เตรียมองค์กรในอนาคต
สู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
ทุกวันนี้สังคมเริ่มกล่าวถึง “สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)” บ่อยขึ้นทุกที เพราะ “สังคมผู้สูงอายุ(Aging Society)” เป็น 1 ใน 10 ของการจัดลำดับ New Mega Trend ระดับโลก จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ซึ่งสาเหตุของการเพิ่มจำนวนประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็วเป็นเพราะอัตราการเกิดที่สูงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Baby boomer) และอัตราการตายที่ลดลงเป็นลำดับ ทำให้ประชากรในรุ่น Baby boomer ได้ทยอยเข้าสู่วัยแรงงานและวัยสูงอายุในที่สุด
ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติได้มีการศึกษาพบว่า ประมาณ 1 ใน 9 คนของจำนวนประชากรโลกจะมีอายุเกิน 60 ปี และจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น 200 ล้านคนภายใน 10 ปีนี้ ทำให้โลกมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า1,000 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านคน ในปีค.ศ. 2050 และจำนวนประชากรผู้มีอายุเกิน 100 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 316,600 คน ในปีค.ศ. 2010 เป็น 3.2 ล้านคนในปีค.ศ. 2050
สำหรับประเทศไทยจากสำมะโนประชากร พ.ศ. 2503-2533 สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2550 พบว่า ในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุจะมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มอายุมากเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เช่น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ในปี พ.ศ. 2553 มีประมาณ 1.7 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็นประมาณ 2.3 ล้านคนในปีพ.ศ. 2563
ไทยกำลังผ่านพ้นช่วงโอกาสจากการปันผลทางประชากร โครงสร้างในอนาคตวัย ประชากรวัยทำงานจะต้องแบกรับผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น
ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศเดียวที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 30% แต่มีการคาดการณ์ว่าในปีค.ศ. 2050 จะมี 64 ประเทศทั่วโลกที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุถึง 30% ในปีค.ศ. 2009 ญี่ปุ่นมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีถึง 23% ของประชากรทั้งหมดซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลก จากสถิตินี้ทำให้พยากรณ์ได้ว่า ในปีค.ศ. 2030 ญี่ปุ่นจะมีประชากร 1 ใน 3 คนที่มีอายุเกิน 65 ปี และ 1 ใน 5 คนที่มีอายุเกิน 75 ปี และขณะนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ยอดจำหน่ายผ้าอ้อมผู้ใหญ่ (Adult diapers) มากกว่ายอดจำหน่ายผ้าอ้อมที่ใช้ในเด็ก จากข้อมูลการศึกษาผู้สูงอายุข้างต้น เป็นสัญญาณเตือนว่าในอนาคตจำนวนผู้สูงอายุจะมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์จากการที่เราสามารถพัฒนาเรื่องอาหารการกิน สุขอนามัย ความก้าวหน้าทางการแพทย์ การศึกษา และความอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจ จึงทำให้อายุของคนยืนยาวขึ้น” แน่นอนว่าเมื่อกล่าวถึง “ผู้สูงอายุ” คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา แต่หากเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการคิดใหม่ว่า “การมีอายุยืนยาวของผู้สูงอายุเป็นการเพิ่มโอกาสในการให้ผลตอบแทน (Longevity dividend) แก่สังคม เพราะ ผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีอายุระหว่าง 60-70 ปี เรียกว่า “Young senior” ส่วนใหญ่ยังมีสภาพความพร้อมทางสติปัญญาและร่างกาย มีความสามารถที่จะนำความรู้ ทักษะที่มีคุณค่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและองค์กรได้ต่อไปอีก ดังนั้นปัจจุบันจึงเริ่มเห็นหลายองค์กรมีการทบทวนอายุการจ้างงานให้นานขึ้น เช่น ประเทศสิงคโปร์มีนโยบายส่งเสริมให้สถานประกอบการขยายอายุจ้างงานหลังเกษียณอายุเป็น 67 ปี ประเทศไทยหลายบริษัทเริ่มมีนโยบายเพิ่มระยะเวลาการเกษียณอายุคนทำงาน จากเดิม 60 ปีเพิ่มเป็น 65 ปี แต่การจ้างงานต่อเริ่มจะมีเงื่อนไขมากขึ้น องค์กรจะเลือกจ้างเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ (Talent elderly) ฯลฯ นั่นแสดงว่าแนวโน้มในอนาคตคนจะมีช่วงอายุการทำงานมากขึ้นแต่ไม่ใช่ทุกคนแน่นอน
ทำไมองค์กรควรให้ความสำคัญกับแรงงานผู้สูงอายุ
ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ผู้สูงอายุยังมีสภาพความพร้อมทางสติปัญญาและร่างกาย มีความสามารถที่จะนำความรู้ ทักษะที่มีคุณค่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและองค์กรได้ ด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
• ประสบการณ์ที่สั่งสม (Experience) : จากอายุการทำงานที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน ได้เผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ทุกรูปแบบ จึงทำให้ผู้สูงอายุเรียนรู้วิธีการจัดการกับปัญหาได้ดีจากประสบการณ์ที่เคยเผชิญมา และมีมุมมองที่น่าสนใจให้องค์กรได้ดี ซึ่งคนที่มีประสบการณ์น้อยอาจจะกังวลและตื่นกลัวได้มากกว่า
• ทักษะ (Skills) : ช่วงชีวิตในการทำงานผู้สูงอายุกว่าจะเติบโตได้ถึงวันนี้ มีโอกาสผ่านงานมาหลากหลายงาน หรือเกือบทุกหน้าที่ในหลายฝ่ายงาน ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงเป็น Multi Skills ที่หาใครเก่งเหมือนได้ยาก และก็ทำให้หลายบริษัทเริม่ เคยชินความเก่งเหลา่ นั้น จงึ มักประกาศรับสมัครใหมี้คุณสมบตั ิเช่นนั้นด้วย ซึ่งมีโอกาสยากมากที่จะสรรหาให้ได้เช่นนั้น
• ความเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) : ด้วยประสบการณ์และทักษะในงาน องค์กรย่อมอยากได้คนเก่งแบบนี้อีก ดังนั้นผู้สูงอายุจะสามารถถ่ายทอดหลักการและเคล็ดลับ (Tips) ทั้งที่ควรทำและไม่ควรทำ เพื่อให้เกิดการ
เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดได้ โดยผู้สูงอายุเหล่านั้นจะเป็นพี่เลี้ยงให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ต่อไปได้อย่างดีเยี่ยม
• ความเชื่อมั่น (Confidence) : ความสามารถ ความภูมิฐาน บารมี วัยวุฒิ สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมั่น ซึ่งต้องสั่งสมและก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ส่วนใหญ่มักจะไปปรากฎกับผู้สูงอายุ ยิ่งมีตำแหน่งหน้าที่ยิ่งเสริมบารมีมากขึ้น ประกอบกับประสบการณ์และข้อมูลสำคัญที่สั่งสมมาตลอดชีวิตการทำงานทำให้สิ่งที่แสดงออกมาสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่า
• การตรงต่อเวลา (Punctuality) : จากการเป็นพนักงานเก่าที่ทำงานมานาน ผู้สูงอายุจึงรู้วิธีที่จะจัดการกับตัวเอง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเตรียมการและพร้อมเสมอต่อการนัดหมาย
• วุฒิภาวะ (Maturity): ความนิ่ง การคิดก่อนทำ ความมีสติ ความรอบคอบ เป็นพฤติกรรมของการควบคุมตนเองและสถานการณ์ต่าง ๆ ของผู้สูงอายุที่มักพบเห็น เพราะผู้สูงอายุประสบมาทุกอย่างแล้วจึงไม่ตื่นกลัวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่จะใคร่ครวญว่าจะจัดการปัญหาเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร
“อายุการทำงานที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน ได้เผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ทุกรูปแบบ จึงทำให้ผู้สูงอายุเรียนรู้วิธีการจัดการกับปัญหาได้ดีจากประสบการณ์ที่เคยเผชิญมา”
ข้อจำกัดด้านสุขภาวะของผู้สูงอายุที่มีผลกระทบต่อการทำงาน
ผู้สูงอายุแม้จะมีข้อดี/ข้อได้เปรียบ แต่ก็มีข้อจำกัดที่เป็นธรรมชาติที่ต้องทำความเข้าใจด้วยเช่นกัน การที่อายุขัย (Life expectancy) ของคนเพิ่มขึ้น แม้จะทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ยืนยาว แต่จะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่เสื่อมถอยลง เผชิญกับความเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง (Chronic diseases) ที่เข้ามารุมเร้า ความไม่สะดวกสบายจากความพิการ (Disabilities) ทางร่างกายของโรคกระดูก ข้อเข่าสะโพกเสื่อม โรคเบาหวาน รวมทั้งความทุกข์ทางอารมณ์และจิตใจเช่นโรคซึมเศร้าด้วย ซึ่งเป็นโรคและอาการที่วงการแพทย์เรียกว่า “ทำให้เราป่วยแต่ไม่ทำให้เราตาย” (“Don’t kill but make us ill”) การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในผู้สูงอายุที่มีผลกับการทำงาน มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1. การลดลงของกำลังกล้ามเนื้อสูงสุด (maximum muscular strength) และระยะการเคลื่อนไหวของข้อต่อ (range of joint movement) โดยทั่วไปนั้น คนเราจะมีพละกำลังลดลงประมาณ 15 – 20 % ในระหว่างช่วงอายุ 20 – 60 ปี ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานโดยใช้กำลังสูงสุดของร่างกาย ฉะนั้นผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะสามารถทำงานเดิมเมื่ออายุเพิ่มขึ้นได้ แต่ถ้างานนั้นต้องใช้กำลังอย่างมากใกล้กับกำลังสูงสุดของร่างกายเช่น งานกรรมกร งานขุดดินจะทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น
สิ่งที่ควรปฏิบัติ : ควรมีการจัดการที่เหมาะสม เช่น มีเครื่องทุ่นแรง เพิ่มเวลาพัก หรือจัดหางานที่เหมาะสมกว่าให้แทน
2. การควบคุมท่าทางและความสมดุลร่างกาย (regulation of posture and balance) คนงานสูงอายุมีโอกาสที่จะสูญเสียความสมดุลของร่างกายและหกล้มได้มากขึ้น
สิ่งที่ควรปฏิบัติ : ควรหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้กำลังของข้อต่อและกล้ามเนื้ออย่างมาก เช่น ยกของหนัก แบกของ ฯลฯ งานที่ต้องบิดเอี้ยวตัวมาก ๆ งานที่ต้องทำบนพื้นลื่นหรือไม่มั่นคง
3. การนอนหลับ (sleep regulation) เมื่ออายุมากขึ้น การควบคุมการนอนหลับจะทำได้ยากขึ้น ส่งผลให้นอนได้น้อย ใช้เวลานานจึงจะหลับ ตื่นง่าย และนอนได้ไม่มีคุณภาพเมื่อการนอนไม่มีคุณภาพก็จะส่งผลมาสู่การทำงานในช่วงกลางวันด้วย สำหรับคนงานสูงอายุที่ทำงานกะหรือทำงานกลางคืนจะเป็นปัญหามากขึ้น การเปลี่ยนเวลานอนของผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้เวลาปรับตัวมากกว่าของคนหนุ่มสาว
สิ่งที่ควรปฏิบัติ : การดูแลในเรื่องนี้ควรพิจารณาเป็นพิเศษ เช่น หาตำแหน่งงานที่ทำตอนกลางวันให้ทำแทน การให้ทำงานล่วงเวลาในช่วงเย็นแล้วไม่ต้องอยู่กลางคืน หรือการให้เวลาหยุดพักในช่วงระหว่างเปลี่ยนกะนานขึ้น จะช่วยลดปัญหาการทำงานตอนกลางคืนของคนงานสูงอายุ
4. การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย (thermoregulation) เมื่ออายุมาก การปรับอุณหภูมิร่างกายจะทำได้ยากขึ้น ความทนร้อนทนหนาวจะน้อยลง ดังนั้น คนงานสูงอายุที่ทำงานใช้แรงติดต่อกันนาน ๆ จะมีโอกาสเกิดอุณหภูมิร่างกายสูงเกิน (overheat ) ได้ง่าย
สิ่งที่ควรปฏิบัติ : ควรหลีกเลี่ยงการทำงานในที่อุณหภูมิผิดปกติมาก ๆ เช่น ทำงานใช้แรงต่อเนื่องในที่ร้อนจัด ฯลฯ
5. สายตา (vision) การเปลี่ยนแปลงทางสายตาที่พบได้บ่อยคือ “สายตาผู้สูงอายุ” (presbyopia) คือการลดความสามารถในการ accommodation ของสายตา ทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจน แต่สามารถแก้ไขภาวะนี้ได้ด้วยการใส่แว่น นอกจากนี้ยังอาจมีการลดลงของความสามารถในการมองภาพชัด (visual acuity) ลานสายตา (visual field) การมองภาพลึก (depth perception) การทนต่อแสงจ้า (resistance to glare)
สิ่งที่ควรปฏิบัติ : ควรจัดสถานที่ทำงานให้มีแสงพอเพียงตัวหนังสือต้องตัวใหญ่ จัดวางตัวหนังสือให้เป็นระเบียบ ของที่มองและพื้นหลังต้องมีสีตัดกันชัดเจน (contrast )
6. การได้ยิน (hearing) การได้ยินที่ลดลงของผู้สูงอายุ (presbycusis) เป็นการได้ยินลดลงในช่วงเสียงความถี่สูง ซึ่งมักจะมีปัญหาในกรณีที่ต้องทำงานในสถานที่ที่มีเสียงสับสนวุ่นวาย (a lot of background noise) ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ยินหรือฟังเสียงพูดของคนไม่เข้าใจ
สิ่งที่ควรปฏิบัติ : ควรเพิ่มช่องทางการสื่อสารหลากหลายรูปแบบแทนการพูดด้วยวาจาเท่านั้นในที่ที่มีเสียงดัง
ด้วยคุณสมบัติที่ดีและข้อจำกัดข้างต้นของผู้สูงอายุ จึงปรารถนาให้องค์กรเห็นความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่ม “Young senior” มากยิ่งขึ้น ซึ่งองค์กรควรมีการออกแบบงาน (Design Jobs) ที่มีคุณค่าและเหมาะสมกับกลุ่มผู้สูงอายุด้วย ความจริงแล้วลักษณะงานน่าจะเป็นงานที่ใช้คุณสมบัติข้างต้นให้เป็นประโยชน์จากข้อจำกัดต่าง ๆ มากกว่าที่จะจ้างมาทำงานประเภท Routine Job ที่มักใช้ความถูกต้องรวดเร็วเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น เป็นพี่เลี้ยงสอนคนที่มีประสบการณ์น้อยให้เก่งในเรื่องที่ท่านชำนาญ เป็นคณะกรรมการตรวจระบบในองค์กรเพราะมีความเข้าใจงานในภาพรวมขององค์กรได้ดี บริหารโครงการต่าง ๆ เป็นต้น และทำงานเพียง 2-3 วัน/ สัปดาห์ก็เพียงพอ นั่นแสดงว่ากฎระเบียบ อาจต้องทบทวนให้เหมาะสมเช่นกัน ในฉบับต่อไปจะพูดถึงผู้สูงอายุว่าต้องเตรียมการอะไรบ้างก่อนใกล้เกษียณ เพื่อให้เป็นผู้ได้รับเลือกให้ทำงานต่อ