ผลกระทบเมื่อประชากรโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะ Urban Sprawl
ในแต่ละวันจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อโลกไม่ว่าจะในทางบวกหรือลบ ซึ่งผลจากการศึกษาเรื่องดังกล่าว องค์การสหประชาชาติระบุว่าในปีค.ศ. 2550 ประชากรโลกจำนวนครึ่งหนึ่งจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และในปีค.ศ 2560 ประเทศที่ยากจนที่สุด จำนวนประชากรที่อยู่ในเมืองและชนบทจะมีสัดส่วนเท่ากัน ซึ่งหมายความว่าวิถีความเป็นเมืองจะเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก
จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เขตเมืองมีลักษณะความหนาแน่นแบบกระจุกตัว (Concentrate of population) และทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือมลพิษด้านต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลทางสังคมและเศรษกิจในภาพรวม เช่น พื้นที่อยู่อาศัยในเขตเมืองที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชากรในเขตเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เริ่มสร้างครอบครัวใหม่จึงโยกย้ายถิ่นฐานไปแถบชานเมืองมากขึ้น
การขยายตัวของเมืองแบบกระจัดกระจาย (Urban Sprawl) คือ กระบวนการที่เมืองขยายตัวออกไปสู่บริเวณโดยรอบอันเป็นผลเนื่องมาจากการที่ประชากรโยกย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีหนาแน่นน้อย การขยายตัวดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไม่มีระบบ ขาดการวางแผนและควบคุม
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวไปตามชานเมืองและถูกรายรอบด้วยพื้นที่ทางการเกษตรทำให้เกิดพื้นที่เมืองที่ไม่ต่อเนื่องกันและลักษณะการตั้งถิ่นฐานเป็นไปอย่างเบาบาง ประชากรส่วนใหญ่พึ่งพาการสัญจรด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล โดยอัตราการเติบโตและแผ่ขยายของชุมชนเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ
การเติบโตแบบกระจัดกระจายของพื้นที่เมืองเช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อทั้งระดับบุคคล และภาพรวมของประเทศ
ในระดับบุคคล ประชากรซึ่งย้ายถิ่นฐานอาจประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตเนื่องจากการขยายตัวแบบกระจัดกระจายทำให้ภาครัฐวางแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคยาก รวมถึง การคมนาคมขนส่ง การดูแลด้านสุขอนามัยและสภาพแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจว่าประชากรในพื้นที่ดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสนองความต้องการของประชากรอย่างมีคุณภาพ
ในขณะที่ในภาพรวมของประเทศ การเติบโตแบบกระจัดกระจายทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในสาธารณูปโภค การจัดการด้านสาธารณสุขต่างๆ เพิ่มขึ้นรวมทั้งการขยายตัวรุกล้ำพื้นที่การเกษตรและพื้นทีสี่เขียวอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสภาพแวดล้อมตามมามากมายเช่น การเพิ่มขึ้นของมลพิษทางน้ำ อากาศ การทำให้ดินเสื่อมโทรมเนื่องจากการใช้ที่ดินในการอยู่อาศัยแทนการเพาะปลูก
ในภาพรวมระดับประเทศ แนวคิดหนึ่งที่อาจนำมาประยุกต์ใช้สำหรับจัดทำกรอบแนวคิด ข้อกำหนด และมาตรการของผังเมือง เพื่อ่ควบคุมและป้องกันปัญหาการขยายตัวแบบกระจัดกระจาย ได้แก่การเติบโตแบบชาญฉลาด(Smart Growth) ซึ่งสมาคมวางแผนพัฒนาเมืองแห่งสหรัฐอเมริกา (American Planning Association-APA) ร่วมกับ U.S. Environmental Protection Agency (EPA) ได้ร่วมกันคิดค้นขึ้น โดยการเติบโตแบบชาญฉลาด(Smart Growth) กล่าวถึงหลักการสำคัญ 10 ประการ
ได้แก่ การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน การสนับสนุนการออกแบบอาคารให้เกาะกลุ่มกันและใช้ประโยชน์ในการออกแบบอาคารแบบกระชับ (Compact Building Design) การสร้างโอกาสและทางเลือกของที่อยู่อาศัยสำหรับประชากรทุกระดับรายได้ การสนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างย่านและชุมชนด้วยการเดิน การสร้างเสริมชุมชนให้เป็นสถานที่พิเศษ และมีแรงดึงดูด(attractive) ด้วยความผูกพันกับสถานที่อย่างเข้มแข็ง การรักษาที่โล่ง พื้นที่การเกษตร พื้นที่ธรรมชาติที่งดงาม พื้นที่อนุรักษ์ประวัติศาสตร์ และพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและมุ่งการพัฒนาไปยังชุมชนที่มีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอยู่แล้ว การจัดหาทางเลือกการเดินทางและการคมนาคมขนส่งที่มีความหลากหลาย การสร้างระบบการตัดสินใจในการพัฒนาชุมชนที่คาดการณ์ได้ชัดเจน ยุติธรรม และมีประสิทธิภาพด้านต้นทุน รวมถึงการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและส่งเสริมให้เกิดการประสานความร่วมมือกันระหว่างชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การใช้แนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) เพื่อหยุดยั้ง
การเติบโตแบบกระจัดกระจายของกรุงเทพมหานคร/ ฐาปนา บุณยประวิตร