ยุคนี้ไม่ว่าองค์กรไหนๆ ก็ต่างเรียกหาสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำซาก แปลกและแตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ๆ หรือแม้แต่กระบวนการทำงานใหม่ๆ
เพราะในภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา มีองค์กรเกิดและดับอยู่ทุกชั่วโมง ถ้าองค์กรไหนย่ำอยู่กับที่ มีแต่ผลิตภัณฑ์เดิมๆ บริการเดิมๆ กระบวนการทำงานแบบเดิมๆ ขณะที่คู่แข่งเร่งพัฒนาตนเองอยู่เสมอ สักวันคู่แข่งก็จะวิ่งนำหน้าไปแบบไม่เห็นฝุ่น
ดังนั้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เหนือกว่าคู่แข่ง ทำให้หลายองค์กรหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพนักงานให้มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดและสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร
ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร
E. Paul Torrance เจ้าพ่อแห่งวงการความคิดสร้างสรรค์ ผู้ซึ่งเป็นนักวิจัยชั้นแนวหน้าเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และผู้สร้าง Torrance Tests of Creative Thinking (TTCT) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดความคิดสร้างสรรค์ที่แพร่หลายในปัจจุบัน ได้ให้ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ว่า หมายถึง กระบวนการที่ไวต่อการตอบสนองสิ่งที่เป็นปัญหา ความขาดแคลน ช่องว่างความรู้ ความไม่สมบูรณ์ หรือความขัดแย้ง โดยกำหนดปัญหา แล้วค้นหาแนวทางแก้ไข และคาดเดาหรือสร้างสมมติฐานเกี่ยวกับสิ่งนั้น จากนั้นจึงทดสอบสมมติฐานซ้ำหลายครั้ง เพื่อแก้ไขจนสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ได้
ซึ่ง Teresa M. Amabile นักวิจัยและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Harvard Business School ได้อธิบายว่า องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์มี 3 ปัจจัยประกอบเข้าด้วยกัน คือ
1. ความเชี่ยวชาญ (Expertise)
ความเชี่ยวชาญ หมายถึง ข้อมูลและความรู้ทั้งหมดที่บุคคลนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งความรู้เชิงทักษะ กระบวนการ ปัญญา โดย Howard Gardner ได้ศึกษาในเรื่องดังกล่าวและเสนอเพิ่มเติมว่า รูปแบบความรู้ที่ดีที่สุดสำหรับความคิดสร้างสรรค์เป็น T-shape กล่าวคือ บุคคลต้องมีความรู้เชิงกว้างในเรื่องที่หลากหลาย และมีประสบการณ์เชิงลึก 1-2 เรื่อง ความรู้เชิงลึกจะเป็นพื้นฐานในการคิดเรื่องดังกล่าว ขณะที่ความรู้เชิงกว้างจะทำให้บุคคลสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่มีเข้าด้วยกันในรูปแบบใหม่
2. ทักษะในการคิดอย่างสร้างสรรค์ (Creative-thinking skills)
ทักษะในการคิดอย่างสร้างสรรค์ขึ้นกับบุคลิกภาพและรูปแบบการคิด/การทำงานของแต่ละบุคคล ซึ่งจะส่งผลต่อความยืดหยุ่นและจินตนาการที่บุคคลใช้ในการแก้ไขปัญหา โดย Amabile เสนอว่า ทักษะในการคิดอย่างสร้างสรรค์จะมีลักษณะ ดังนี้
- ความกล้าแสดงความคิดที่แตกต่างจากคนอื่นและทดลองหาวิธีการที่แตกต่างจากเดิม
- การผสมผสานความรู้ในเรื่องที่หลากหลาย
- การมีความเพียรพยายามต่อปัญหาที่ยากลำบากและอุปสรรค
- ความสามารถที่จะปลีกจากความคิดจดจ่อและกลับมาพร้อมมุมมองใหม่ (Incubation – การฟักตัว)
3. แรงจูงใจ (Motivation)
แรงจูงใจถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่หลายทฤษฎีได้ชี้ให้เห็นว่า แรงจูงใจถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของความคิดสร้างสรรค์และก่อให้เกิดการสร้างผลผลิตเชิงสร้างสรรค์ (Creative Production) โดย Amabile อธิบายว่า จากหลักฐานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาพบว่า ภาวะที่บุคคลจะมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด คือ เมื่อถูกจูงใจด้วยแรงจูงใจภายใน ทั้งความสนใจ ความพึงพอใจ และความท้าทายในงาน ไม่ใช่ด้วยแรงจูงใจจากภายนอก
กระบวนการเกิดความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้อย่างไร
นักวิชาการคนแรกที่อธิบายถึงกระบวนการเกิดความคิดสร้างสรรค์ คือ Graham Wallas ซึ่งมีอิทธิพลต่อนักวิชาการที่ศึกษากระบวนการเกิดความคิดสร้างสรรค์ในเวลาต่อมา Wallas ได้แบ่งกระบวนการเกิดความคิดสร้างสรรค์เป็น 4 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นเตรียมความคิด (Preparation)
เป็นขั้นตอนที่บุคคลค้นคว้า และรวบรวมความรู้จากแหล่งต่างๆ ค้นหาความเป็นไปได้ต่างๆ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา รวบรวมข้อมูล แยกแยะ และวิเคราะห์ปัญหา เพราะบุคคลจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนต่อเมื่อกำหนดปัญหาที่ชัดเจน ในขั้นนี้เป็นการใช้สมองในภาวะจิตสำนึก (Conscious) อย่างสมบูรณ์
2. ขั้นความคิดฟักตัว (Incubation)
เป็นขั้นตอนที่เข้าสู่ภาวะจิตใต้สำนึก (Unconscious) ในการค้นหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา จิตใต้สำนึกจะค่อยๆ นำชิ้นส่วนข้อมูลแต่ละอย่างที่ได้จากขั้นเตรียมความคิดมาประกอบกันเป็นภาพ จนนำไปสู่ขั้นความคิดกระจ่าง ความคิดที่ดีส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงที่บุคคลเบนความสนใจไปจากปัญหาหลังจากจดจ่ออยู่กับปัญหาในชั่วเวลาหนึ่ง โดยอาจเป็นช่วงที่หันไปให้ความสนใจต่อปัญหาอื่น หรือในช่วงที่ผ่อนคลายจากปัญหาทั้งหมด
3.ขั้นความคิดกระจ่าง (Illumination)
เป็นขั้นตอนที่ค้นพบแนวทางในแก้ไขปัญหาอย่างฉับพลัน โดยการนำความรู้ที่ได้จากขั้นแรกมาคิดอย่างอิสระในขั้นฟักตัว จนเกิดเป็นความคิดในรูปแบบใหม่
4. ขั้นทดสอบความคิดและลงมือปฏิบัติจริง (Implementation/Verification)
ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการทำให้การพัฒนาความคิดใดๆ ประสบความสำเร็จได้ โดยเป็นการนำแนวทางที่ได้มาตรวจสอบและทำให้ชัดเจน เพื่อประมวลและทำให้เห็นผลในการปฏิบัติจริง
ความรู้ แหล่งผลิตความคิดสร้างสรรค์
จากเนื้อหาที่เราได้คุยกันในข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากกระบอกไม้ไผ่ ไม่ใช่ว่าเราไม่จำเป็นต้องหาความรู้ใหม่ๆ มาใส่ตัว ไม่ใช่ว่าเราไม่จำเป็นต้องขวนขวายเรียนปริญญาโทหรือปริญญาเอกหลังเลิกงานหรือวันเสาร์อาทิตย์ ไม่ใช่ว่าองค์กรของเราไม่จำเป็นต้องทำ KM แค่แต่ละคนอยู่เฉยๆ นั่งๆ นอนๆ ฝันกลางวันไปเรื่อยๆ แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว
เพราะความคิดสร้างสรรค์แตกต่างจากการจินตนาการ Alex F. Osborn ผู้คิดค้นเทคนิคการระดมสมอง (Brain Storming) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นจินตนาการประยุกต์ (Applied imagination) นั่นคือ ความคิดสร้างสรรค์เป็นจินตนาการที่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นและการผลิตสิ่งแปลกใหม่ ไม่ใช่จินตนาการโดยทั่วไป
ความคิดสร้างสรรค์จึงจำเป็นต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ ในชีวิตประจำวัน เรามักจะเห็นว่า วิธีการคิดของพนักงานในแต่ละอาชีพล้วนแตกต่างกัน ถ้าโยนปัญหาเดียวกันให้นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักบัญชี นักการตลาด ศิลปิน หรือเจ้าของธุรกิจ SMEs คิดหาทางออก แต่ละคนก็จะมีวิธีการสร้างสรรค์แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมือนกัน นั่นเพราะแต่ละอาชีพมีพื้นฐานความรู้ที่ไม่เหมือนกัน วิธีการแก้ไขปัญหาจึงแตกต่างกัน
ถ้าเทียบความคิดสร้างสรรค์กับ KM Process หรือกระบวนการในการจัดการความรู้ให้เกิดคุณค่าแก่องค์กร 6 ขั้นตอน (กำหนด , สร้าง/แสวงหา, รวบรวมและจัดเก็บ , เข้าถึง , แบ่งปัน และใช้) ซึ่งเราได้เคยคุยกันไปแล้วนั้น การใช้ความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นขั้นที่องค์กรส่วนใหญ่ละเลยไป นั่นคือการ “ใช้” ความรู้ที่องค์กรมีให้เป็นประโยชน์แก่ตัวองค์กรเอง ดังนั้น การใช้ศักยภาพ KM อย่างเต็มที่จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะก่อให้เกิดนวัตกรรมตามที่องค์กรปรารถนา
เอกสารอ้างอิง
- John Kapeleris. (2011). “How to Stimulate Personal Creativity”. URL: http://johnkapeleris.com/blog/?tag=creative-thinking.
- Karlyn Adams. (2005). “The Sources of Innovation and Creativity”. A Paper Commission by the National Center on Education and the Economy for the New Commission on the Skills of American Workforce.
- Kyung Hee Kim. (2006). “Can We Trust Creativity Tests? A Review of the Torrance Tests of Creative Thinking (TTCT)”. Creativity Research Journal. Vol. 18. No. 1, 3–14.
- Maria Popova. “The Art of Thought: Graham Wallas on the Four Stages of Creativity, 1926”. URL: http://www.brainpickings.org/2013/08/28/the-art-of-thought-graham-wallas-stages/.