26 พฤษภาคม 2015

Continued-Commitment-to-Open-Innovation-Deliver-New-Products-Services-and-Business-Models-Though-Co-Developmentการทำนวัตกรรมนั้น ต้องมีการทบทวนและปรับกลยุทธ์เป็นระยะ คำว่า “กลยุทธ์” ในที่นี้ ผู้เขียนใช้ในความหมายอย่างกำกวม ซึ่งตั้งใจที่จะไม่ให้มีความหมายเหมือนกับคำว่า “กลยุทธ์” ซึ่งใช้ในงานด้านการบริหารจัดการทั่วไป

ตอนเริ่มต้นทำนวัตกรรมนั้น เราทราบกันดีว่า ต้องเริ่มที่ความคิดหลักก่อน ซึ่งอาจพัฒนามาจากความคิดย่อยต่าง ๆ มากมาย ที่เมื่อหลอมรวมความคิดเข้าด้วยกันแล้ว ทำให้สามารถพัฒนาออกมาเป็นแก่น แกนของความคิดหลัก ที่จะใช้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อจากจุดนั้น นวัตกรส่วนใหญ่จะหมดเวลาไปกับการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการใหม่ โดยท้ายที่สุด อาจจะล้มเหลวเพียงเพราะนวัตกรรมนั้นเมื่อออกสู่ตลาดแล้วกลับไม่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าอย่างที่คิดไว้ล่วงหน้า

นี่เป็นสาเหตุของความล้มเหลวที่พบได้บ่อยครั้งที่สุดของการทำนวัตกรรมของบริษัท แท้ที่จริงแล้ว ทีมพัฒนานวัตกรรมของบริษัทควรที่จะปรับ “ความคิดหลัก” ของพวกเขาก่อน แน่นอนว่า การจะทำอย่างนั้นได้ย่อมต้องการหลักฐานพิสูจน์ว่าเพราะเหตุใดความคิดเดิมของพวกเขาจึงอาจไปไม่รอด หรือเพราะเหตุใดที่พวกเขาควรจะทำการเปลี่ยน และที่สำคัญคือ ควรเปลี่ยนเมื่อไร และจะเปลี่ยนอย่างไร คำตอบของคำถามเหล่านี้ จะไม่มีทางหาพบ ถ้าหากว่าไม่ตีคลุมข้อความทั้งหมดให้กลายเป็นคำสั้น ๆ ที่เข้าใจได้ง่ายคำเดียวแบบหลวม ๆ ว่า “กลยุทธ์”

ย้อนกลับไปที่จุดตั้งต้น เมื่อทีมนวัตกรค้นพบแล้วว่า พวกเขาควรยึดโยงเอาความคิดใดเป็นหลักเริ่มต้นในการพัฒนานวัตกรรม นั่นมีค่าเท่ากับ การสร้างสมมุติฐานหนึ่งขึ้นมาซึ่งหากจะพูดกันตรงไปตรงมาแล้วก็คือ การคาดเดาล้วน ๆ นั่นเอง คำถามคือ แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณเดาถูก? ตั้งแต่เริ่ม เพื่อไม่ให้ต้องเสียเวลาและทรัพยากรไปกับการคาดเดาที่สุดท้ายอาจกลายเป็นว่า ที่คุณเดามาตลอด 6 เดือน 1 ปี หรือนานกว่านั้น คุณเดาผิดมาตลอด

วิธีการแก้ไขคือ นวัตกรควรจะมองกระบวนการตรงนี้ว่าเป็น การทำงานเกี่ยวเนื่องในแบบกลยุทธ์ อย่างหนึ่งในความหมายทั่วไปของการเป็นกลยุทธ์คือ คุณต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนความคิด เมื่อสถานการณ์ปลี่ยนแปลงไป คำถามคือ แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่า สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้วสำหรับคุณ

การจะตอบต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นครับ คุณต้องทดสอบความคิดหลักของคุณให้เร็วที่สุด เพราะการทำนวัตกรรมนั้น ต้องแข่งขันกับเวลา ดังนั้น คุณยังไม่ควรที่จะเสียเงินเสียเวลาไปกับการทุ่มเทเอาความคิดไปสู่การทำต้นแบบสินค้าหรือบริการใหม่ แต่คุณควรใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า คุณจะ (ยัง) ไม่เดินผิดทางในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ดังนั้น เมื่อคุณมีความคิดหลักแล้ว สิ่งแรกที่นวัตกรที่ดีควรทำ คือ ทดสอบเสียก่อนว่า ความคิดนั้น (หรือสมมติฐาน หรือการคาดเดานั้น) ถูกหรือผิด ด้วยการพัฒนาต้นแบบขั้นต่ำที่ใช้งานได้ (Minimum Viable Prototype: MVP) ขึ้นมาเพื่อทดสอบแนวคิดดังกล่าว การพัฒนาต้นแบบขั้นต่ำที่ใช้งานได้นี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นของจริง ใช้วัสดุจริง หรือมีการผลิตจริงแท้ที่จริงแล้ว ถ้าคุณยังจำได้ เมื่อเราเป็นเด็กเล็กนั้น เราสร้างต้นแบบจำลองสิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลาตามจินตนาการของเรา นวัตกรที่ชาญฉลาดก็สามารถทำแบบเดียวกันนี้ได้ บางทีอาจจะใช้กระดาษ หนังยาง เทปกาว ภาพประกอบจากนิตยสารเก่า หรือใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ใกล้มือ ฯลฯ ถ้าหากนวัตกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับการออกแบบคุณอาจลงมือสเกตซ์ภาพเองก่อน หรือจะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยร่างต้นแบบขึ้นมาก็ได้ ถ้าหากเป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวกับโครงสร้างหรือองค์ประกอบ ไม่แน่ว่า การใช้ดินน้ำมันปั้นอาจช่วยให้คุณสร้างต้นแบบคร่าว ๆ ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นซอฟต์แวร์ การเขียนโปรแกรม หรือออกเว็บไซต์เวอร์ชั่นเบต้าให้ลูกค้าทดลองใช้ฟรี ก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่สิ้นเปลืองรายจ่ายมากนัก

เมื่อมีต้นแบบขั้นต่ำที่ใช้งานได้ หรือ MVP แล้ว เท่ากับว่า คุณได้ทำความคิดหลัก หรือสมมติฐาน หรือการคาดเดาของคุณ ให้เป็นรูปร่าง มีตัวตน มองเห็นได้ จับต้องได้ ใช้งาน (ระดับหนึ่ง) ได้แล้ว จากนั้นคุณควร
ดำเนินการทดสอบนวัตกรรมของคุณกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจเป็นใครก็ได้ พ่อ แม่ เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ วัตถุประสงค์สำคัญคือ การได้รับเสียงสะท้อน (feedback) กลับมา ซึ่งเท่ากับความเห็นต่อความคิดหลักของคุณนั่นเอง ด้วยวิธีการทดสอบสมมติฐานอย่างรวดเร็วและต้นทุนต่ำ แต่มีประสิทธิภาพนี้ คุณจะสามารถปรับเปลี่ยนแนวทาง หรือกลยุทธ์ (ในความหมายหลวม ๆ) ได้อย่างทันท่วงที  แน่นอนครับว่า ผู้เขียนไม่ได้ต้องการชี้นำว่า คุณควรที่จะเปลี่ยนความคิดหลักไปเลย เพราะอันที่จริงแล้ว การเปลี่ยนความคิดหลักอย่างสิ้นเชิง ทำได้ยาก ต้องใช้เวลา และที่สำคัญคือ ต้องมีหลักฐานบ่งชี้จากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงความคิดหลักบ่อยครั้งมากเกินไป จะส่งผลเสียต่อกระบวนทัศน์ในการพัฒนานวัตกรรมอย่างมาก

ผู้เขียนต้องการสื่อให้เข้าใจว่า เมื่อคุณมีความคิดหลักหนึ่งขึ้นมาแล้ว เท่ากับคุณมีเป้าหมายอย่างหนึ่งขึ้นมา คำว่า “กลยุทธ์” ที่ผู้เขียนใช้ในที่นี้ ก็คือ การเปลี่ยนวิธีการหรือแนวทางในการบรรลุเป้าหมายนั้นนั่นเอง (ความหมายอย่างแคบ)

แต่ถ้าเป็นกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดหลักโดยสิ้นเชิงจริง ๆ การปรับกลยุทธ์จะหมายถึง การเปลี่ยนรูปแบบของนวัตกรรมทั้งหมด (ความหมายอย่างกว้าง) การปรับกลยุทธ์ระหว่างสองสิ่งนี้ อาจเกิดขึ้นได้กับทุกการพัฒนานวัตกรรม และการจัดการในเรื่องนี้ ค่อนข้างเป็นศิลป์มากกว่าที่จะเป็นศาสตร์อันมีข้อกำหนดบ่งชี้ชัดเจนตายตัว

หลายบริษัทที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ต่างเคยประสบปัญหาพื้นฐานในการพัฒนานวัตกรรมเช่นนี้ทั้งสิ้น เช่น Paypal ซึ่งกว่าจะเป็นธุรกิจที่ให้บริการธุรกรรมการเงินอย่างทุกวันนี้นั้น ได้ผ่านขั้นตอนของการปรับกลยุทธ์ครั้ง
สำคัญถึง 5 ครั้งด้วยกัน ผู้ก่อตั้งของ Paypal เริ่มต้นสร้างธุรกิจด้วยความคิดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการเข้ารหัสเพื่อใช้รักษาความปลอดภัยในธุรกรรมทางการเงิน (สังเกตตรงนี้ว่า แก่นความคิดในเรื่องของการให้บริการธุรกรรม
ทางการเงินนั้น เป็นความคิดหลัก) จากนั้น บริษัทจึงได้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยสำหรับใช้ในอุปกรณ์พกพาอย่าง Palm ในสมัยนั้น หลังจากนั้นไม่นาน ผู้ก่อตั้ง(นวัตกร) ได้ถกเถียงภายในกับทีมงานอย่างเคร่งเครียด ผลลัพธ์กลายเป็นว่า บริษัทกลับพัฒนาชุดคลังโปรแกรมหรือไลบรารี เพื่อให้นักพัฒนาคนอื่นมาซื้อสิทธิบัตรไปใช้สร้างซอฟต์แวร์ต่อเนื่องจากมีแนวโน้มสนับสนุนในขณะนั้นว่า ผู้คนหันมาใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาได้อย่าง Palm มากขึ้น และมีผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับ Palm ออกสู่ตลาดทำการแข่งขันกันเพิ่มขึ้น บริษัทจึงมีความคิดว่า แทนที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยตัวเอง ซึ่งใช้เวลาและทรัพยากรมาก รวมถึงยังอาจต้องแข่งกันพัฒนากับผู้เล่นรายอื่นที่อาจจะพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเดียวกันทั้งบนแพลทฟอร์มของ Palm และอุปกรณ์ยี่ห้ออื่น ๆ อีก

ดังนั้น Paypal จึงตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแนวทางครั้งสำคัญ (ปรับกลยุทธ์) ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเวอร์ชั่นที่สอง ด้วยการพัฒนา e-wallet โดยการจัดเก็บข้อมูลเลขบัตรเครดิตและพาสเวิร์ดของลูกค้า โชคร้ายที่ Paypal ยังไม่ได้แก้โจทย์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพราะในชีวิตจริง การหยิบเอากระเป๋าสตางค์จริง ๆ ออกมาชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน และปลอดภัยกว่า เทคโนโลยีที่มีอยู่ในขณะนั้นมาก

Paypal จึงตัดสินใจปรับกลยุทธ์อีกครั้ง ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมที่ต้องการตอบสนองต่อโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างออกไป (สังเกตว่า การปรับกลยุทธ์แต่ละครั้งนั้น ยังยึดอยู่กับความคิดหลักในเรื่อง
ธุรกรรมทางการเงินอยู่) ผ่านวิธีการส่งถ่ายข้อมูลการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จาก Palm เครื่องหนึ่งไปยัง Palm อีกเครื่องหนึ่ง ครั้งนี้ดูเหมือนว่า Paypal จะเริ่มเดินทางถูกทางแล้ว เพราะปรากฏว่ามีนักลงทุนให้ความสนใจ และ
เข้ามาร่วมลงทุนกับ Paypal ทำให้บริษัทเติบโตมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทว่า ในไม่ช้า Paypal ในเวลานั้นก็ถึงจุดอิ่มตัว เพราะจำนวนผู้ใช้ Palm นั้นไม่เติบโตตาม เมื่อบริษัทดำเนินการสำรวจวิเคราะห์อย่างจริงจังจึงพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเชื่อมต่อ Palm เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แล้วโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตไปให้คนอื่นที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์และ Palm เหมือนกัน (ในยุคนั้นการใช้งาน Palm จะต้อง backup ข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ใช้เชื่อมอุปกรณ์เข้ากับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั่นเอง) บริษัทจึงเกิดไอเดียปิ๊งแว็บขึ้นมาว่า น่าที่จะทดลองทำธุรกรรมการเงินผ่านอีเมล์ เพราะฐานลูกค้าที่ใช้งานอีเมล์นั้น มีจำนวนมากมายมหาศาลกว่าจำนวนผู้ใช้ Palm ดังนั้น บริษัท จึงเริ่มทดลองทำต้นแบบขั้นต่ำที่ใช้งานได้ (MVP) ในรูปแบบเว็บไซต์เพื่อพิสูจน์แนวคิดและความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคก่อน ปรากฏว่าเดโมของ Paypal นี้ได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว ประกอบกับ การเติบโตของอีกธุรกิจหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันอย่าง ebay ยิ่งทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการจาก Paypal มากขึ้น ทีมงานจึงปิดตัวซอฟต์แวร์บน Palm และกลายมาเป็นบริษัทที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ในชื่อ Paypal ซึ่งถูกบริษัท ebay ซื้อไปด้วยมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญ

เมื่อรู้ตัวว่าเดินมาผิดทาง หรือว่านวัตกรรมของเราอาจจะผิด ไม่สามารถตีโจทย์จริงให้แตกได้ สิ่งที่ควรทำคือ ปรับกลยุทธ์เสียใหม่

หากย้อนกลับไปดูกรณีศึกษาของ Paypal จะเห็นได้ว่า บริษัทไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อทำเรื่องการชำระเงินทางอินเตอร์เน็ตตั้งแต่แรก จะว่าไปแล้ว Paypal เริ่มธุรกิจบนสมมติฐานหรือการคาดเดาที่ผิด แต่โชคดีที่บริษัท
สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็ว (บนแก่นความคิดหลักเดิมที่เกี่ยวกับธุรกรรมการเงิน) ทำให้บริษัทสามารถพัฒนานวัตกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผิดแล้วผิดเล่า จนกระทั่งเจอโอกาสที่ยิ่งใหญ่กว่าที่คิดไว้ในตอนแรกเสียอีก

บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกยุคปัจจุบันนี้ต่างก็เคยผิดพลาดในทำนองนี้มาก่อนเช่นกัน ไมโครซอฟท์เริ่มต้นจากการขายตัวแปลชุดคำสั่งโปรแกรม (compiler) ไม่ใช่ระบบปฏิบัติการ (operation system) ไซแมนเทคพัฒนาผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์มาก่อนที่จะประสบความสำเร็จกับการขายซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส นอกจากธุรกิจเทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว ยังมีบริษัทอย่างลิสเตอรีนที่เริ่มต้นจากการขายยาฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาล น้ำยาทำความสะอาดพื้นแชมพู โลชั่นหลังโกนหนวด ก่อนที่สุดท้ายจะประสบความสำเร็จกับการจำหน่ายน้ำยาบ้วนปาก หรือบริษัทอย่าง เพลย์-โดว์ ที่เริ่มจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดวอลล์เปเปอร์ก่อนที่จะกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตของเล่นเด็กซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก การปรับกลยุทธ์นวัตกรรม จึงเป็นเทคนิคหนึ่งของการทำนวัตกรรมที่ผู้สนใจควรค่อย ๆ ทำความเข้าใจเป็นระยะ ปัญหาจะหนักมากขึ้นถ้าหากองค์กรที่กำลังทำนวัตกรรมนั้น เป็นบริษัทใหญ่ที่ตั้งมานานอย่างมั่นคง เพราะสิ่งที่ผู้จัดการและผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะทำคือ การหลีกเลี่ยงความผิดพลาด ในขณะที่กระบวนทัศน์ของการทำนวัตกรรม โดยเฉพาะในช่วงของการปรับกลยุทธ์นั้น
คือ การยอมรับว่า ตัวเองเดินมาผิดทาง แล้วพร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่อีกทางที่ (น่าจะ) ถูก ซึ่งกระบวนทัศน์แบบนี้ย่อมได้รับการยอมรับยากสำหรับผู้ที่อยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ สิ่งที่บริษัทใหญ่ ๆ มักจะเรียกหาคือ ประสิทธิภาพ และการทำเรื่องผิดพลาดบ่อยครั้งที่ไม่ถูกยอมรับว่า เป็นทางผ่านปกติของการพัฒนานวัตกรรม บริษัทใหญ่จึงมีแนวโน้มที่จะพิจารณาแบบ linear มากกว่าที่จะมองอย่างเข้าใจว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการระหว่างความไม่แน่นอน (uncertainty) และความยุ่งยากซับซ้อน (complexity) ในการทำนวัตกรรมไม่มีใครสามารถเล็งเห็นปัญหาได้ล่วงหน้าเมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ทุกสิ่งล้วนเต็มไปด้วยการคาดเดา บริษัทขนาดใหญ่จึงมักจะรีรอเรื่องนวัตกรรม จนกระทั่งพลาดโอกาสอยู่เสมอ แทนที่จะลงมือทำนวัตกรรมแต่เนิ่นแม้ว่ามันอาจจะผิดพลาดได้ก็ตาม

เมื่อรู้ตัวว่าเดินมาผิดทาง หรือว่านวัตกรรมของเราอาจจะผิด ไม่สามารถตีโจทย์จริงให้แตกได้ สิ่งที่ควรทำคือ ปรับกลยุทธ์เสียใหม่ คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจเวลาพูดถึง เรื่องความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง แต่ในทางปฏิบัติ ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะยืนหยัดในสมมติฐานและการคาดเดาที่ผิดพลาด เพียงเพราะเชื่อมั่นว่าตัวเองเดินมาถูกทางแล้ว

การปรับกลยุทธ์นวัตกรรม จึงไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยเพื่อสร้างนวัตกรรม (แบบเล็กน้อยในความหมายแคบ) หรือเป็นการปรับแต่งยุทธศาสตร์การขายสินค้าของคุณ (แบบที่มักจะเข้าใจในวิธีการของ
Marketing) เพราะการทำเช่นนั้น ไม่ต่างอะไรกับการย้ำรอยซ้ำลงไปในแนวทางเดิม (เพียงแต่ปรับวิธีการ) ปกติแล้วการทำนวัตกรรมสามารถทวนซ้ำอย่างนี้ได้ ถ้ามีข้อมูลชัดเจนแล้วว่า คุณได้แก้โจทย์ (ความต้องการของลูกค้า) มาถูกทาง การปรับกลยุทธ์นวัตกรรมเป็นเรื่องตรงกันข้าม เพราะคุณจะดำเนินการปรับกลยุทธ์เพื่อ 2 สิ่งเท่านั้นคือ 1) คุณรู้ชัดแล้วว่า คุณแก้ปัญหาไม่ตรงจุด หรือ 2) นวัตกรรมของคุณยังไม่ตอบความต้องการของลูกค้าจริง ๆ ดังนั้น คุณถึงจะปรับกลยุทธ์เพื่อหาแนวทางใหม่ที่อาจจะดีกว่าเดิม

Concept of creative mind with colorful effect

ทุกครั้งที่ปรับกลยุทธ์นวัตกรรม จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงใน 3 สิ่งคือ 1) โจทย์ หรือ 2) ตัวนวัตกรรมนั้นเอง หรือ 3) โมเดลในการทำธุรกิจใหม่ บางครั้งการปรับกลยุทธ์นำไปสู่การตอบโจทย์ใหม่ (อาจเป็นนวัตกรรมตัวเดิมก็ได้ แต่ใช้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างออกไป) บางครั้งไปสู่นวัตกรรมอีกตัว (อาจเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่) หรืออาจนำไปสู่องค์ประกอบสำคัญหนึ่งในโมเดลธุรกิจ เช่น กลยุทธ์
การกำหนดราคา กลยุทธ์การหาลูกค้า การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ หรือ การสร้างช่องทางการตลาดใหม่

การปรับกลยุทธ์เป็นการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์อย่างมีพลัง ไม่มีใครที่จะเดาถูกล่วงหน้าได้ เมื่อกำลังเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอน กระบวนการปรับกลยุทธ์คือการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในขั้นตอนของการพัฒนานวัตกรรม นอกเหนือจากการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นอิสระแล้ว ความสามารถที่จะรู้ตัวว่า เมื่อไรและอย่างไร (when and how) ที่จะต้องปรับกลยุทธ์เป็นความสามารถสำคัญที่มีความจำเป็นยิ่งสำหรับนวัตกร

นอกจากนี้ นวัตกรที่ดีควรต้องตระหนักด้วยว่า กลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการปรับกลยุทธ์คือ การเรียนรู้อย่างรวดเร็ว เพราะหากคุณล้มเหลวที่จะเรียนรู้แล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่คุณอาจจะยึดติดกับกรอบความคิดหลัก และวิธีการเดิมที่สร้างไว้ตั้งแต่เริ่มต้น แล้ววนเวียนอยู่กับการพัฒนาและปรับปรุงเล็ก ๆ น้อย ๆ กับนวัตกรรมตรงนั้น โดยละเลยข้อเท็จจริงไปว่า ที่คุณพัฒนานวัตกรรมมาทั้งหมดนั้น คุณทำจากการคาดเดาล้วน ๆ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมผิดพลาดไปแล้วเสียอย่างน้อย 90% โอกาสของนวัตกรรมที่ริบหรี่เพียง 1 ใน 10 ของความสำเร็จนี้ คือช่องว่างทางเดินที่คุณสามารถประสบความสำเร็จได้ โดยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ผ่านการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมกว่าในที่สุด

 

ภาพจาก :
– http://www.innovationmanagement.se/wp-content/uploads/2014/01/Continued-Commitment-to-Open-Innovation-Deliver-New-Products-Services-and-Business-Models-Though-Co-Development.jpg
– http://cdno.gettingsmart.com/wp-content/uploads/2014/11/innovation-mindset-482×335.jpg



Writer

โดย ปรีดา ยังสุขสถาพร

ผู้อำนวยการอาวุโส
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)