ในโลกธุรกิจยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารเช่นในปัจจุบัน ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในทุกด้าน ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและปัจจัยทางธุรกิจต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย จนตำราธุรกิจต่าง ๆ แทบจะวิเคราะห์หาทฤษฎีมาสนับสนุนไม่ทัน ผู้บริหารขององค์กรใดหากยังยึดติดกับระบบความคิดแบบเก่าโดยไม่รู้ตัว ยังใช้วิธีการแบบเดิม ๆ โดยไม่เข้าใจ ไม่มองทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ก็อาจรอวันแพ้ ให้แก่รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาก็เป็นได้ การประเมินสภาพแวดล้อมทางธุรกิจแล้วนำมาปรับกระบวนการบริหารขององค์กรให้สามารถแข่งขันได้ อาจไม่เพียงพอต่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนขององค์กร แต่ต้องมองไกลถึงการคาดการณ์อนาคตด้วย ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างธุรกิจรถยนต์ที่มีการปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากความร่อยหรอของทรัพยากรน้ำมันที่อาจลดน้อยลงถึงขั้นไม่เพียงพอต่อการใช้งานของประชากรโลกในอีกหลายสิบปีหรืออีกเป็นร้อยปีข้างหน้า ซึ่งมีหลายองค์กรที่สามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นได้ เช่น TOYOTA MIRAI รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนรุ่นแรก ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่แยกไฮโดรเจนออกจากนํ้า สามารถขับเคลื่อนได้แบบไม่ง้อน้ำมัน หรือ Tesla Model S รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมัน ซึ่งรถยนต์รุ่นนี้ได้รับการยกย่องเป็น Best Performance Car ในปัจจุบัน
จากตัวอย่างของธุรกิจข้างต้น จะเห็นว่าทั้ง TOYOTA และ Tesla ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สามารถคิดค้นและผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่น้ำมัน เมื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงก็สามารถกำหนดอนาคตของธุรกิจนี้ได้ ทั้งการเป็นผู้กำหนดแนวทางและมาตรฐานต่าง ๆ ในสินค้าหรือบริการ มิใช่ให้ลูกค้าเป็นผู้กำหนด การจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้นั้น องค์กรต้องมองอนาคตให้ออก คาดการณ์อนาคตให้ได้ ซึ่งนั่นคือ หลักการของการบริหารอนาคต (Future Management) ดังภาพที่ 1 โดยหลักการนี้มีกระบวนการหลักเบื้องต้นคือ การวิเคราะห์อนาคตจากการประเมินสภาพแวดล้อมธุรกิจที่มองกว้างและมองไกลครอบคลุมสังคม เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการเมือง ด้วยหลักการบริหารอนาคต (Future Management) เพื่อเป็นปัจจัยในกระบวนการบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) แล้วจึงนำไปใช้ในกระบวนการบริหารธุรกิจ (Business Management) ขององค์กร
ภาพที่ 1 : การใช้หลักการบริหารอนาคต (Future Management) กับการบริหารธุรกิจ (Business Management)
หากมองลึกลงไปจะเห็นว่า การคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมออกสู่ตลาดได้นั้น องค์กรต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ดีมาก
เมื่อกล่าวถึงการบริหารอนาคต (Future Management) ประเด็นที่มักเป็นข้อสงสัยของหลาย ๆ คน คือ ผลลัพธ์ของการใช้หลักการบริหารอนาคต ที่เป็นรูปธรรมคืออะไร และหากเราลองพิจารณาทบทวนจากตัวอย่างองค์กรที่เป็นผู้นำธุรกิจต่าง ๆ ที่คิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ของโลก จะเห็นว่าผลลัพธ์จากการบริหารอนาคตขององค์กรเหล่านั้น คือผลงานที่เป็นนวัตกรรม ที่ช่วยให้ชีวิตคนเราง่ายขึ้น หรือช่วยแก้ปัญหาในปัจจุบันที่เราอาจจะคาดไม่ถึง ตลอดจนแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน เช่น TOYOTA MIRAI รถยนต์ใช้พลังงานไฮโดรเจน Tesla รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า Powerwall แบตเตอรี่เพื่อการใช้งานสำหรับที่อยู่อาศัย Drumi ถังซักผ้าแบบใหม่ที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเป็นต้น
หากมองลึกลงไปจะเห็นว่า การคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมออกสู่ตลาดได้นั้น องค์กรต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ดีมาก เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ ซึ่งการมีข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่เพียงการมีข้อมูลข่าวสารในปริมาณมาก ๆ แต่ต้องเป็นข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว จึงจะมีประโยชน์เพื่อช่วยในการตัดสินใจวางแผนดำเนินการตามสิ่งที่องค์กรเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นความต้องการของตลาด เป็นสิ่งที่ทำออกมาแล้วช่วยแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าทั้งในปัจจุบันและลูกค้าในอนาคต ตลอดจนเป็นสิ่งที่องค์กรสามารถทำได้ด้วย
ภาพที่ 2 : ลำดับขั้นของข้อมูล สารสนเทศ องค์ความรู้ และนวัตกรรม
จากภาพที่ 2 ที่แสดงลำดับขั้นของข้อมูล (Data) สารสนเทศ (Information) องค์ความรู้ (Knowledge) และนวัตกรรม (Innovation) จะเห็นได้ว่า กว่าที่องค์กรจะคิดค้นนวัตกรรมได้นั้น ต้องผ่านขั้นตอนการเก็บและ
รวบรวมข้อมูล สารสนเทศมามากมาย ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ลองผิดลองถูก จนเกิดเป็นองค์ความรู้สั่งสมเป็นประสบการณ์มากมายจนกลายเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ หรือที่หลายคนในยุคนี้เรียกว่า Big Data แต่เท่านี้ยังไม่เพียงพอต่อการผลักดันให้เกิดนวัตกรรม องค์กรจะต้องมีกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีมากมายเหล่านั้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า Data Analytic โดยองค์กรต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะมุ่งไปในการพัฒนาหรือปรับปรุงเรื่องใดแล้วมุ่งเน้น (Focus) ไปในแนวทางนั้นอย่างจริงจัง เพื่อในที่สุดองค์กรจะได้ผลลัพธ์จากการบริหารอนาคตที่เป็นรูปธรรม ในรูปแบบของนวัตกรรม ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ผู้บริโภค และสามารถสร้างรายได้ให้องค์กรได้ด้วยเช่นกัน
กล่าวโดยสรุปหากองค์กรจะใช้หลักการบริหารอนาคต (Future Management ) ให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรม องค์กรจะต้องมีฐานข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ และใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น
อย่างถูกวิธี โดยอาจประยุกต์แนวทางได้จากการสรุปภาพรวม ดังภาพที่ 3 ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์กรว่าจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผลเพียงใด
ภาพที่ 3 : การขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมจาก Big Data