ปัญหาดินเสื่อมโทรม กับอนาคตโลก
ดินนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพเลี้ยงดูประชากรโลกแต่ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้ดินมีคุณภาพเสื่อมลงเรื่อย ๆ บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม
ดินเสื่อมโทรม คือ ดินที่อยู่ในสภาพที่ไม่เอื้อต่อการผลิตทางการเกษตร ทำให้ศักยภาพในการผลิตของดินลดลงหรือไม่อาจใช้ประโยชน์จากดินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากคุณสมบัติของดินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่นคุณสมบัติทางเคมีของดินมีสภาพเป็นกรดจัด เค็มจัด ความอุดมสมบูรณ์ หรือปริมาณธาตุอาหารพืชลดลงและอยู่ในสภาวะไม่สมดุล ส่วนด้านกายภาพ ดินมีการสูญเสียโครงสร้างทำให้เกิดการอัดตัวแน่น ขาดความโปร่งพรุน
การเสื่อมโทรมของดินเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะอากาศแล้ง การชะล้างดินโดยน้ำหรือลม รวมถึงจากน้ำมือมนุษย์ซึ่งประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพลง
เนื่องจากดินมีประโยชน์ต่อการดูดซับคาร์บอน หากคาร์บอนลดน้อยลง โลกจะร้อนและแล้ง การเสื่อมโทรมของดินทำให้สมดุลของน้ำในธรรมชาติและระบบนิเวศโดยรวมถูกทำลาย ส่งผลกระทบต่อการเกษตร การปศุสัตว์ และมีผลต่อเนื่องทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารและการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม
การเสื่อมโทรมของดินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เนื่องจากประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้มีการขยายเขตเมือง เกิดการบุกรุกทำลายป่า ทำให้ดินขาดสิ่งปกคลุมและเป็นสาเหตุหลักที่กระตุ้นให้เกิดการชะล้างพังทะลายของดินซึ่งจะส่งผลให้ดินเสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัด การใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยและยาในการเพาะปลูกและการใช้ดินอย่างไม่ถูกวิธี เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยวซ้ำๆ เป็นเวลานาน และการใช้ดินเพาะปลูกด้วยความถื่ของระยะเวลาที่มากเกินไปทำให้เกิดการเสื่อมคุณภาพ ส่งผลให้ความสามารถในการผลิตของระบบนิเวศน้อยลงเพราะดินไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาอุดมด้วยธาตุอาหารได้ทัน
Maria- Helena Somedo จาก The Food and Agriculture Organization (FAO) ให้ข้อมูลในวันดินโลก (World Soil Day) ว่า การเกิดของหน้าดินความหนา 3 เซ็นติเมตรต้องใช้เวลาสะสมนานนับพันปี ปัจจุบันหนึ่งในสามของหน้าดินในโลกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมและผู้เชี่ยวชาญจาก UN ระบุเพิ่มเติมว่าหากไม่มีการดำเนินการใดเพื่อลดระดับการเสื่อมคุณภาพของดิน หน้าดินจะหมดไปในระยะเวลา 60ปี และในปี ค.ศ. 2050 ดินที่ใช้ประโยชน์ได้จะลดเหลือเพียงจำนวน1 ใน 4 ของดินที่มีในปี ค.ศ.1960
อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงคุณภาพของดินโดยการบำรุงและรักษาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถทำได้ทั้งในระดับบุคคลและภาพรวม สำหรับเกษตรกร การปลูกพืชคลุมดิน เพื่อรักษาหน้าดินไม่ให้เกิดการพังทลายและช่วยกักเก็บน้ำทำให้ดินมีความชุ่มชื้น การทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชหมุนเวียน ลดการใช้สารเคมี เน้นการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์เป็นวิธีการที่ควรนำมาปรับใช้ ในขณะเดียวกันในภาพรวมควรมีการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการลดการตัดไม้ทำลายป่า และสงวนรักษาที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้เพื่อการเพาะปลูก ไม่นำมาใช้เพื่อกิจการอื่น เช่น สร้างโรงงาน เนื่องจากดินที่มีความสมบูรณ์เพาะปลูกได้มีน้อยจึงควรนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่