย แต่หน้าตาเหมือนกันไปหมดจนแยกไม่ออกว่าผลิตภัณฑ์ใดเป็นของไทย


(1แรงบันดาลไทย -กลุ่มคนที่หาแรงบันดาลใจ ให้กับทุกคนที่ต้องการสร้างงานออกแบบและศิลปะอันมีต้นทุนทางวัฒนธรรมไทย เพื่อสร้างอัตลักษณ์ในงานออกแบบของชาติ นั่นคือ Thai Style ของงาน Design ให้ปรากฏชัดเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาให้ได้สักวัน โดยการนำของ อ.ไพโรจน์ ธีระประภา (โรจ สยามรวย) ศิลปินศิลปาธร สาขาเรขศิลป์ ปี พ.ศ. 2557/ อ.ไพโรจน์ พิทยเมธี (ThaiTone) / ผศ.อาวิน อินทรังษี และ อ.ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ (พจน์อักษรสนาน)




Writer

โดย สุประภาดา โชติมณี

จบการศึกษา : ปริญญาโทจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาธุรกิจอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ และปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ประสบการณ์ : เคยร่วมงานกับบริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ เป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง Modern KM –Application in business management (จัดการความรู้อย่างไรให้ใช้ได้ผลกับทุกระบบ) ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รับเกียรติเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความรู้ให้กับนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยบูรพา
ปัจจุบัน : เป็นวิทยากรที่ปรึกษาส่วนจัดการธุรกิจเพื่อความยั่งยืน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ