ในโลกยุคการแข่งขันแบบไร้ขีดจำกัด การแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปแบบ 180 องศา ผู้เล่นหน้าใหม่สามารถก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมที่ตนเองสนใจได้ง่ายขึ้น และผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดิมก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นผู้เล่นในอีกอุตสาหกรรมแบบก้าวข้ามเส้นแบ่งอุตสาหกรรมกันได้ด้วยเช่นกัน ดังที่มีข่าวออกมาว่า Apple กำลังพิจารณาก้าวเข้ามาเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นในตลาดรถยนต์ โดยมีโครงการพัฒนา iCar ซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดว่าจะพัฒนาออกมาในรูปแบบใด หรือ Google ที่มีโครงการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ (Google Driverless Car) มาสักระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ยังมี Tesla ซึ่งกำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่ผลิตรถใช้พลังงานไฟฟ้า Model S ที่กลายเป็น Best Performance Car ในปัจจุบัน
iCar ของ Apple
Google Driverless Car ของ Google
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เส้นแบ่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะเริ่มหายไป ดังคำกล่าวว่า The line of boundary is blurred! องค์กรต่าง ๆ จะต้องปรับตัวให้ทัน ซึ่งคงไม่ใช่เพียงการปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องปรับตัวก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง หรืออาจกล่าวได้ว่า องค์กรที่จะอยู่รอดได้ในยุคการแข่งขันแบบไร้ขีดจำกัดนี้ ต้องเป็นองค์กรที่มีการสร้างนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ซึ่งไม่ใช่การคิดเพียงแค่สร้างสิ่งที่ดีกว่าเดิมเท่านั้น แต่ควรเป็นการคิดสิ่งที่น่ามหัศจรรรย์ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ผู้คนได้ด้วย
การสร้างนวัตกรรมข้างต้น ต้องมีการคิดนอกกรอบแบบก้าวกระโดด มองข้ามการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ มองไปถึงอนาคตว่าจะมีอะไรมาทดแทนสิ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในอนาคตผู้คนจะดำเนินชีวิตอย่างไร เป็นต้น การมองไปในอนาคตเพื่อวางแผนพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมแบบก้าวกระโดดเป็นเรื่องยาก เพราะไม่ใช่แค่การปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิด และเปลี่ยนมุมมองใหม่ เพื่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้หากคนในองค์กรช่วยกันคิดวิเคราะห์ และศึกษาข้อมูล รอบด้าน ด้วยการประยุกต์เครื่องมือด้านการวางแผนกลยุทธ์มาช่วยสร้างแบบจำลองภาพในอนาคต (Scenario Planning) เพื่อมองหาแนวทางที่น่าจะเป็น จากปัจจัยหรือแนวโน้มจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อนำไปสู่การวางแผนกลยุทธ์ที่ส่งผลให้การปฏิบัตินั้นนำไปสู่ผลลัพธ์ตามที่คาดหมาย หรือเหนือกว่าความคาดหมาย ดังภาพ
จากภาพจำลองเหตุการณ์ในอนาคต (Scenario Planning) ข้างต้นช่วยให้องค์กรสามารถพิจารณาแนวทางที่น่าจะทำให้เกิดความคิดการสร้างนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ด้วยการมองไปยังอนาคตข้างหน้าผ่านการประเมินปัจจัยหรือแนวโน้มที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นภาพเหตุการณ์จำลองอนาคตที่เป็นจริงได้ และเกี่ยวข้องกับประเด็นที่องค์กรสนใจ โดยองค์กรสามารถสร้างภาพเหตุการณ์จำลองเหล่านี้ได้หลายแนวทาง เพื่อประเมินปัจจัยหรือแนวโน้มที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจขององค์กร จากนั้นจึงเชื่อมโยงภาพเหตุการณ์จำลองเหล่านั้นกับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ มีการใช้ภาพเหตุการณ์จำลองต่าง ๆ เป็นหลังฉากแสดงอนาคตที่อาจเป็นจริงได้ ช่วยกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์องค์กร เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ มีการประเมินผล และปรับเปลี่ยนเพื่อมุ่งสู่อนาคต ให้องค์กรสามารถพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่น่ามหัศจรรย์ ช่วงชิงตลาดให้ได้ก่อนใคร และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกในอนาคต ไม่ใช่ให้อนาคตมาเปลี่ยนแปลงองค์กร