เป็นที่ทราบกันดีว่า เป้าหมายสูงสุดขององค์กรธุรกิจต่าง ๆ คือการสร้างผลกำไร ซึ่งการขายสินค้า หรือ บริการได้ในปริมาณมาก ๆ เหมือนว่าจะเป็นสัญญาณหนึ่ง ที่บอกถึงการทำกำไรขององค์กร การเพิ่มขึ้นของยอดขายนั้นมีปัจจัยอยู่หลายอย่าง ซึ่งแตกต่างกันไป ในแต่ละธุรกิจ หากสินค้าหรือบริการของท่านไม่มีคู่แข่งมากนักอาจจะแค่คงคุณภาพไว้อย่างสม่ำเสมอ และราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายก็ยังพอจะอยู่ได้ในตลาด แต่ถ้าสินค้า และบริการของท่าน ที่มีคู่แข่งมาก ๆ อาจจะต้องแข่งขันกันทั้งทางด้านคุณภาพและราคา หรือแม้แต่กลยุทธ์ทางการตลาดต่าง ๆ ลดแลกแจกแถม หรือ มีโปรโมชั่น ดึงดูดลูกค้ากันแบบชนิดที่ว่า ถ้าใครหยุดอยู่กับที่ก็อาจจะโดนแซงได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ตาม การมียอดขายเพิ่มขึ้น อาจจะไม่ได้หมายความถึงกำไรที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วยก็เป็นได้ เพราะหากการเพิ่มขึ้นของยอดขายนั้นนำมาซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก ๆ บางทีก็อาจจะไม่คุ้ม และไม่ทำให้ได้กำไรตามที่คาดหมายไว้ หลายท่านที่ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในหลักการของการเพิ่มผลิตภาพ คงจะพอจำได้ว่าหลักการนี้มุ่งเน้นในด้านการสร้างงานให้มีทั้งประสิทธิภาพ และประสิทธิผล นั่นหมายถึงการบริหารจัดการกระบวนการให้มีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างผลงานให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งก็คือการบริหารจัดการให้กระบวนการใช้ต้นทุนเป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งของการสร้างกำไรให้องค์กร
หากพิจารณาในภาคผลิตจะพบว่า การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือเครื่องจักรต่าง ๆ เข้ามาใช้ ถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการผลิตที่ได้ทั้งปริมาณ และคุณภาพ ผู้บริหารหลายองค์กรตัดสินใจลงทุนกับการใช้เครื่องจักร
ที่ทันสมัย แทนการใช้แรงงานคน และแน่นอนว่าการใช้เครื่องจักรผลิตงานย่อมได้ผลงานที่เร็วกว่า สามารถรองรับปริมาณการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่เครื่องจักร ก็ไม่ต่างอะไรกับร่างกายของคนเรา ที่ย่อมต้องมีการเสื่อมไปตามกาลเวลา และยิ่งถ้าใช้งานมาก ๆ หรือใช้งานผิดวิธี ไม่มีการบำรุงรักษา การเสื่อมสภาพก็จะยิ่งเกิดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น และก็เป็นจุดกำเนิดของปัญหาหลาย ๆ ด้านของการผลิตที่หลายองค์กรเผชิญอยู่ เช่น ปัญหาเครื่องจักรชำรุด ทำให้เกิดของเสียมาก หรือต้องใช้คนเพิ่มขึ้นในการคัดของเสียออก หรือบางที่ ก็มีปัญหาถึงขั้นผลิตไม่ทันจัดส่ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ให้ผู้ที่อยู่หน้างานจะต้องแก้ไขกันจนเป็นงานประจำไปเสียแล้วสำหรับบางองค์กร
ในความเป็นจริงแล้ว องค์กรที่ใช้เครื่องจักรสำหรับการผลิตเป็นหลัก จำเป็นต้องมีแนวทางในการรักษาสภาพของเครื่องจักรให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพราะถ้าหากเครื่องจักรเกิดการขัดข้องจะส่งผลกระทบโดยตรง
ต่อหลายส่วนงาน ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย หรือแม้แต่ฝ่ายช่างเองก็ตาม และสุดท้ายก็ทำให้องค์กรต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรืออาจจะถึงขั้นเสียโอกาสในการขาย เพราะไม่สามารถส่งสินค้าได้ทันกำหนดเวลาก็เป็นได้ ดังนั้น จึงควรที่จะต้องหันมาใส่ใจในเรื่องการบำรุงรักษา เพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งการวางระบบบำรุงรักษา ที่มีการกำหนดแผนงานไว้อย่างชัดเจน ทั้งวันเวลา สถานที่ และระยะเวลาดำเนินการ เราเรียกว่า “การบำรุงรักษาแบบวางแผน” หรือ Planned Maintenance
องค์กรที่ใช้เครื่องจักรสำหรับการผลิตเป็นหลัก ต้องมีแนวทางในการรักษาสภาพของเครื่องจักรให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพราะถ้าหากเครื่องจักรเกิดการขัดข้องจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลายส่วนงาน
การบำรุงรักษาแบบวางแผน (Planned Maintenance)
คือ การบำรุงรักษาตามแผนงานที่ได้มีการกำหนดระยะเวลา วัน และสถานที่ รวมถึงจำนวนผู้ที่จะเข้าปฏิบัติการในงานบำรุงรักษาเครื่องจักรนั้นไว้อย่างชัดเจน โดยทั่วไปแล้วรูปแบบของการบำรุงรักษาแบบวางแผน
จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance : PM)
คือ การบำรุงรักษาก่อนที่เครื่องจักรจะชำรุดเสียหาย ด้วยการบำรุงรักษาประจำวันเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ การตรวจสอบตามระยะเวลา รวมทั้งการฟื้นฟูการเสื่อมสภาพด้วย ซึ่งข้อมูลอ้างอิงสำหรับการบำรุงรักษาแบบป้องกันนั้น สามารถหาได้จากคู่มือเครื่องจักร หรือ ประวัติของเครื่องจักรที่ผ่านมา รวมถึงพฤติกรรมการทำงานของเครื่องจักร ก็สามารถนำมาเป็นตัวกำหนดรอบของการบำรุงรักษาได้ โดยทั่วไปจะแบ่งแยกตามวิธีการของการบำรุงรักษาได้เป็น 3 ชนิด คือ
• การบำรุงรักษาตามระยะเวลา (Time Based Maintenance) เป็นการกำหนดระยะเวลาของการเปลี่ยนชิ้นส่วนของเครื่องจักรให้เหมาะสมต่อการเสื่อมสภาพ และมีการดำเนินการเมื่อถึงกำหนดดังกล่าว
• การบำรุงรักษาตามสภาพ (Condition Based Maintenance) เป็นการกำหนดวิธีในการตรวจหาความเสื่อมสภาพโดยอาศัยสัญญาณเตือนจากเครื่องจักรก่อนที่จะเกิดความเสียหาย เช่น ความร้อน การสั่นสะเทือนและเมื่อการตรวจสอบพบสัญญาณเตือนที่ผิดปกติ หรือมีค่าเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ก็จะดำเนินการซ่อมแซมแก้ไข ให้เครื่องจักรกลับมามีสภาพการทำงานที่เป็นปกติ
• การบำรุงรักษาแบบยกเครื่อง (Overhaul) เป็นการตรวจสอบเครื่องจักรตามรอบเวลาที่กำหนดโดยการถอดแยกชิ้นส่วนมาตรวจสอบ และหากพบว่าชิ้นส่วนใดเสียหาย หรือเสื่อมสภาพ ก็จะทำการเปลี่ยนชิ้นส่วนนั้นใหม่
2. การบำรุงรักษาเมื่อเกิดเหตุขัดข้องหรือเมื่อเกิดการชำรุด (Breakdown Maintenance : BM)
คือ การซ่อมบำรุงเมื่อเครื่องจักรได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ซึ่งได้มีการกำหนดแนวทางและหลักการสำหรับวิธีการในการซ่อมเครื่องจักรนั้น ๆ ซึ่งได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว
3. การบำรุงรักษาเชิงแก้ไขปรับปรุง (Corrective Maintenance : CM)
คือ การแก้ไขปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อลดความเสียหายจากการเสื่อมสภาพ ทำให้การซ่อมบำรุงทำได้ง่ายขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ให้กลับมาเกิดซ้ำอีก
4. การป้องกันการบำรุงรักษา (Maintenance Preventive : MP)
คือ การดำเนินการที่ให้ได้มาซึ่งเครื่องจักร ที่ไม่ต้องมีการซ่อมบำรุง หรือซ่อมบำรุงน้อยที่สุด โดยที่พนักงานประจำเครื่องสามารถดูแลเครื่องจักรด้วยตัวเองได้ ซึ่งจะต้องมีการนำข้อมูลต่าง ๆ มาศึกษาและวิเคราะห์เพื่อเป็นประโยชน์ในการออกแบบ หรือเลือกซื้อเครื่องจักร ให้ได้ตามเป้าหมายของการบำรุงรักษานี้
ภาพที่ 1 แผนภาพแสดงประเภทของการบำรุงรักษาแบบวางแผน (Planned Maintenance)
จะเห็นได้ว่าการบำรุงรักษาแบบวางแผน เป็นการดำเนินการที่มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า และส่วนใหญ่ จะดำเนินการก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น หรือเป็นการวางแผนรับมือกรณีมีเหตุขัดข้อง ซึ่งการดำเนินการนี้ย่อมมีต้นทุนเกิดขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณาเลือกชนิดของการบำรุงรักษาให้เหมาะกับเครื่องจักรที่ใช้งานอยู่ด้วย และถึงแม้ว่าจะมีการวางระบบบำรุงรักษาไว้เป็นอย่างดี แต่ก็มักจะพบปัญหาในทางปฏิบัติอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาก ๆ ถึงแม้การบำรุงรักษาจะมีการวางแผนไว้แล้วก็ตาม เรามักได้ยินคำบ่นจากฝ่ายช่างบ่อย ๆ ว่าไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน เพราะการผลิตต้องทำอย่างต่อเนื่องและบางครั้งมีคำสั่งผลิต ที่แทรกเข้ามาก็ต้องให้ความสำคัญกับส่วนนี้ก่อน และเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนก็มีโอกาสได้คุยกับเพื่อนผู้ทำหน้าที่ดูแลงานซ่อมบำรุงของบริษัทแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าที่โรงงานของเขาเพิ่งเกิดเหตุการณ์เครื่องจักรเสียแบบกะทันหัน ผลิตงานกะดึกออกมาแล้วใช้ไม่ได้เป็นจำนวนมากและด้วยความที่เป็นกะดึก พนักงานคุมเครื่องก็ไม่ได้เคร่งครัดในการดูแลเครื่องมากนัก จึงปล่อยให้เครื่องผลิตงานเสียออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อมีการสืบสวนหาสาเหตุ แน่นอนว่าความผิดในเบื้องต้นก็คงจะตกอยู่ที่พนักงานผู้คุมเครื่องที่ไม่ได้ทำการหยุดเครื่องตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่มีปัญหา และเมื่อสอบถามข้อมูลที่ลึกลงไปอีก ก็พบว่าจริง ๆ แล้วเครื่องนี้มีแผน ที่ทางแผนกช่างจะต้องเข้าดำเนินการบำรุงรักษาเครื่องตามรอบเวลาอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีการดำเนินการเนื่องจากว่า มีการผลิตงานที่เป็นคำสั่งซื้อเพิ่มจากลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งความเสียหายครั้งนี้ก็ส่งผลกระทบอยู่หลายด้านไม่ว่าจะเป็นของเสียที่เกิดขึ้น ไม่สามารถผลิตงานส่งให้ลูกค้าได้ทัน และที่สำคัญเครื่องจักรดังกล่าวมีความเสียหายค่อนข้างมาก ซึ่งการซ่อมนั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา จึงต้องขอเลื่อนการส่งงานให้แก่ลูกค้า และยังต้องให้พนักงานเพิ่มเวลาทำงานเพื่อผลิตงานชดเชยให้แก่เครื่องที่เสียนี้ด้วย เหตุการณ์นี้เมื่อประเมินมูลค่าความเสียหายออกมาก็เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
หากจะเปรียบเทียบการดูแลรักษาเครื่องจักร กับการดูแลสุขภาพร่างกายของคนเรา ก็คงจะไม่ต่างกันเท่าไรนัก หลายคนคิดว่าการที่เราต้องเสียเงินเพื่อตรวจสุขภาพทุกปี เป็นการเสียเปล่าเพราะเรายังไม่ได้มีอาการป่วยไข้แต่อย่างใด บางคนรอให้มีอาการผิดปกติมาก ๆ จึงจะไปหาหมอ ซึ่งถ้าเป็นโรคที่ร้ายแรง แล้วมาเจออาการในระยะหลัง ๆ ก็อาจจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือถ้าจะรักษาได้ก็ต้องใช้เวลาและเงินเป็นจำนวนไม่น้อย ในความเป็นจริงแล้วการตรวจสุขภาพก็คือการตรวจดูความผิดปกติของร่างกายที่จะเป็นสัญญาณเตือนของโรคภัยต่าง ๆ เพื่อที่จะได้หาแนวทางป้องกันหรือบรรเทาอาการก่อนที่จะเกิดขึ้นหรือลุกลามจนยากแก่การรักษา ซึ่งก็ถือว่าเป็นแนวคิดเดียวกันกับการบำรุงรักษาแบบวางแผน ถึงแม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายบ้าง แต่ก็คุ้มเพราะถือเป็นการป้องกัน หรือเตรียมมาตรการรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
เป้าหมายสำคัญของการบำรุงรักษา
การวางระบบบำรุงรักษานั้น ทำเพื่อให้องค์กรมีเครื่องจักรที่สามารถผลิตงานได้ตามความต้องการและไม่มีปัญหาสะดุดระหว่างการผลิต ซึ่งพอจะสรุปเป้าหมายหลัก ของการบำรุงรักษาได้ ดังนี้
- เพื่อให้การใช้งานเครื่องจักรเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ
- เพื่อให้เครื่องจักรมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
- เพื่อให้เครื่องจักรมีความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือ
- เพื่อให้เครื่องจักรมีความปลอดภัยเพียงพอต่อผู้ใช้งาน
- เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
จะเห็นว่าเป้าหมายของการบำรุงรักษานั้น ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการผลิตงานได้อย่างต่อเนื่องเพียงอย่างเดียว แต่การที่เครื่องจักรได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพดี จะมีผลต่อความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน และยังช่วยประหยัดพลังงาน รวมถึงไม่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
บทบาทที่แตกต่าง แต่เป้าหมายเดียวกันของฝ่ายผลิต และฝ่ายซ่อมบำรุง
เป็นที่ทราบกันดีว่า บทบาทและหน้าที่ของพนักงานฝ่ายผลิต และฝ่ายซ่อมบำรุงนั้นมีความแตกต่างกัน กล่าวคือฝ่ายผลิตมีหน้าที่ผลิตงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดทั้งคุณภาพและปริมาณ ความต้องการของฝ่ายผลิตนั้นคือต้องการให้เครื่องจักร สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและไม่ก่อให้เกิดปัญหากับงาน ในขณะเดียวกันฝ่ายซ่อมบำรุง ก็มีหน้าที่ในการดูแลเครื่องจักรไม่ให้เกิดการขัดข้องหรือเสียหาย การที่เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของฝ่ายซ่อมบำรุง ที่ส่งผลดีเป็นอย่างยิ่งต่องานผลิต จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีบทบาทและหน้าที่ที่ต่างกัน แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพนักงานฝ่ายผลิตผู้ที่ใช้งานเครื่องจักรอยู่เป็นประจำ ก็สามารถที่จะดูแลและบำรุงรักษาเครื่องจักรได้ในเบื้องต้น ด้วยการใช้งานเครื่องจักรอย่างถูกวิธี มีการตรวจสอบประจำวัน และหมั่นดูแลและคอยสังเกตอาการผิดปกติในเบื้องต้นด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 และแจ้งสิ่งผิดปกติที่พบให้แก่ผู้บังคับบัญชา หรือช่างผู้รับผิดชอบทราบ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขเป็นไปอย่างทันท่วงที
จะเห็นได้ว่า การวางระบบบำรุงรักษาเครื่องจักรมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบริษัทที่ใช้เครื่องจักรในการผลิตเป็นหลัก เพราะจะทำให้เครื่องจักรนั้นถูกใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ ประหยัดพลังงาน และถือเป็นการยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักร ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพให้แก่งานเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น นอกจากจะใส่ใจในเรื่องของปริมาณการผลิตให้ได้เป้าหมายและมีคุณภาพแล้ว การให้ความสำคัญกับการดูแลและบำรุงรักษาเครื่องจักร ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักของการผลิต ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายผลิตซึ่งเป็นผู้ใช้งานเครื่องจักรเป็นประจำ และฝ่ายช่างผู้ทำหน้าที่ในการบำรุงรักษาเครื่องจักร ให้เขามีความรู้และมีความเต็มใจในการที่จะดูแลรักษาเครื่องจักรเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการผลิตงานที่มีคุณภาพให้แก่องค์กร