3 เมษายน 2015

สถานการณ์การเมืองระดับโลกที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วยังอยู่ในความสนใจของชาวโลกซึ่งการคาดคะเนสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้หรืออนาคตอันใกล้ข้างหน้าหนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปและตะวันออกกลาง นักวิเคราะห์บางคนกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้

เราได้เห็นความขัดแย้งระหว่างประเทศในหลายภูมิภาคที่ชัดเจนกว่าปีก่อนๆ เช่น จีนกับประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนาม ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ในเรื่องการครอบครองเกาะและน่านน้ำที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งพลังงาน รัสเซียกับยูเครนซึ่งมีสหภาพยุโรปและอเมริกาหนุนหลังอยู่ ความขัดแย้งของประเทศในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านกับซาอุดิอาระเบียที่คุกรุ่นมานานจนถึงช่วงการเปลี่ยนผู้ปกครองของซาอุดิอาระเบีย การส่งทหารหรือการโจมตีอิรักซึ่งเป็นที่อยู่ของกองกำลัง ISIS โดยชาติต่างๆ ทั้งยุโรปและอาหรับด้วยกันเองหลังจากมีการเผยแพร่ภาพการสังหารนักบินจอร์แดน ชาวอียิปต์  เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ ประเทศหรือภูมิภาคเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับแหล่งที่เป็นพลังงานขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย และน้ำมันดิบในเอเชีย The Economist วิเคราะห์ว่า การที่รัสเซียสนับสนุนฝ่ายกบฎในการต่อสู้กับรัฐบาลยูเครนที่หนุนหลังโดยสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาว่า Bad, Mad or Sad ถ้าประธานาธิบดีปูตินเลว (Bad) คือ ฉวยโอกาสในตอนที่ยุโรปกับแตกแยก สหรัฐอเมริกายังสับสน ถือโอกาสอันดีในการแสดงอิทธิพลเหนือประเทศอื่น ๆ โดยอาศัยพลังงาน การติดสินบน การโฆษณาชวนเชื่อและการแทรกแซงในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นสหภาพโซเวียตมาก่อน

แต่ถ้าปูตินบ้า (Mad) ดิอิโคโนมิสต์วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นไปได้มากกว่า เพราะปูตินมีคุณลักษณะของพวกชาตินิยมลุ่มหลงกับความเป็นสหภาพโซเวียต และอาณาจักรรัสเซีย

และมักตอบโต้ชาติตะวันตกอย่างไม่ยั้งคิด พวกที่ว่าเป็นเรื่องเศร้า (Sad ) บอกว่าเป็นเพราะ พื้นฐานเศรษฐกิจของรัสเซียอ่อนแอ รายได้หลักมาจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเมื่อราคาตกต่ำลงเท่ากับระบบเศรษฐกิจของรัสเซียหยุดชะงัก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนภาพความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นชาติตะวันตกควรยึดมั่นและอดทน และไม่ขยายความในเรื่องภัยคุกคามจากรัสเซีย

Ian Bremmer  วิเคราะห์ความเสี่ยงหลักๆ ที่จะเกิดในปีค.ศ 2015 การเมืองเชิงภูมิศาสตร์ (Geopolitic) ได้หวนกลับมาในปีนี้หลังจากเว้นระยะเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกากับรัสเซียที่หมางเมิน จีนกำลังกำหนดแผนของตัวเอง ความสัมพันธ์ของสหภาพยุโรปที่เริ่มห่างกัน เหตุการณ์ในคาบสมุทรอาหรับ บทบาทของบราซิลและอินเดีย ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในด้านการเมืองเชิงภูมิศาสตร์ เขาบอกว่า เขาไม่ใช่คนมองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นครั้งแรกตั้งแต่เขาตั้งบริษัทในปีค.ศ 1998 เขารู้สึกถึงสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าต่อสถานการณ์การเมืองเชิงภูมิศาสตร์ที่เคร่งเครียดแฝงอยู่

นักวิเคราะห์ของไทย อย่างคุณทนง ขันทอง จากค่ายเนชั่น ได้โพสต์ในเฟซบุ้คของตนเอง วิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจนำไปสู่สงครามครั้งใหญ่ในสนามสหภาพยุโรปจากกรณียูเครน การต่อรองเจ้าหนี้ของประเทศกรีซที่ต้องการให้อียูผ่อนคลายมาตรการเงินกู้รอบใหม่เพื่อให้กรีซตั้งตัวได้ ไม่ใช่ขายรัฐวิสาหกิจของตัวเองมาจ่ายหนี้อย่างเดียว การเดินสายของปูตินไปกระชับมิตรกับอียิปต์ อินเดีย อิหร่าน ฮังการี หลังจากที่รัสเซียอ่วมเมื่อราคาน้ำมันตกฮวบฮาบและค่าเงินรูเบิ้ลถูกโจมตีอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐก็เดินสายไปอินเดีย ซาอุดิอาระเบีย ล้วนแต่เป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด สถานการณ์ราคาน้ำมันยังผกผันกับราคาทองคำ ประเทศที่ถูกก่อการร้ายมักเกิดขึ้นหลังจากมีนโยบายห่างเหินกับสหภาพยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา เช่น กรณียิงตัวประกันในฝรั่งเศส และเดนมาร์ก

 

อ้างอิง  What Russia is up to in Ukraine
: http://www.economist.com/blogs/economist- explains/2015/02/economist-explains-10
Top Risks 2015 : http://www.eurasiagroup.net/pages/top-risks-2015
Thanong Fanclub: https://www.facebook.com/ThanongFanclub
ภาพจาก  http://www.sott.net/image/s11/222071/full/economist_magazine_jan2015.jpg

 




Writer

โดย รัชฎา อสิสนธิสกุล

ผู้จัดการส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ
ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ